"คาร์บอมบ์เร่งด่วน – ซ้อนวงจรจุดระเบิด" ทิศทางใหม่บึ้มป่วนใต้!
เหตุระเบิดคาร์บอมบ์หน้าโรงแรมเซาท์เทิร์น วิว ปัตตานี เมื่อคืนวันที่ 23 ส.ค.59 ซึ่งคนร้ายได้ขโมยรถยนต์ของโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลปะกาฮะรัง ไปประกอบระเบิดเพียงชั่วโมงเดียว แล้วขับไปก่อเหตุ นับเป็นการวางแผนโจมตีอีกรูปแบบหนึ่งในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้
การก่อเหตุแบบนี้มีความแตกต่างไปจากเดิม โดยในช่วงหลายปีที่ผ่านมา คนร้ายจะปล้นหรือโจรกรรมรถยนต์มา แต่จะนำไปเก็บไว้นานๆ ก่อน หรือไม่ก็นำไปใช้ก่อเหตุประเภทอื่นก่อน แล้วจึงค่อยนำมาใช้ในการประกอบระเบิดเพื่อทำคาร์บอมบ์ บางครั้งพบว่าระยะเวลาตั้งแต่ปล้นหรือโจรกรรมรถยนต์ จนถูกนำไปใช้เป็นคาร์บอมบ์ ทิ้งช่วงห่างกันเป็นปีๆ มีการไปสาดสีใหม่ เปลี่ยนทะเบียนตบตาเจ้าหน้าที่แบบครบวงจร
แต่สำหรับวิธีการก่อเหตุคาร์บอมบ์หน้าโรงแรมเซาท์เทิร์น วิว คนร้ายปล้นรถยนต์แล้วนำมาประกอบระเบิดทันที จากนั้นนำมาจอด แล้วจุดระเบิดบริเวณจุดเกิดเหตุ ใช้เวลาห่างกันไม่ถึง 2 ชั่วโมง
จากการตรวจสอบย้อนหลังพบว่าตั้งแต่ต้นปีเกิดเหตุรูปแบบนี้มาแล้ว 2 ครั้ง ครั้งแรก เมื่อวันที่ 27 ก.พ. คนร้ายได้ปล้นชิงรถยนต์จากเจ้าของร้านขายยางรถยนต์ใน จ.ปัตตานี ในช่วงช้า แล้วนำรถมาก่อเหตุคาร์บอมบ์หลังฐานหน่วยปฏิบัติการพิเศษที่ 11 ปัตตานีในช่วงเที่ยง
ส่วนครั้งที่สอง เมื่อวันที่ 5 เม.ย.คนร้ายได้ก่อเหตุปล้นรถจากสองสามีภรรยาชาว อ.บันนังสตา จ.ยะลา ในช่วงเช้ามืด แล้วนำรถไปประกอบระเบิด หลังจากนั้นจึงได้บังคับให้สามีขับรถประกอบระเบิดไปจอดไว้ที่หน้าศูนย์จำหน่ายรถยนต์แห่งหนึ่งในเขตเทศบาลนครยะลา โดยคนร้ายจับภรรยาไว้เป็นตัวประกัน แต่กรณีนี้เจ้าหน้าที่สามารถเก็บกู้ระเบิดเอาไว้ได้
แหล่งข่าวซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่อีโอดี หรือหน่วยทำลายวัตถุระเบิดในพื้นที่ ให้ข้อมูลว่า กลุ่มคนร้ายที่ก่อเหตุลอบวางระเบิดที่หน้าโรงแรมเซาท์เทิร์น วิว ปัตตานี น่าจะเป็นกลุ่มเดียวกับที่ก่อเหตุคาร์บอมบ์ก่อนหน้านี้ในพื้นที่ปัตตานี ส่วนรูปแบบที่คนร้ายใช้การปล้นหรือโจรกรรมรถมาทำคาร์บอมบ์นั้น จริงๆ แล้วก็เป็นวิธีการเดิม เพียงแต่มีการปรับเปลี่ยนห้วงเวลานำรถมาก่อเหตุทันที ไม่ทิ้งช่วงเหมือนที่ผ่านมา วิธีการใหม่นี้จะทำให้กลุ่มคนร้ายสามารถนำรถที่ประกอบระเบิดเข้ามาก่อเหตุในพื้นที่ต่างๆ ได้ง่ายขึ้น เนื่องจากเจ้าหน้าที่จุดตรวจจุดสกัดต่างๆ ยังไม่มีข้อมูลรถที่ถูกปล้นหรือโจรกรรม ซึ่งเชื่อว่าวิธีการก่อเหตุคาร์บอมบ์แบบนี้ ต่อไปคนร้ายจะมีการนำมาใช้บ่อยขึ้น
ขณะที่รูปแบบหรือพัฒนาการในการประกอบระเบิดแสวงเครื่องแบบต่างๆ ที่คนร้ายใช้ก่อเหตุ เท่าที่พบยังไม่มีการประกอบระเบิดแสวงเครื่องแบบใหม่ ยังคงใช้การประกอบระเบิดแสวงเครื่องแบบเดิม วงจรจุดระเบิดก็ยังเป็นแบบเดิมๆ แต่การประกอบระเบิดในปัจจุบันที่พบนั้น จะมีการเพิ่มความซับซ้อนในเรื่อง “วงจรจุดระเบิด” มากขึ้น เพื่อป้องกันการเก็บกู้ โดยระเบิดลูกเดียวจะมีการเพิ่มวงจรจุดระเบิดเอาไว้มากกว่า 1 วงจร ซึ่งที่พบบ่อยคือการจุดระเบิดด้วยวิทยุสื่อสาร และจุดระเบิดด้วยการตั้งเวลา ถือเป็นการเพิ่มความยากและความเสี่ยงอันตรายในการเข้าไปเก็บกู้ของเจ้าหน้าที่
ข้อสังเกตของอีโอดี ตรงกับข้อมูลสถิติระบบจุดระเบิดที่ถูกนำมาใช้ จากเหตุระเบิด 164 ครั้งของปี 2559 พบว่า ระบบจุดระเบิดด้วยวิทยุสื่อสาร (รวมการใช้ระบบ DTMF ในวิทยุสื่อสาร) ที่ถูกนำมาใช้ มีทั้งหมด 72 ครั้ง และการตั้งเวลาด้วยนาฬิกา วงจรอิเล็กทรอนิกส์ และโทรศัพท์มือถือ มีทั้งหมด 59 ครั้ง
-----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : ซากคาร์บอมบ์หน้าโรงแรมเซาท์เทิร์น วิว ปัตตานี