กฤษฎีกาชี้ขาด'นักโทษ'ถูกกักขังแทนค่าปรับ แม้ได้อภัยโทษฯ ต้องชำระให้ครบ
'กฤษฎีกา' ชี้ขาดความเห็นทางกม. ปมปัญหากรณีนักโทษได้รับพระราชทานอภัยโทษ ในส่วนของการกักขังแทนค่าปรับ ยังมีหน้าที่ต้องชำระค่าปรับอยู่ ระบุชัดการกักขังแทนค่าปรับ เป็นมาตรการเสริมกรณีไม่มีการชำะค่าปรับ มิใช่เป็นการเปลี่ยนโทษปรับเป็นการกักขัง อันจะทำให้โทษปรับยุติลง
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า เมื่อเร็วๆ นี้ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ได้เผยแพร่ความเห็นทางกฎหมาย กรณีกรมราชทัณฑ์ขอหารือกรณีการพระราชทานอภัยโทษในส่วนของการกักขังแทนค่าปรับ
โดยคณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 11) ได้พิจารณาข้อหารือของกรมราชทัณฑ์ โดยมีผู้แทนกระทรวงยุติธรรม (สำนักงานปลัดกระทรวงและกรมราชทัณฑ์) กระทรวงการต่างประเทศ (สำนักงานปลัดกระทรวง) สำนักงานศาลยุติธรรม และสำนักงานอัยการสูงสุดเป็นผู้ชี้แจงข้อเท็จจริงแล้ว มีความเห็นว่า มาตรา 29 มาตรา 29/1 และมาตรา 30 แห่งประมวลกฎหมายอาญา กำหนดให้ผู้ต้องโทษปรับต้องชำระค่าปรับภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ศาลพิพากษา หากมิได้มีการชำระค่าปรับภายในกำหนดเวลานั้น ผู้ต้องโทษปรับจะถูกยึดทรัพย์สินหรืออายัดสิทธิเรียกร้องในทรัพย์สินเพื่อใช้ค่าปรับ หรือมิฉะนั้นอาจถูกกักขังแทนค่าปรับ จะเห็นได้ว่าการกักขังผู้ต้องโทษปรับเป็นเพียงมาตรการเสริมในกรณีที่ไม่มีการชำระค่าปรับ และไม่อาจบังคับเอาจากทรัพย์สินของผู้ต้องโทษปรับได้เท่านั้น การกักขังแทนค่าปรับมิใช่เป็นการเปลี่ยนโทษปรับเป็นการกักขังอันจะทำให้โทษปรับยุติลง หากมีการกักขังแทนค่าปรับจะหักค่าปรับให้ในอัตราห้าร้อยบาทต่อหนึ่งวันในระหว่างที่ถูกกักขัง และเมื่อชำระค่าปรับส่วนที่เหลือจนครบ ผู้ต้องโทษปรับจะได้รับการปล่อยตัวไป
ฉะนั้น หากในระหว่างที่ผู้ต้องโทษปรับถูกกักขังแทนค่าปรับได้มีการอภัยโทษแก่ผู้ต้องกักขังโดยไม่มีการอภัยโทษปรับ ผู้ต้องกักขังจะได้รับการปล่อยตัวไป แต่โทษปรับที่ยังชำระไม่ครบยังคงอยู่
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การตอบความเห็นทางกฎหมายเรื่องนี้ มีผลมาจากการที่กรมราชทัณฑ์ได้มีหนังสือ ด่วนมาก ถึงสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา สรุปความได้ว่า ด้วยคณะกรรมการพิจารณาการโอนนักโทษได้จัดการประชุม ครั้งที่ 2/2559 เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2559 เพื่อพิจารณาคำร้องขอโอนนักโทษต่างประเทศกลับไปรับโทษยังประเทศที่นักโทษมีสัญชาติ ในการประชุมดังกล่าวมีประเด็นหารือเรื่องการได้รับพระราชทานอภัยโทษปล่อยตัวโทษกักขังแทนค่าปรับ
โดยผู้แทนอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาได้มีข้อสังเกตเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า ในกรณีที่นักโทษได้รับโทษกักขังแทนค่าปรับ ถึงจะมีการพระราชทานอภัยโทษยกโทษกักขัง แต่ค่าปรับก็ยังคงอยู่
ทั้งนี้ ตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 18280/1557 ระบุว่า ศาลเห็นว่าจำเลยเป็นนักโทษเด็ดขาดและยังไม่ได้ถูกกักขังแทนค่าปรับก่อนพระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษ พ.ศ. 2553 ประกาศใช้บังคับ ซึ่งมาตรา 5 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า ผู้ต้องโทษดังต่อไปนี้ ให้ได้รับพระราชทานอภัยโทษปล่อยตัวไป (1) ผู้ต้องกักขัง และมาตรา 5 วรรคสอง บัญญัติว่า กรณีผู้ต้องกักขังตามวรรคหนึ่ง (1) ซึ่งเป็นนักโทษเด็ดขาด และยังไม่ได้รับโทษกักขังแทนโทษจำคุกหรือยังไม่ได้ถูกกักขังแทนค่าปรับ ให้ผู้ต้องกักขังนั้นได้รับพระราชทานอภัยโทษปล่อยตัวไปในส่วนของโทษกักขังแทนโทษจำคุกหรือในส่วนของการกักขังแทนค่าปรับ แล้วแต่กรณีดังนั้น จำเลยจึงได้รับประโยชน์ตามมาตรา 5 วรรคสอง แห่งพระราชกฤษฎีกาดังกล่าว ในส่วนที่ไม่ต้องถูกกักขังแทนค่าปรับ อย่างไรก็ตาม พระราชกฤษฎีกาดังกล่าวมิได้ให้จำเลยพ้นจากโทษปรับด้วย โทษปรับตามคำพิพากษาของจำเลยยังคงมีอยู่ เมื่อจำเลยไม่ชำระค่าปรับ โจทก์จึงขอให้ศาลออกหมายบังคับคดีอายัดสิทธิเรียกร้องและเงินของจำเลยได้
ดังนั้น หากโทษปรับยังคงอยู่ นักโทษต่างประเทศไม่สามารถขอโอนตัวกลับไปรับโทษยังประเทศที่นักโทษมีสัญชาติได้ เนื่องจากมีคุณสมบัติขัดต่อมาตรา 27 แห่งพระราชบัญญัติการปฏิบัติเพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศในการดำเนินการตามคำพิพากษาคดีอาญา พ.ศ. 2527 ที่บัญญัติว่า ในกรณีที่นักโทษต่างประเทศผู้ใดมีหน้าที่ต้องชำระค่าปรับ คืนทรัพย์สินหรือชดใช้ราคาหรือค่าเสียหายตามคำพิพากษาในคดีอาญา หรือคำสั่งของเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจ นักโทษต่างประเทศผู้นั้นจะต้องทำการชำระคืน หรือชดใช้ดังกล่าว ให้เสร็จสิ้นก่อนที่คณะกรรมการจะมีคำสั่งเห็นชอบในการโอน อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมมีมติให้เลื่อนการพิจารณาคำร้องขอโอนตัวนักโทษต่างประเทศจำนวนสามรายไปพลางก่อนเพื่อหาข้อสรุปเกี่ยวกับการอภัยโทษ โทษผู้ต้องกักขังและการปล่อยตัวโทษกักขังแทนค่าปรับ
ต่อมาเมื่อวันที่ 5 เมษายน 2559 คณะกรรมการพิจารณาการโอนนักโทษได้มีการประชุมครั้งที่ 3/2559 โดยเชิญผู้แทนสำนักงานศาลยุติธรรม ผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการป้องกันส่งพร้อมหนังสือ ด่วนมาก ที่ นร 0902/207 ลงวันที่ 29 สิงหาคม 2559 ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกามีถึงสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีและปราบปรามยาเสพติด และผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เข้าร่วมประชุมหารือเรื่องโทษกักขังแทนค่าปรับ และการได้รับพระราชทานอภัยโทษตามพระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษฯ โทษกักขังแทนค่าปรับว่า นักโทษยังมีหน้าที่ต้องชำระอีกหรือไม่ซึ่งที่ประชุมมีข้อพิจารณาเป็น 2 แนวทาง ดังนี้
แนวทางที่ 1 เห็นว่า พระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษฯ ให้ประโยชน์แก่นักโทษเฉพาะโทษกักขังแทนค่าปรับเท่านั้น ซึ่งไม่ได้ระบุถึงโทษปรับ ดังนั้น โทษปรับยังคงอยู่ นักโทษยังคงมีหน้าที่ต้องชำระค่าปรับที่เหลืออยู่ตามคำพิพากษา
แนวทางที่ 2 เห็นว่า โทษปรับได้ถูกเปลี่ยนเป็นโทษกักขังแทนค่าปรับแล้วตามคำพิพากษาและหมายจำคุกเมื่อคดีถึงที่สุด และเมื่อมีพระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษโทษกักขังแทนค่าปรับ โทษปรับถือว่าสิ้นสุดด้วย
ที่ประชุมมีมติให้หารือคณะกรรมการกฤษฎีกาเพื่อหาข้อยุติและเพื่อให้ได้ความชัดเจนในการดำเนินการในเรื่องดังกล่าว กรมราชทัณฑ์ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการพิจารณาการโอนนักโทษ
กรมราชทัณฑ์ จึงขอหารือว่ากรณีที่โทษปรับได้ถูกเปลี่ยนเป็นการกักขังแทนค่าปรับตามคำพิพากษาและหมายจำคุกเมื่อคดีถึงที่สุดแล้ว ภายหลังเมื่อนักโทษได้รับพระราชทานอภัยโทษตามพระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษ พ.ศ. 2553 สำหรับการกักขังแทนค่าปรับแล้ว นักโทษยังมีหน้าที่ต้องชำระค่าปรับอีกหรือไม่
หมายเหตุ : ภาพประกอบจาก www.thaispygadget.com