จับตา! กรธ.เอาคืนศาล รธน.หั่นเวลานั่งเก้าอี้ หลังถูกหักหน้าซ้ำ2ครั้ง
“…ปัจจุบัน สถานการณ์อาจไม่ ‘สวยหรู’ เหมือนอย่างที่เคย ‘ดีล’ กันไว้ในอดีตก็เป็นไปได้ เพราะนายมีชัย และ กรธ. เริ่มเห็นปัญหาในการยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความร่างรัฐธรรมนูญ และเกิดความไม่พอใจเป็นอย่างยิ่ง ดังนั้น อาจเป็นไปได้ว่าในบทเฉพาะกาลของ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ หรือกฎหมายลูกของศาลรัฐธรรมนูญ อาจบัญญัติให้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญชุดนี้เหลือวาระการดำรงตำแหน่งแค่ 7 ปี ตามร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ก็ได้ ?...”
ยังเป็นประเด็นที่ยังคุกรุ่นอยู่ !
สำหรับข้อพิพาททางข้อกฎหมายระหว่างคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) และศาลรัฐธรรมนูญ กรณี กรธ. ส่งร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ที่แก้ไขเพิ่มเติมตามคำถามพ่วงประชามติ ที่ให้ ส.ว. โหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความว่า ขัดกับรัฐธรรมนูญหรือไม่ ตามบทบัญญัติมาตรา 37/1 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี 2557
แต่กลับถูกศาลรัฐธรรมนูญตีกลับเอกสารร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ถึง 2 ครั้งซ้อน โดยระบุว่า กรธ. ไม่ได้ส่งมาตามระเบียบของศาลรัฐธรรมนูญ ไม่ได้มอบฉันทะให้กับบุคคลที่นำร่างเอกสารมาส่ง
ขณะที่ กรธ. ได้ตอบโต้กลับไปทำนองว่า การดำเนินการดังกล่าว ทำไปตามบทบัญญัติตามรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี 2557 ซึ่งไม่จำเป็นต้องดำเนินการตามวิธีการร้องให้ศาลวินิจฉัยแบบปกติ นอกจากนี้ยังยกตัวอย่างว่า ทั้งสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และประธานรัฐสภา ก็เคยส่งเรื่องมายังศาลรัฐธรรมนูญโดยใช้วิธีทำนองนี้มาแล้ว ไม่เห็นเกิดปัญหาอะไร
(อ่านประกอบ : ศาลรธน.- กรธ.ขัดแย้งหนักตีกลับร่าง รธน.รอบ 2 ยันต้องยื่นคำร้องตามแบบ, ฟังอีกด้าน! กรธ.แจงส่งร่าง รธน.ให้ศาล รธน.ตีความก่อนถูกตีกลับ 2 ครั้งซ้อน)
ส่งผลให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์กันในวงกว้างว่างานนี้เกิดการ ‘แตกหัก’ กันระหว่าง ศาลรัฐธรรมนูญ และ กรธ. เสียแล้ว ?
เพื่อขยายความให้ชัดขึ้น สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รวบรวมข้อเท็จจริงกรณีดังกล่าวให้สาธารณชนรับทราบอีกครั้ง ดังนี้
ภายหลัง กรธ. พิจารณาปรับร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ให้เข้ากับคำถามพ่วงประชามติ ที่ให้ ส.ว. ร่วมโหวตนายกรัฐมนตรีได้ ในมาตรา 272 ได้ส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญ ตามมาตรา 37/1 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี 2557
อย่างไรก็ดีในวันที่ 30 ส.ค. 2559 ที่ผ่านมา ศาลรัฐธรรมนูญ ได้เผยแพร่เอกสารตีกลับเอกสารร่างรัฐธรรมนูญของ กรธ. คืนกลับไป และให้ส่งเรื่องมาใหม่อีกครั้ง เนื่องจากไม่ได้ส่งมาในรูปแบบของหนังสือราชการ
ต่อมา กรธ. ได้ส่งเอกสารดังกล่าวให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความอีกครั้งหนึ่ง โดยยืนยันว่า สาเหตุที่ถูกศาลรัฐธรรมนูญตีกลับมาครั้งแรก เกิดขึ้นจากความเข้าใจไม่ตรงกันในด้านธุรการ และการส่งเรื่อง
แต่เมื่อวันที่ 31 ส.ค. 2559 ศาลรัฐธรรมนูญได้ตีกลับเอกสารร่างรัฐธรรมนูญอีกครั้งเป็นหนที่สอง !
คราวนี้นายนุรักษ์ มาปราณีต ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ได้ทำหนังสือถึงนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธาน กรธ. โดยตรงว่า เรื่องดังกล่าวที่จะให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยนั้น ต้องดำเนินการให้ถูกต้องตามแบบคำร้องสำหรับยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ไม่ใช่ส่งมาในรูปแบบของหนังสือราชการที่ทำเรื่องปะหน้ามา รวมถึงต้องมอบฉันทะให้บุคคลที่มายื่นเรื่องแก่ศาลรัฐธรรมนูญ ตามระเบียของศาลรัฐธรรมนูญด้วย
ส่งผลให้ นายมีชัย และ กรธ. หลายคน ไม่พอใจเป็นอย่างมาก โดย กรธ. มองว่า การส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความครั้งนี้ เป็นไปตามรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี 2557 บัญญัติไว้ ไม่ได้เป็นการส่งให้วินิจฉัยเป็นกรณีทั่วไป
จึงเห็นว่า การที่นายนุรักษ์ ตีเรื่องกลับมาเป็นหนที่สอง เหมือนกับการลุแก่อำนาจ ?
กระทั่งเมื่อวันที่ 1 ก.ย. 2559 นายมีชัย ได้ลงนามในหนังสือมอบฉันทะให้กับเจ้าหน้าที่รัฐสภาไปยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความตามระเบียบที่ศาลรัฐธรรมนูญต้องการเรียบร้อยแล้ว
นอกจากนี้ยังได้ออกแถลงการณ์ชี้แจงถึงกรณีนี้ โดยมีการระบุทำนองว่า การกระทำของ กรธ. ถูกต้องแล้ว และก่อนหน้านี้ในช่วงปี 2551-2552 สนช. และประธานรัฐสภา ก็เคยส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ โดยใช้วิธีแบบ กรธ. มาแล้ว และศาลรัฐธรรมนูญขณะนั้นก็รับเรื่องตามปกติ
ไม่ว่าข้อขัดแย้งเรื่องนี้จะจบลงด้วยดีหรือไม่ก็ตาม แต่หลายฝ่ายประเมินกันแล้วว่า การ ‘แตกหัก’ ครั้งนี้ ซึ่ง กรธ. เล็งเห็นว่า การกระทำของศาลรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะนายนุรักษ์ ‘ลุแก่อำนาจ’ อาจเกิดการ ‘เอาคืน’ ขึ้นได้ ในกฎหมายประกอบ หรือกฎหมายลูกเกี่ยวกับศาลรัฐธรรมนูญ ที่ กรธ. จะต้องร่างขึ้นมาใหม่ ?
โดยในหมวดของศาลรัฐธรรมนูญ ตามร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ มาตรา 207 ระบุว่า ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ มีวาระการดำรงตำแหน่ง 7 ปี จากเดิม 9 ปี (ตามรัฐธรรมนูญปี 2550)
อย่างไรก็ดีแหล่งข่าวจากศาลรัฐธรรมนูญ เปิดเผยสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ว่า ก่อนหน้านี้มีการต่อรองกันให้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่เพิ่งเข้ารับตำแหน่ง ยังคงมีอายุการดำรงตำแหน่ง 9 ปี ไปก่อน และหลังจากชุดนี้ ค่อยมีวาระการดำรงตำแหน่ง 7 ปี ตามร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่
กระทั่ง กรธ. ได้บัญญัติไว้ในบทเฉพาะกาลของร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ มาตรา 273 ระบุวาระการดำรงตำแหน่งของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่ดำรงตำแหน่งก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ยังคงอยู่ในตำแหน่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่อไป และเมื่อ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวข้องที่จัดทำขึ้นใช้บังคับแล้ว การดำรงตำแหน่งต่อไปเพียงใดให้เป็นไปตาม พ.ร.บ.ประกอบฯดังกล่าว แต่ในระหว่างเวลาที่ยังไม่มี พ.ร.บ.ประกอบฯนั้น ให้ดำรงวาระการดำรงตำแหน่งเป็นไปตามรัฐธรรมนูญปี 2550 ซึ่งก็คือ 9 ปี
ดังนั้นหากเป็นไปตามนี้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญชุดนี้ก็จะมีวาระการดำรงตำแหน่ง 9 ปีเต็ม และชุดต่อไปถึงจะมีวาระการดำรงตำแหน่งเหลือ 7 ปี ตามร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่
แต่ปัจจุบัน สถานการณ์อาจไม่ ‘สวยหรู’ เหมือนอย่างที่เคย ‘ดีล’ กันไว้ในอดีตก็เป็นไปได้ เพราะนายมีชัย และ กรธ. เริ่มเห็นปัญหาในการยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความร่างรัฐธรรมนูญ และเกิดความไม่พอใจเป็นอย่างยิ่ง
ดังนั้น อาจเป็นไปได้ว่าในบทเฉพาะกาลของ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ หรือกฎหมายลูกของศาลรัฐธรรมนูญ อาจบัญญัติให้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญชุดนี้เหลือวาระการดำรงตำแหน่งแค่ 7 ปี ตามร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ก็ได้ ?
หรือนอกจากนี้อาจบัญญัติไปอีกว่า ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญชุดก่อนหน้าที่กฏหมายลูกของศาลรัฐธรรมนูญจะประกาศใช้ อาจหั่นวาระการดำรงตำแหน่งเหลือแค่ครึ่งเดียวคือประมาณ 5 ปี แล้วให้พ้นทั้งชุด และให้ดำเนินการสรรหาใหม่ ก็เป็นไปได้อีก
ซึ่งกรณีนี้อาจเรียกได้ว่าเป็นการ ‘เอาคืน’ ของฝ่าย กรธ. ที่เห็นว่าถูกศาลรัฐธรรมนูญ ‘ฉีกหน้า’ ในกรณีการยื่นให้ตีความร่างรัฐธรรมนูญก่อนหน้านี้ ?
ไม่ว่าข้อเท็จจริงจะเป็นไปตามนี้หรือไม่ แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า ‘เชื้อไฟ’ ระหว่าง กรธ. กับศาลรัฐธรรมนูญปะทุขึ้นมาแล้ว
ฉากต่อไปที่ต้องจับตาดูคือการเขียนกฎหมายลูกศาลรัฐธรรมนูญว่า จะมีการบัญญัติไว้อย่างไร และศาลรัฐธรรมนูญจะถูกหั่นอะไรออกไปบ้าง ?
อ่านประกอบ :
‘มีชัย’มอบฉันทะให้ จนท.รัฐสภาส่งร่าง รธน.ให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความรอบ 3
ศาลรธน.- กรธ.ขัดแย้งหนักตีกลับร่าง รธน.รอบ 2 ยันต้องยื่นคำร้องตามแบบ
ให้จนท.สภายื่นแทน-ไม่แนบใบมอบฉันทะ! ศาลรธน.แจงเหตุผลกลับร่าง รธน.รอบ 2