รัฐต้องปรับระบบคิด นักวิชาการ ยัน คนกับป่าอยู่กันได้
นักวิชาการ ยัน คนอยู่กับป่าได้ แต่รัฐต้องเข้าใจบริบทชุมชน วัฒนธรรม กลุ่มชาติพันธ์ุ ชี้ไร่หมุนเวียนไม่ทำลายป่า ซ้ำยังสร้างความสมบูรณ์ และยั่งยืน
31 สิงหาคม 2559 ที่ โรงเเรมเจ้าพระยาปาร์ค สำนักกฎหมายและวิชาการศาลยุติธรรม จัดสัมมนาวิชาการ เรื่อง “สิทธิชุมชนกับการอนุรักษ์ป่าไม้ :เส้นขนานที่ไม่มีวันบรรจบ”
รศ.ดร.เพิ่มศักดิ์ มกราภิรมย์ สถาบันสิทธิชุมชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าววถึงการจัดการเรื่องพื้นที่ป่าในอดีตที่ผ่านจนปัจจุบันหลายแสนครองครัวกลายเป็นคนผิดกฎหมาย ซึ่งการบังคับใช้กฎหมายที่ผ่านมาเป็นทางออกที่สูญเสีย ไม่ใช่การแก้ไขที่ชนะทุกฝ่าย ถามว่าสูญเสียอย่างไร หากคำนวนจำนวนแสนครอบครัว ปกติทำมาหากินอยู่ได้ รวมกันเดือนละหลายแสน ปีๆ หนึ่งหลายหมื่นล้านบาท เป็นเศรษฐกิจฐานราก อย่างแท้จริง เมื่อถูกกล่าวหาว่าผิดกฎหมาย กลายเป็นการถูกจำกัดการพัฒนา ถูกดำเนินการตามกฎหมายสารพัด ตัวเลขหนี้สินครัวเรือที่สูงมาก ส่วนหนึ่งเพราะชุมชนในเขตป่ามีปัญหาเรื่องกฎหมาย
รศ.ดร.เพิ่มศักดิ์ กล่าวว่า หากย้อนกลับมาดูไทยตัวเลขพื้นที่ป่าไม่ได้น้อยหน้าประเทศอื่น ซึ่งค่าเฉลี่ยทั่วโลกอยู่ที่ 26% และพื้นที่ป่าที่เรามีส่วนใหญ่เป็นป่าธรรมชาติ ผิดจากยุโรปที่เป็นป่าปลูก เราจึงได้เปรียบในเรื่องความหลากหลายทางชีวภาพ เรามีวัตถุดิบ ทรัพยากร มากกว่าประเทศอื่น เพียงแต่เราไม่มีความรู้ไม่พอ สังคมไทยที่เรา เราสามารถประคองจนป่าเหลืออยู่ แต่อย่างไรก็ตามเมื่อสถานการณ์ปัจจุบัน เวลาพูดเรื่องการฟื้นฟูป่า เราจะทำอะไรที่ไหน อย่างแม่ฮ่องสอนที่มีป่ากว่า 80% เรายังต้องไปปลูกป่าเพิ่มอีกหรือไม่ ที่ผ่านมาพื้นที่ป่าที่เพิ่มขึ้นในปัจจุบัน ไม่ได้เพิ่มจากการพัฒนา และนโยบายรัฐมีส่วนสำคัญที่ทำให้เกิดการใช้ป่าในเชิงพาณิชน์มากในช่วงแรก แล้วสุดท้ายใครเป็นผู้รับผิดชอบ ไม่ใช่เรื่องการไปชี้ว่าชาวบ้านเป็นผู้ทำลาย แล้วเจ้าหน้าที่คือผู้อนุรักษ์อย่างเดียว
“ฉะนั้นการอนุรักษ์และสิทธิชุมชนไปด้วยกันได้แต่ต้องมีการกำหนดพื้นที่ชัดเจน ป้องกัน บำรุงรักษา จัดการใช้ประโยชน์ ฟื้นฟู ซึ่งสิ่งเหล่านี้ตรงกับหลักการการอนุรักษป่าสากล คือสงวน คุ้มครอง ป้องกัน และใช้ประโยชน์ ชุมชนที่มีรากเหง้าทางวัฒนธรรม คือพื้นที่ของสิทธิชุมชน เขตการใช้ทรัพยากรอย่างยั่งยืน จึงไม่ใช่แค่การอนุรักษ์” รศ.ดร.เพิ่มศักดิ์ กล่าว.
ด้าน นายพฤ โอโดชา ตัวแทนเครือข่ายเกษตรกรภาคเหนือ กล่าวว่า คนไทยฝังลึกว่า คนกับป่าอยู่กันไม่ได้ จริงๆ เเล้ว วิถีชีวิตชนเผ่า อยู่กับธรรมชาติมาทั้งนั้น กรุงเทพฯก็เคยมีสัตว์ป่า แต่ความเจริญก็ทำให้หายไป คนบนดอยความเจริญไปถึงช้าเลยทำให้ป่ายังเหลืออยู่ พอป่าเริ่มหมดเราก็เหมือนคนเพิ่งตื่นเลยออกกฎหมายมาทับ เมื่อก่อนเราตั้งกรมป่าไม้เพื่อที่ขายไม้ ส่วนป่าที่เหลือก็เป็นเพราะชุมชน พอมีกฎหมายก็ไล่คนเก่าออก หมดที่ทำกิน ก็ต้องหันไปหานายทุน ไปปลูกพืชเศรษฐกิจ ปลูกข้าวโพด เอาไปเลี้ยงไก่ เลี้ยงหมู คนเมืองก็กินเนื้อหมู เนื้อไก่ ไข่ กินข้าวโพดเป็นอาหาร แต่สุดท้ายคนที่ปลูกกลับถูกจับเพราะบุกรุก แต่คนที่กินไม่ได้ถูกจับ
นายพฤ ยังกล่าวด้วยว่า ชาวบ้านถูกไล่ออกจากที่เป็นคดีอาญาและแพ่ง เราไม่รู้ทำอย่างไร ทั้งๆ ที่เราอยู่มาก่อน การทำไร่หมุนเวียนไม่ถูกกับกฎหมาย สังคมไม่ยอมรับทั้งๆ ที่ความจริงเป้นการอยู่กับป่าอย่างสมบูรณ์ และยั่งยืน โครงการNGO ที่เข้ามาเข้ามาเเค่ชั่วคราว แต่เจ้าหน้าที่ป่าไม้ที่พยายามมาสร้างผลงานมีตลอด
“ถ้ากระบวนการศาลเข้าใจวิถีชีวิตชุมชน ใช้ช่องทางประเพณี วัฒนธรรมมาตัดสินได้ไหม อย่าเอากฎหมายอย่างเดียว เพราะกฎหมายเอามาทับหัวเรา แบบนี้ชาวบ้านจะหาความยุติธรรมจากไหน” นายพฤ กล่าว และว่า ถ้าตั้งโจทย์ที่ว่าคนอยู่กับป่าไม่ได้ เราก็อยู่ไม่ได้ แต่ถ้าตั้งโจทย์ว่าอยู่ได้เราจะมีกระบวนการ เราอนุรักษ์เพื่อให้คนอยู่ได้ เศรษฐกิจบ้านเรากลับมองแค่ว่า ถ้าพื้นที่มีแร่เราก็เข้าไประเบิดเอามาได้ แต่ทำไมคนจะอยู่กับป่าไม่ได้
"เจ้าหน้าที่รัฐไม่เข้าใจเรื่องเศรษฐกิจในป่า เพราะจริงๆ เราสามารถมีรายได้ อย่างหน่อไม้ ชาวบ้านเป็นรายได้หลัก นอกจากนี้ยังมีพืชผัก แต่เรากลับส่งเสริมไม่ได้เพราะจะผิดกฎหมายป่าไม้ กลายเป็นว่าแทนที่เราจะได้รับการยอมรับ กลับกลายเป็นผิดกฎหมาย” นายพฤ กล่าวทิ้งท้าย