"ประกันสุขภาพถ้วนหน้า" ก้างขวางคอใคร ?
ประเทศไทยสามารถพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือเป็นที่รู้จักกันดีในนาม “บัตรทอง ” จนเกิดผลงานด้านสุขภาพที่โดดเด่น ประชาชนเกือบ 100% มีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า
ซึ่งในโลกนี้มีเพียงไม่กี่ประเทศในกลุ่มประเทศที่มีรายได้ต่ำถึงปานกลาง ที่สามารถพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพจนครอบคลุมประชากรทุกคนได้ นับเป็นความสำเร็จที่น่าชื่นชมและเป็นแหล่งเรียนรู้ที่สำคัญระดับโลก
ที่มาของความสำเร็จก็คือการตัดสินใจของพรรคไทยรักไทย ภายใต้การนำของ พันตำรวจโทดร.ทักษิณ ชินวัตร ที่ยอมรับนโยบายนี้มาใช้ในการหาเสียง และผลักดันอย่างเข้มแข็งหลังได้จัดตั้งรัฐบาลในปีพ.ศ.2544 สามารถผลักดันให้ออกกฎหมาย พรบ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 11 พ.ย.2545 จนเป็นผลงานที่สำคัญที่สุดของพรรคไทยรักไทยในเวลาต่อมา สร้างความมั่นคงด้านสุขภาพโดยเฉพาะกับกลุ่มชนชั้นกลาง และผู้ยากจน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ชนบท หรือที่รู้จักกันในนามของ คนรากหญ้า เจ็บป่วยได้รับการดูแลรักษาโดยไม่ต้องขายวัวควายไร่นาหรือเป็นหนี้เป็นสินเพื่อนำเงินไปรักษาพยาบาล เหมือนในอดีต
แต่เหรียญย่อมมี 2 ด้านเสมอ เมื่อประชาชนเข้าถึงการบริการพื้นฐานที่จำเป็นมากขึ้น และลดค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพลง ก็เกิดผลเสียกับ กลุ่มแพทย์พานิชย์ กลุ่มบริษัทยาต่างชาติ และกลุ่มอำนาจผลประโยชน์เดิมที่สูญเสียอำนาจไป
อารยะประเทศในทวีปยุโรปนั้น ไม่มีโรงพยาบาลเอกชนแบบประเทศไทย จะมีก็เฉพาะโรงพยาบาลเอกชนที่ไม่แสวงหากำไร (private non-profit organization) นั่นหมายความว่า หากโรงพยาบาลมีกำไรจากการจัดบริการ กำไรนั้นนำมาเพื่อพัฒนาคุณภาพบริการ ไม่ใช่นำมาปันผลให้กับหุ้นส่วนหรือทำกำไรในตลาดหุ้น แม้ยุโรปจะเป็นทุนนิยมกว่าบ้านเรา แต่ก็มีสติและปัญญาที่เข้าใจว่า สุขภาพเป็นสิทธิสาธารณะ ไม่ใช่สินค้าเพื่อการทำกำไรให้คนบางกลุ่ม
การมีโรงพยาบาลเอกชนที่มุ่งแสวงหากำไร มุ่งความร่ำรวยของผู้ถือหุ้นเป็นหลัก (private for profit) รวมทั้งนำโรงพยาบาลเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์เป็นเรื่องที่ทุนนิยมแบบยุโรปรับไม่ได้ แต่เป็นการตามก้นทุนนิยมที่ตะกระแบบอเมริกา ซึ่งนับเป็นทุนนิยมผิดประเภทที่นำมาใช้กับเรื่องสุขภาพ
เมื่อสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) มีการขยายการคุ้มครองและสิทธิประโยชน์ ให้ครอบคลุมทั้งเชิงปริมาณและเชิงลึกกับกลุ่มผู้ป่วยเฉพาะโรค เช่นผู้ป่วยไตวายมีสิทธิล้างไต เปลี่ยนไตได้ กลุ่มผู้ป่วยโรคหัวใจขาดเลือดมีสิทธิผ่าตัดหัวใจ เปลี่ยนหัวใจ ใส่สายสวนหัวใจได้ ผู้ป่วยตาต้อกระจกได้รับผ่าตัดใส่เลนส์โดยที่รอคิวไม่นาน ผู้ป่วยมะเร็งมีสิทธิในการรักษาตามมาตรฐานเช่นเดียวกับคนมีเงิน ผู้ติดเชื้อเอดส์ได้รับยาต้านไวรัสเอดส์ทำให้มีอายุยืนยาวขึ้นเหมือนคนปกติทั่วไป ติดยาเสพติดได้รับการบำบัดที่ถูกต้องเหมาะสม ผู้ป่วยโรคจิตเข้าถึงยาราคาแพงตามมาตรฐาน ผู้ป่วยข้อเข่าเสื่อมได้รับการผ่าตัดใส่ข้อเข่าเทียม ผู้ป่วยโรคเรื้อรังได้รับการรักษาต่อเนื่องอย่างเหมาะสม และอีกมากมาย ล้วนครอบคลุมอยู่ในสิทธิประโยชน์ อีกทั้งยังพัฒนาระบบบริการปฐมภูมิ และเวชศาสตร์ครอบครัว การส่งเสริมสุขภาพ ป้องกันโรค ฟื้นฟูคุณภาพชีวิตผู้พิการ การชดเชยผู้ป่วยเพื่อลดข้อขัดแย้งระหว่างผู้ให้บริการกับผู้ป่วยผ่านมาตรา 41 ซึ่งในช่วงแรกก็มีกลุ่มสมาพันธ์แพทย์มาต่อต้านอย่างรุนแรงเช่นเดียวกัน พัฒนาการเหล่านี้ของบัตรทองทำให้ปัจจุบันสิทธิประโยชน์มากกว่าสิทธิประโยชน์ของกลุ่มประกันสังคมด้วยซ้ำไป จนนำไปสู่การพยายามปรับตัวของกองทุนประกันสังคมขนาดใหญ่หลังผู้ใช้แรงงานออกมาเรียกร้องสิทธิของตนเอง
นอกจากนี้ สปสช.ได้ประสานกับองค์การเภสัชกรรม ดำเนินการแทรกแซงในการจัดหายา เวชภัณฑ์ และวัสดุการแพทย์ให้มีราคาถูกลง มีการต่อรองทำซีแอลยา ( Compulsory licensing :CL) หรือ การประกาศใช้สิทธิเหนือสิทธิบัตรยา เพื่อทำให้ยารักษาโรคเอดส์ ยาต้านเกล็ดเลือดรักษาโรคหัวใจ และยารักษามะเร็งมีราคาถูกลง มีการต่อรองราคายาในระดับประเทศ จึงทำให้ฝ่ายแพทย์พานิช และบริษัทยาข้ามชาติบางแห่งเสียผลประโยชน์ จนอาจารย์แพทย์ผู้ใหญ่ ที่เป็นถึงนักเรียนทุนอานันทมหิดล ท่านหนึ่งมากล่าวหาว่า “การทำซีแอลยา คือ โจรปล้นทรัพย์บ้านคนอื่นมาเลี้ยงลูกตนเอง” ซึ่งเป็นความคิดที่น่าละอายอย่างยิ่งของท่าน ที่ท่านได้ทำหน้าที่ปกป้องผลประโยชน์ของบริษัทยาเหล่านั้นอย่างเต็มที่ แต่ไม่ได้คิดถึงการเอาเปรียบของบริษัทยาต่อประชากรโลก
ประชาชนไทยในระดับชนชั้นกลางและระดับรากหญ้า ล้วนได้รับประโยชน์ในการเข้ารับการรักษาฟรีอย่างมีคุณภาพในโรงพยาบาลของรัฐ จึงเกิดขบวนการที่มุ่งหมายจะล้มระบบประกันสุขภาพ เพื่อให้การตลาดทุนนิยมแสวงหากำไรใหญ่โตขึ้นอีกครั้ง ให้ธุรกิจสุขภาพสามารถเข้ามาชี้นำระบบสุขภาพได้เช่นในอดีต
การเข้าแทรกตัวเป็นทีมด้วยการแต่งตั้งอย่างเป็นทางการในคณะกรรมการชุดต่างๆของ สปสช.คือหัวใจของกระบวนการคืนสู่อำนาจสู่กลุ่มอำนาจเดิมอีกครั้ง โดยกำหนดแผน 4 ขั้นตอนคือ
เริ่มด้วยการเปลี่ยนแปลงให้กลุ่มแพทย์ที่ไม่เห็นด้วยกับระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้าเข้ามาเป็นคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(บอร์ด สปสช.)ในสายผู้ทรงคุณวุฒิ และจับมือกับฝ่ายการเมือง ข้าราชการประจำ สภาวิชาชีพ ครองเสียงข้างมากในคณะกรรมการ และย่ามใจถึงขนาดตั้งอดีตกรรมการท่านหนึ่งที่เคยถูกบอร์ด สปสช.ประนาม และตั้งกรรมการสอบถึงพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมกับการเป็นกรรมการ สปสช. เพราะมีความประพฤติเสื่อมเสียรวมถึงอาจเข้าข่ายเป็นความผิดตามกฎหมายอื่นด้วย เช่น กฎหมายว่าด้วยการแข่งขันทางการค้า ประมวลกฎหมายอาญา รวมถึงการมีผลประโยชน์ทับซ้อน จนเกิดการต่อต้าน ฟ้องศาลปกครองจากคณะกรรมการภาคประชาชน ถึงขบวนการแต่งตั้งที่ผิดกฎหมาย ไม่โปร่งใส ถูกครอบงำทางการเมือง เพื่อจะได้มีอำนาจแต่งตั้งอนุคณะกรรมการการเงินการคลัง และชุดอื่นๆ ที่สำคัญ
ขั้นที่สอง เสนอให้มีการเปลี่ยนเลขาธิการ สปสช. ซึ่งเป็นก้างชิ้นสำคัญในการทำกำไรด้านสุขภาพโดยได้มีการวางตัวบุคคลไว้แล้วและเป็นผู้ที่เคยอยู่ในขบวนการต่อต้านโครงการบัตรทองมาก่อนหน้านี้
ขั้นที่สามเพิ่มงบรายหัว งบประกันสุขภาพถ้วนหน้าให้สูงเท่าประกันสังคม ที่ปรับเพิ่มใหม่และตามสวัสดิการข้าราชการเดิม เพื่อให้เกิดภาระกับงบประมาณรัฐบาล เสมือนเป็นความตั้งใจที่ดี แต่อาบยาพิษ หากรัฐบาลไม่สามารถสนับสนุนงบได้เพียงพอ ก็เป็นข้ออ้างให้ประชาชนต้องร่วมจ่ายตามมา
และขั้นสุดท้ายยกเลิกระบบหลักประกันสุขภาพ หรือเปลี่ยนแปลงหลักการสำคัญเพื่อให้เอื้อประโยชน์กับกลุ่มแพทย์พานิชย์ และเครือข่ายบริษัทยาข้ามชาติดังกล่าว เข้ามาทำกำไรจากภาษีประชาชนที่นำมาใช้ในระบบหลักประกันสุขภาพ และโยกการบริหารจัดการงบประมาณไปให้กลุ่มอำนาจเก่าในกระทรวงสาธารณสุขโดยพยายามไม่ให้มีการปฏิรูประบบสุขภาพ กลับไปใช้ระบบการจัดสรรเงินตามขนาดของโรงพยาบาลและจำนวนบุคลากร แทนการจัดสรรตามจำนวนประชากรและผลงานในปัจจุบัน หรือการกำหนดให้บอร์ดสามารถมีอำนาจในการอนุมัติก่อหนี้ผูกพัน สั่งซื้อสั่งจ้างที่ส่วนกลางได้เหมือนในอดีต ที่ก่อให้เกิดการทุจริตคอร์รัปชั่นมาแล้วหลายต่อหลายครั้ง
น่าเสียดายเป็นอย่างยิ่งที่รัฐบาลชุดปัจจุบัน ซึ่งนำโดยนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จากพรรคเพื่อไทย ซึ่งก็มาจากพรรคไทยรักไทยเดิมที่ก่อตั้งระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้ามากับมือ ได้ส่งเสนาบดีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นายวิทยา บูรณศิริ มาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ร่วมมือกับกลุ่มผลประโยชน์ดังกล่าว และกลุ่มคนที่เคยต่อต้านโครงการนี้เข้ามาแทรกแซงขบวนการคัดเลือกคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติที่หมดวาระลง จนเกิดเป็นกระแสต่อต้านจากภาคประชาชนและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่อยู่ในกรรมการชุดนี้ มีการฟ้องศาลปกครองว่าการสรรหาไม่ชอบด้วยกฎหมายและศาลก็ได้รับฟ้องแล้ว ซึ่งไม่ทราบว่าปัญหาดังกล่าวนายกรัฐมนตรีได้รับทราบบ้างหรือไม่ การมาปรากฏตัวของนายกรัฐมนตรีที่กระทรวงสาธารณสุขที่ผ่านมาพอจะสะท้อนได้ว่าท่านน่าจะทราบปัญหาที่กำลังจะเกิดขึ้นแล้ว แต่หากท่านยังไม่ตัดสินใจอะไรในทางการเมืองที่จะหยุดยั้งขบวนการดังกล่าว ก็เท่ากับว่า ระบบหลักประกันสุขภาพกำลังถูกบั่นทอน จะโดยการหลงผิดหรือเจตนาร่วมมือกับกลุ่มคณะที่หวังประโยชน์ส่วนตน จนตกเป็นเครื่องมือของบริษัทต่างชาติ ละเลย และอกตัญญูต่อคำสอนของพระราชบิดา ที่ว่า
“ขอให้ถือผลประโยชน์ส่วนตัว...เป็นที่สอง ประโยชน์ของเพื่อนมนุษย์....เป็นกิจที่หนึ่ง
ลาภทรัพย์และเกียรติยศจะตกมาแก่ท่านเอง ถ้าท่านทรงธรรมะแห่งอาชีพไว้ให้บริสุทธิ์ ”
หากมีการทบทวนเพื่ออนาคตทางการเมืองระยะยาวของรัฐบาลและพรรคเพื่อไทยแล้ว ควรเน้นที่สุขภาพ และประโยชน์ของประชาชนประเทศชาติ มากกว่าคิดสั้นเพียงเพื่อผลประโยชน์เฉพาะกลุ่ม เฉพาะหน้าเท่านั้น
ไม่พัฒนาระบบสุขภาพยังไม่ว่า แต่อย่ามาทำลายสิ่งดีๆในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เพียงเพราะความโลภในการขอส่วนแบ่งในภาษีก้อนใหญ่ก้อนนี้