อ.สถาปัตย์ จุฬาฯ ชี้ต่างชาติเป็นที่ปรึกษาออกแบบตึก ไม่ผิดกม.
อิศรา เปิดข้อมูล บูโร โอเล เชียเรนฯ บ.สถาปนิกออกแบบตึกมหานคร จดทะเบียนก่อตั้งในไทย ก.พ.58 ด้านอ.สถาปัตย์ จุฬาฯ ชี้ต่างชาติเป็นสถาปนิกออกแบบตึก ถือว่าผิดพ.ร.บ.สถาปนิก พ.ศ.2543 แต่หากเป็นเพียงที่ปรึกษาออกแบบ ไม่ผิดกม.
กรณีเมื่อวันที่ 29 ส.ค. 59 ได้มีการเปิดตัว "ตึกมหานคร" ตึ ตั้งอยู่บนถนนนราธิวาสราชนครินทร์ ใกล้กับสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอสช่องนนทรี โดยตึกมหานครนั้นมีความสูง 314 เมตร 77 ชั้น โดยเป็นตึกที่สูงที่สุดในประเทศไทยแห่งใหม่ (ทำลายสถิติตึกที่สูงที่สุดในไทย เจ้าของสถิติเดิมคือตึกใบหยก2 ความสูง 304 เมตร 85ชั้น) ใช้เวลาก่อสร้างร่วม 8 ปี มีบริษัทเพชดีเวลลอเมนท์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เป็นเจ้าของ และให้บริษัท บูโร โอเล เชียเรน (ไทยแลนด์) จำกัด เป็นบริษัทสถาปนิกผู้ออกแบบตึกดังกล่าว
สำนักข่าวอิศรา ตรวจพบว่า บริษัท บูโร โอเล เชียเรน ไทยแลนด์ จำกัด (buro ole scheeren Thailand) จดทะเบียนก่อตั้งบริษัทเมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2558 ทุนจดทะเบียน 2 ล้านบาท ตั้งอยู่ที่อาคาร เค.ซี.ซี. ชั้น 3 ซอยสีลม 9 (ซอยศึกษาวิทยา) ถนนสีลม แขวงสีลม เขตบางรัก กรุงเทพฯ เป็นประเภทธุรกิจบริการออกแบบ ศึกษาโครงการงานสถาปัตยกรรมและการให้คำปรึกษาที่เกี่ยวข้องขนาดธุรกิจและขนาดเล็ก กรรมการผู้มีอำนาจ คือ นายจาตุรนต์ กิ่งมิ่งแฮ
ปรากฎรายชื่อผู้ถือหุ้น จำนวน 5 คน โดยผู้ที่ถือหุ้นใหญ่มีคนเยอรมันเพียงคนเดียว คือนาย โอเล เซียเรน จำนวนหุ้น 27% จำนวนเงิน 5.4 แสนบาท ผู้ถือหุ้นเป็นคนไทยจำนวน 4 คน ได้แก่ นายอภิวุฒิ ทองคำ จำนวนหุ้น 24% จำนวนเงิน 4.8 แสนบาท และอีก 3 คน ที่เป็นทั้งผู้ถือหุ้นและเป็นสถาปนิกด้วย คือนาย จาตุรนต์ กิ่งมิ่งแฮ (ภ-สถ 9854) จำนวนหุ้น 24% จำนวนเงิน 4.8 แสนบาท นายพิศิษ เชิดเกียรติศักดิ์ (ส-สถ 2153) จำนวนหุ้น 12.5% จำนวนเงิน 2.5 แสนบาทและพันตรี พูนเพียร เทียนศิริ (ภ-สถ 187) จำนวนหุ้น 12.5% จำนวนเงิน 2.5 แสนบาท
ล่าสุดได้มีการตั้งข้อสงสัยถึงการออกแบบตึกดังกล่าวว่า ใช้สถาปนิกต่างชาติเป็นผู้ออกแบบ นั่นคือนายโอเล เซียเรน สถาปนิกชาวเยอรมัน อาจเข้าข่ายผิดพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ.2542 และไม่เป็นไปตาม พ.ร.บ.การทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2551 พระราชบัญญัติสถาปนิก พ.ศ.2543 ตามมาตรา 45 และมาตรา 47 อาชีพสถาปนิกถือเป็นอาชีพสงวนสำหรับคนไทยเท่านั้น
ด้านม.ล.ปุณฑริกา สมิติ ปลัดกระทรวงแรงงาน ให้สัมภาษณ์ล่าสุดว่า ไม่ผิดกฎหมาย พร้อมขอเวลาตรวจสอบรายละเอียด
ขณะที่รศ.มานพ พงศทัต อาจารย์ประจำภาควิชาเคหะการ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้สัมภาษณ์ว่า สถาปนิกชาวต่างชาติหากมาเป็นสถาปนิกเลยถือว่าผิดพระราชบัญญัติสถาปนิก พ.ศ.2543 แต่หากมาเป็นที่ปรึกษาสถาปนิก สามารถทำได้ โดยในหลายโครงการใหญ่ๆ ก็จะมีที่ปรึกษาทั้งคนไทยและคนต่างชาติ แต่ส่วนใหญ่คนต่างชาติมักจะออกแบบแล้วคนไทยก็เป็นผู้ช่วยเขียนแบบ
“ตึกมหานครเข้าใจว่าเป็นบริษัทที่มีสถาปนิกคนไทยและคนต่างชาติอยู่ร่วมกัน หัวหน้าสถาปนิกอาจจะเป็นต่างชาติ และมีการยื่นเอกสารในชื่อของผู้ช่วยที่เป็นคนไทย แต่กรณีนี้ยังไม่ผิดกฎหมาย เพราะเอกสารที่เซ็นต์ไปเป็นชื่อหัวหน้าสถาปนิกเป็นคนไทยและคนต่างชาติเป็นที่ปรึกษา”
นอกจากนี้ รศ.มานพ กล่าวด้วยว่า "สถาปนิกอิตาลีออกแบบที่ฝรั่งเศส อังกฤษ ก็เยอะแยะ หรือคนไทยไปออกแบบโรงแรมที่เวียดนามและกัมพูชาก็มีเยอะเช่นกัน ไม่ใช่แค่ว่าเขามาทำกับเราฝ่ายเดียว เราก็ไปทำเช่นกัน เพียงแต่ต้องทำให้ถูกกฎหมาย”