พล.อ.ไวพจน์: สิ่งสำคัญที่ยังไม่(เคย)มีก่อนพูดคุยดับไฟใต้
มีหลายคนชอบพูดว่าทุกความขัดแย้งจบลงที่โต๊ะเจรจา...
แต่คำถามที่คนชอบพูดแบบนี้ไม่ค่อยตอบก็คือ แล้วจะเจรจาอะไรให้ความขัดแย้งมันจบ ถ้าคู่ขัดแย้งมีจุดยืนที่ตรงข้ามกันสิ้นเชิง หรือแตกต่างกันสุดขั้ว โดยไม่มี “จุดร่วม” อะไรกันเลย
ถามว่าปัญหาความขัดแย้งในจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นแบบนั้นหรือไม่?
ถามคำถามนี้กับนักยุทธศาสตร์คนสำคัญที่ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางในมิติงานความมั่นคงอย่าง พล.อ.ไวพจน์ ศรีนวล ในห้วงเวลาที่รัฐบาลโฆษณาว่าความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้กำลังยุติ การพูดคุยเจรจาก็มีเวทีของมันอยู่ แต่แล้วจู่ๆ ก็เกิดระเบิดปูพรมใน 7 จังหวัดภาคใต้ตอนบนขึ้นมาเสียอย่างนั้น
“ปัญหาภาคใต้ไม่สามารถแก้ได้หรอก เพราะไม่ได้มียุทธศาสตร์ที่ดีพอ สิ่งที่ทำได้และทำมาตลอด ก็คือการทำให้สถานการณ์ดีขึ้นบางช่วง แต่ปัญหาไม่ได้หมดไป” พล.อ.ไวพจน์ ค่อยๆ คลี่ปมปัญหาที่เปรียบเหมือนผ้าขนหนูเปียกน้ำที่ม้วนตัวอยู่แน่นๆ
แม้อดีตรองปลัดกลาโหม และอดีตผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติผู้นี้ จะเชื่อมั่นว่าระเบิด 7 จังหวัดภาคใต้ตอนบนไม่ใช่ฝีมือกลุ่มบีอาร์เอ็น หรือกลุ่มอะไรก็ตามแต่ที่ต้องการขยายพื้นที่ปฏิบัติการเพื่อส่งสัญญาณแรงเรื่องแยกดินแดน แต่เขาก็ยังคงเชื่อมั่นว่าปัญหาภาคใต้ยังมองไม่เห็นแววยุติ
“บีอาร์เอ็นหรือกลุ่มที่เคลื่อนไหวในพื้นที่ จะออกนอกพื้นที่ทำไม เรายังไม่เห็นประโยชน์ตรงนั้นเลย แต่...” พล.อ.ไวพจน์ เว้นช่วงหายใจ ก่อนจะบอกต่อ
“เราตั้งคำถามบ้างดีกว่าว่า เราจะไปคุยอะไรกับคนสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ให้เขายุติความขัดแย้ง แล้วอยู่กับประเทศไทยต่อไป มีค่านิยมอะไรของประเทศไทย หรือรัฐไทยที่เขายอมรับ และพร้อมจะอยู่ร่วมกันอย่างสันติ”
จากคำถามสู่คำตอบที่เจ้าตัวอธิบายเอง...
“จริงๆ แล้วเราแทบไม่มีค่านิยมร่วมกันเลย จะว่าไปประเทศไทยไม่มีค่านิยมหลักของชาติด้วยซ้ำ ค่านิยมเดิมๆ ที่บอกว่าชาติ ศาสน์ กษัตริย์นั้น ยังกว้างเกินไป และบางเรื่องไม่ได้ตอบสนองหรือทำให้คนทุกคนทุกกลุ่มในชาติยอมรับร่วมกัน อย่างเช่นเรื่องศาสนา”
ปัญหาของร่างรัฐธรรมนูญมาตรา 67 แม้นายทหารนักยุทธศาสตร์รุ่นใหญ่จะไม่ได้เอ่ยถึง แต่ก็น่าจะเป็นตัวอย่างที่ดีที่พอเทียบเคียงได้
“เมื่อไม่มีค่านิยมหลักของชาติร่วมกัน แล้วเวลามีความขัดแย้งกัน เราไปคุยกับเขา แล้วจะให้เขายอมรับอะไรร่วมกับเรา เพราะมันไม่มี” พล.อ.ไวพจน์ สรุป
นักยุทธศาสตร์รุ่นเดอะ ชี้ประเด็นอีกว่า ปัจจุบันและอนาคต ความเห็นต่างและความขัดแย้งในสังคมจะไม่ถูกจำกัดอยู่ในกรอบแค่ปัญหาความขัดแย้งด้านผลประโยชน์ทางวัตถุ หรือความไม่พอใจในการดำเนินงานของรัฐเท่านั้น แต่จะขยายเป็นความขัดแย้งด้านความเชื่อ ด้านอัตลักษณ์ของกลุ่มต่างๆ เชื้อชาติต่างๆ
ฉะนั้นสังคมโดยรวมจึงต้องการหลักคิดร่วมของชาติที่จะสามารถยึดโยงสังคมที่หลากหลายเข้าด้วยกันได้ เพือให้ตระหนักว่ารัฐได้พยายามปกป้องความเชื่อ และอัตลักษณ์ของพวกเขามากพอ ไม่ต้องไปสร้างความเกลียดชัง หรือใช้ความรุนแรง หรือพยายามครอบงำกลุ่มอื่น
“สิ่งสำคัญที่ต้องไม่ลืมคือความเป็นโลกาภิวัตน์ ปัญหาไม่ได้มีแค่ภายในเท่านั้น ถ้าเราไม่มีหลักคิดร่วมกัน ไม่มีค่านิยมร่วมกัน แล้วปัจจัยแทรกซ้อนจากภายนอกกลับมีค่านิยมร่วมกันมากกว่าล่ะ สมมติว่าเป็นไอเอส ปัญหาภาคใต้จะเป็นอย่างไร จะกลายเป็นแหล่งบ่มเพาะและส่งออกกลุ่มติดอาวุธหัวรุนแรงหรือไม่ สิ่งนี้น่ากลัวกว่าความขัดแย้งภายในกันเองเสียอีก”
เป็นเสียงเตือนที่ไม่เสนาะหูนักจากนักยุทธศาสตร์ความมั่นคงคนสำคัญ แต่ถึงกระนั้นก็มิอาจปล่อยเลยให้ลอยลมไป...
-----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
ภาพโดย : ปิยะศักดิ์ อู่ทรัพย์ ดีพเซาท์วอทช์ (ถ่ายราวๆ ปี 2551)