ดร.สังศิต ประเมินความเสียหายศก.-สังคม รัฐแก้ปัญหายาเสพติด 8ปีพุ่ง 9แสนล.
นักวิชาการชี้เกือบ 10 ปี ไทยได้รับความเสียหายจากนโยบายปราบปรามยาเสพติดไปกว่า 9 แสนล้านบาท แถมความรุนแรงไม่เคยลด แนะรัฐเร่งแก้กฎหมาย ลดใช้ความรุนแรง ดึงระบบสาธารณสุขเข้าช่วย
30 สิงหาคม 2559 ที่ โรงแรมแกรนด์ ฟอร์จูน เมอร์เคียว สำนักกิจการในพระดำริพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดศูนย์วิชาการสารเสพติดภาคเหนือ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จัดเสวนาเรื่อง “ความเป็นไปได้ต่อการบูรณาการควบคุม(แมท)แอมเฟตามีนอย่างสร้างสรรค์และนวัตกรรมยุติธรรมตามร่างประมวลกฎหมายยาเสพติด”
รศ.ดร.สังศิต พิริยะรังสรรค์ วิทยาลัยนวัตกรรม มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวถึงความเสียหายทางด้านเศรษฐกิจและสังคมจากความพยายามแก้ไขปัญหาเรื่องยาเสพติดในประเทศไทยว่า งบประมาณด้านการปราบปราม ป้องกัน และบำบัดรักษาปี 2554-2559 มีจำนวนกว่า 91,820 ล้านบาท แต่ความเสียหายทางด้านเศรษฐกิจและสังคมในปี 2551-2558 ที่สามารถประเมินตัวเลขได้อยู่ที่ราว 414,443-938,263 ล้านบาท ซึ่งต้นทุนของการก่ออาชญากรรมที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติดในภาคเอกชนและภาครัฐ ปี 2550-2558 มีมูลค่าราว 38,790-106,879 ล้านบาท
รศ.ดร.สังศิต กล่าวต่อว่า ต้นทุนรวมมาจาก 1) ต้นทุนการก่ออาชญากรรมของเอกชนปี 2550-2558 จำนวน 22,544 ล้านบาท 2) ต้นทุนการก่ออาชญากรรมของภาครัฐที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติด 36,285-102,450 ล้านบาท เป็นการติดสินบนตำรวจ 18,695-84,860 ล้านบาท และการตอนยาของตำรวจราว 17,590 ล้านบาท เมื่อคำนวนตัวเลขเหล่านี้พบว่า มูลค่าของต้นทุนการก่ออาชญากรรมที่เกี่ยวข้องกับปัญหายาเสพติดมาจากภาครัฐมากกว่าเอกชน
นอกจากนี้ รศ.ดร.สังศิต กล่าวถึงต้นทุนทางสังคมที่ต้องสูญเสียไปจากการปราบปรามยาเสพติดที่ผ่านมา ว่า สังคมสูญเสียผลิตภาพด้านแรงงานของผู้เสียชีวิตด้วยโรคปอดอักเสบและโรคเอดส์ปี 2551-2557 ราว 26,881 ล้านบาท ขณะที่ต้นทุนทางสังคมมาจากการสูญเสียผลิตภาพด้านแรงงานจากผู้เสียชีวิตที่ตรวจพบสารเสพติดปี 2550-2557 ราว 2,449 ล้านบาท รวมทั้งสองอย่างเป็นตัวเลขสูงถึง 29,330 ล้านบาท ทั้งนี้ต้นทุนของนักโทษเด็ดขาดจากการเสียค่าปรับให้แก่ศาลและค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันปี 2551-2558 ราว 4,247 ล้านบาท
รวมประมาณการต้นทุนด้านเศรษฐกิจและสังคมของปัญหายาเสพติดในประเทศไทย ระหว่างปี 2551-2558 จะมีมูลค่าขั้นต่ำสุด 506,263-1,030,083 ล้านล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 0.76-1.54 ของGDP เฉลี่ยของปี 2550-2557 ในขณะที่มาตรการการแก้ปัญหายาเสพติดของสหรัฐอเมริกาในปี 2554 อยู่ที่ร้อยละ 0.9 ของ GDP ของออสเตรเลียอยู่ที่ 0.3 ของ GDP และแคนาดาเท่ากับ 0.4 ของGDP
รศ.ดร.สังศิต กล่าวด้วยว่า รัฐบาลควรปรับปรุงกฎหมายยาเสพติด โดยเฉพาะเรื่องการกำหนดนิยามของผู้เสพ ผู้ค้า ผู้เสพและผู้ค้า ผู้ผลิต ผู้จำหน่าย ผู้นำเข้า ผู้ส่งออก เสพ ติดยาเสพติดให้โทษ ผู้รับจ้างขน ขบวนการยาเสพติดข้ามชาติและการสมคิด ฯลฯ เสียใหม่เพื่อลดทอนความผิดทางอาญาให้แก้ผู้เสพและเพื่อให้สอดคล้องกับความเป็นจริงสังคม รวมถึงให้ถือว่าผู้เสพเป็นผู้ป่วยที่สมควรได้รับการบำบัด มิใช่การตีตราว่าเป็นอาชญากรเหมือนในอดีต ให้พิจารณาผู้เสพจากความจริง โดยให้ถือเอาความสัมพันธ์ระหว่างช่วงเวลากับจำนวนเม็ดเป็นหลักเกณฑ์สำคัญ ไม่ใช่พิจารณาจากจำนวนเม็ด เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้ผู้เสพกลายเป็นผู้ค้า หรือผู้ผลิต
“ซึ่งที่ผ่านมากฎหมายยาเสพติดของไทยถือเป็นหนึ่งในกฎหมายที่ไร้มนุษยธรรมมากที่สุดกฎหมายหนึ่ง” รศ.ดร.สังศิต กล่าวและว่า ขอให้รัฐบาลทบทวนความผิดตามกฎหมายของสารเสพติดให้สอดคล้องกับฤทธิ์ของสารที่ถูกเรียกว่า “ยาเสพติด” ให้ใบกระท่อมเป็นสารที่ถูกต้องตามกฎหมาย เนื่องจากเป็นยาและเป็นวิถีการผลิต และวิถีการดำเนินชีวิตของคนไทยในพื้นที่ภาคใต้ รวมถึงให้กัญชา และ แมทแอมเฟตามีน เป็นสารเสพติดที่อยู่ภายใต้การดูเเลของแพทย์
“การควบคุมยาเสพติดต้องใช้ความรู้แทนการใช้ความรุนแรง และมอบหมายภารกิจนี้ให้แก่ระบบสาธารสุขมิใช่ศาล และรัฐบาลไทยจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงนโยบายปราบปรามยาเสพติดและพ.ร.บ.ยาเสพติด เพื่อให้สอดคล้องกับข้อตกลงของ UNGASS 2016 และวิถีการดำเนินชีวิตของคนไทยในระดับท้องถิ่น” รศ.ดร.สังศิต กล่าว.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
ตัวเลขสูงขนาดไหน ความเสียหายด้านเศรษฐกิจ-สังคม จากนโยบายยาเสพติด 17 ปี
ดร.สังศิต ประเมินความเสียหายศก.-สังคม รัฐแก้ปัญหายาเสพติด 8ปีพุ่ง 9แสนล.