รอต่อไป? พื้นที่ปลอดภัยชายแดนใต้
คำแถลงหลังการพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ เมื่อวันที่ 2 ก.ย.59 ของผู้แทนคณะพูดคุยทั้งสองฝ่าย ถือว่าน่าสนใจและน่าเศร้าใจไปพร้อมๆ กัน
พล.อ.อักษรา เกิดผล หัวหน้าคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขของรัฐบาลไทย กับ อาบู ฮาฟิซ อัล ฮากิม จากมารา ปาตานี พูดไม่ตรงกันในเรื่องทีโออาร์ หรือร่างข้อตกลงที่เป็นกรอบการพูดคุย (ทั้งประเด็นที่ว่ามันคืออะไร รายละเอียดมีอะไรบ้าง และยอมรับหรือลงนามร่วมกันหรือยัง) แต่กลับพูดตรงกันว่า การร่วมกันหาแนวทางกำหนดพื้นที่ปลอดภัย นัดกันไปคุยรอบหน้า
นัยที่ซ่อนอยู่หลังถ้อยคำหรูๆ ดูดี คล้ายภาษาการทูตเช่นนี้ ส่อแสดงให้เห็นว่า ข้อถกเถียงที่เป็นเพียงกระดาษไม่กี่แผ่น แทบจะรอกันไม่ได้ ต้องชิงไหวชิงพริบกันจนถึงที่สุด แต่เรื่องของชีวิตคนที่ต้องบาดเจ็บล้มตายกันทุกวัน กลับบอกให้รอไปก่อน
หนึ่งวันก่อนหน้าถึงนัดหมายพูดคุยเพื่อสันติสุข องค์กรภาคประชาสังคมทั้งพุทธและมุสลิมรวม 23 กลุ่ม ได้จัดกิจกรรมเดินรณรงค์เพื่อสันติภาพ แสดงการสนับสนุนการพูดคุยสันติภาพภาคใต้ ณ ปัตตานี พร้อมออกแถลงการณ์ขอให้ทั้งรัฐบาลไทยและกลุ่มมารา ปัตตานี เดินหน้าพูดคุยกันต่อไปแม้จะมีอุปสรรค และให้บรรจุวาระ “พื้นที่สาธารณะปลอดภัย” เป็นวาระในการพูดคุย
คณะทำงานวาระผู้หญิงฯ รวมตัวกันที่ริมแม่น้ำปัตตานีบริเวณเชิงสะพานศักดิ์เสนีย์ แล้วเดินไปตามพื้นที่ในตัวเมือง โดยแวะหยุดตามจุดสำคัญต่างๆ เช่น ที่หน้าโรงเรียนและวัดตานีนรสโมสร สี่แยกตลาดโต้รุ่ง ตลาดเทศบาลเมืองปัตตานี รวมทั้งมัสยิดกลาจังหวัดปัตตานี เพื่ออ่านแถลงการณ์ที่มีข้อเรียกร้องต่อทั้งสองฝ่าย
ลม้าย มานะการ, โซรยา จามจุรี และ รอซิดะห์ ปูซู คณะทำงานวาระผู้หญิงชายแดนใต้ ร่วมอ่านแถลงการณ์ระบุว่า ขอให้ทั้งสองฝ่ายเดินหน้าพูดคุยกันต่อไปแม้จะมีปัญหาและอุปสรรค เพราะกระบวนการพูดคุยเป็นความหวังของกลุ่มผู้หญิงและประชาชนที่ต้องการแก้ปัญหาด้วยสันติวิธี พร้อมเรียกร้องให้บรรจุเรื่องของการ “สร้างพื้นที่สาธารณะให้ปลอดภัย” เป็นหนึ่งในหัวข้อการพูดคุย เพราะถือว่าพื้นที่เหล่านี้ประชาชนทั่วไปที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการสู้รบจำเป็นต้องใช้
ข้อเสนอนี้มาจากการที่คณะทำงานวาระผู้หญิงชายแดนใต้เปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นจากทั้งกลุ่มผู้หญิงและประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากความรุนแรงรวมแล้วประมาณ 500 คน ระหว่างเดือน ต.ค. 2558 - เม.ย. 2559
แถลงการณ์ระบุอีกว่า พื้นที่สาธารณะที่มีทั้งตลาด, ถนนหนทาง, โรงเรียน, ศาสนสถาน ทั้งมัสยิด วัด และโบสถ์ ซึ่งประชาชนใช้ในชีวิตประจำวัน เป็นพื้นที่ที่มีคุณค่าและมีความหมายอย่างยิ่งต่อชีวิต อัตลักษณ์ และจิตวิญญาณของผู้หญิงที่ครอบคลุมถึงผู้หญิงทุกวัย ทุกศาสนา ทุกภาษา และทุกชาติพันธุ์ในพื้นที่แห่งนี้ พร้อมเรียกร้องให้ทั้งสองฝ่ายร่วมกันทำให้พื้นที่ดังกล่าวปลอดภัย เพื่อให้ผู้หญิงและพลเรือน ได้มีโอกาสใช้ชีวิตประจำวันและทำกิจกรรมในพื้นที่สาธารณะได้อย่างปกติสุข โดยไม่ต้องเผชิญกับความหวาดกลัว ความหวาดระแวง และความสูญเสียอีกต่อไป เพราะสันติสุขและสันติภาพจะมีความหมายอะไร ถ้าไร้ซึ่งประชาชน
อัสรา รัฐการัณย์ จากเครือข่ายผู้หญิงเพื่อสันติภาพชายแดนใต้ กล่าวว่า อยากให้ทุกฝ่ายตระหนักว่าชีวิตของประชาชนท่ามกลางความขัดแย้งอยู่กันได้ด้วยการพูดคุย เรื่องความปลอดภัยเป็นสิ่งสำคัญมาก เยาวชนไม่ควรเติบโตขึ้นมาท่ามกลางความรุนแรง เห็นรถถัง ทหารถือปืนอยู่ทุกสี่แยก มองเรื่องระเบิดเป็นเรื่องธรรมดา ถึงเวลามานานแล้วที่เรื่องเหล่านี้ไม่ควรเกิดขึ้น ต้องคุยกันได้ด้วยสันติวิธี เยาวชนกำลังเติบโตและเฝ้ามองเราอยู่
“เราจะฝากอนาคตไว้กับเยาวชนได้อย่างไรในเมื่อเรายังใช้ความรุนแรงต่อกัน การมาเดินรณรงค์ครั้งนี้คือจิตวิญญาณของคนในพื้นที่ อยากให้เรื่องราวนี้ขึ้นไปสู่โต๊ะเจรจา ได้ตระหนักและส่งสัญญาณไปยังคนข้างหลังว่าอย่าใช้ความรุนแรง ชีวิตทุกชีวิตมีค่า ฆ่าชีวิตหนึ่งเหมือนฆ่ามนุษยชาติทั้งโลก ขอให้ตระหนักมากๆ หากทุกคนกลับไปสู่ครรลองของศาสนา ใช้สันติวิธีในการแก้ปัญหา ทุกอย่างก็จะจบ” อัสรา กล่าว
นักเรียนจากโรงเรียนสอนศาสนาเอกชนแห่งหนึ่งใน จ.ปัตตานี ที่เข้าร่วมกิจกรรม บอกว่า ไม่อยากให้มีความรุนแรงเกิดขึ้นไม่ว่าจะเป็นการยิง ระเบิด และเหตุอื่นๆ อยากให้มีความปลอดภัยของชีวิตทุกคน เดินทางไปไหนมาไหนด้วยความสบายใจ ขอให้ผู้ใหญ่รับฟังเรื่องราวเหล่านี้และช่วยกันทำให้ความหวังของเด็กๆ เป็นความจริงด้วย
เพราะสันติสุขและสันติภาพจะมีความหมายอะไรถ้าไร้ซึ่งประชาชน!