อึมครึมที่ปะกาฮะรัง...หลังรถ รพ.ถูกปล้นทำคาร์บอมบ์
ตำบลชื่อแปลกอย่าง "ปะกาฮะรัง" กลายเป็นชื่อติดปากคนไทยทั้งประเทศ หลังเกิดเหตุการณ์คาร์บอมบ์ที่หน้าโรงแรมเซาท์เทิร์น วิว อำเภอเมืองปัตตานี เมื่อกลางดึกวันอังคารที่ 23 ส.ค.59
เปล่า...จุดเกิดเหตุไม่ได้อยู่ในพื้นที่ ต.ปะกาฮะรัง แต่อยู่ใน ต.รูสะมิแล ซึ่งเป็นพื้นที่ต่อเนื่องกัน แต่รถที่คนร้ายนำมาใช้ทำคาร์บอมบ์เป็นรถของโรงพยาบาลปะกาฮะรังที่คนร้ายโจรกรรมมา
ด้วยความที่เจาะจงใช้รถที่ติดชื่อโรงพยาบาลปะกาฮะรัง ซึ่งโรงพยาบาลแห่งนี้ก็อยู่ไม่ไกลจากจุดเกิดเหตุนัก เพื่อสนับสนุนแผนประทุษกรรมลอบวางระเบิด ด้วยการจุดชนวนระเบิดลูกเล็กๆ ขึ้นก่อนเพื่อดึงคนออกมาจากสถานบันเทิงมายืนออด้านหน้าโรงแรง จากนั้นก็ขับรถโรงพยาบาลเข้าไปจอด ซึ่งย่อมไม่มีใครสงสัย เพราะคิดว่ามาช่วยลำเลียงคนเจ็บ แต่ถัดจากนั้นไม่กี่นาทีก็เกิดระเบิดขึ้น
ในแง่ของการใช้รถโรงพยาบาลมาก่อเหตุรุนแรง ก็น่าประณามมากพออยู่แล้ว แต่นี่ยังใช้รถโรงพยาบาลเป็นเหยื่อล่อให้คนเข้ามาติดกับ หรือวางใจไม่ถอยหนี จนส่งผลให้มีคนได้รับบาดเจ็บล้มตายมากขึ้นไปอีก...การก่อเหตุลักษณะนี้จึงมีคนจำนวนไม่น้อยรับไม่ได้ และคำว่า “ปะกาฮะรัง” จึงกลายเป็นชื่อติดปากของคนทั่วไป
ต.ปะกาฮะรัง แม้จะอยู่ในตัวเมืองปัตตานี แต่ยังมีสภาพเป็นชนบท พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่ลุ่มต่ำ จึงมีน้ำท่วมซ้ำซากแทบทุกปี
หลังเกิดเหตุร้ายที่โยงถึงโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลปะกาฮะรัง ทำให้เจ้าหน้าที่และลูกจ้างของโรงพยาบาลทุกคนถูกตำรวจเรียกไปสอบปากคำ
โดยเฉพาะคนขับรถคันที่ถูกคนร้ายโจรกรรมไป และอีกคนที่ถือกุญแจรถอีกชุดหนึ่งไว้ ถูกตำรวจจับตาเป็นพิเศษ
บรรยากาศที่โรงพยาบาลปะกาฮะรัง หรือเรียกง่ายๆ แบบเดิมว่า “สถานีอนามัย” ตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมาจึงเต็มไปด้วยความตึงเครียด เจ้าหน้าที่ทุกคนถูกสั่งห้ามพูด ห้ามปริปาก ยังดีที่มีอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน หรือ อสม.ที่จับกลุ่มกันอย่างเหนียวแน่น เดินทางไปให้กำลังใจ ทำให้สถานการณ์โดยรวมคึกคักขึ้นเล็กน้อย
อสม.บางส่วนช่วยทำความสะอาดรอบๆ บริเวณโรงพยาบาล ขณะที่เจ้าหน้าที่ประจำโรงพยาบาลส่วนใหญ่ยังคงทำงานให้บริการประชาชนอย่างต่อเนื่อง ไม่ปิดแม้จะมีข่าวร้าย และเจ้าหน้าที่บางส่วนถูกตำรวจเรียกสอบ
“อยากให้ทุกฝ่ายเข้าใจเจ้าหน้าที่สาธารณสุขด้วย เราทำงานอยู่กับประชาชน ต้องเดินทางลงพื้นที่อยู่ตลอด จึงไม่อยากให้ข้อมูลอะไรที่อาจกระทบกับบางคน แค่นี้เราก็ทำงานลำบากขึ้นแล้ว จึงอยากให้เข้าใจ” เจ้าหน้าที่รายหนึ่งบอก
น.ส.เพชรจันทร์ ภูครองทุ่ง อสม.ปะกาฮะรัง ย้ำว่า แม้เจ้าหน้าที่หลายคนต้องไปให้ปากคำกับตำรวจ เจ้าหน้าที่ที่เหลือก็ต้องทำงานบริการประชาชนต่อไป ถึงจะเหลือเพียงคนเดียวก็ต้องทำ
คนในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลปะกาฮะรังถูกจับจ้องจากสังคมมากขึ้นไปอีก เมื่อมีสื่อสารมวลชนบางแขนงรายงานว่า รถของโรงพยาบาลที่ถูกขโมยไปทำคาร์บอมบ์ เป็นรถสั่งทำพิเศษ กุญแจมีเพียงชุดเดียว กุญแจดอกอื่นไม่สามารถไขได้
ข่าวแบบนี้เหมือนบอกเป็นนัยๆ ว่าคนในโรงพยาบาลรู้เห็นกับคนร้าย แต่ล่าสุดมีการออกมาปฏิเสธโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจแล้ว ขณะที่ฝ่ายเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลเองก็ยืนกรานว่ารถคันที่ถูกโจรกรรมไปทำคาร์บอมบ์เป็นรถปิคอัพธรรมดา ไม่ได้สั่งทำพิเศษแต่อย่างใด
“เรื่องรถยนต์ที่มีการกล่าวถึงว่าทางสาธารณสุขได้สั่งทำเป็นพิเศษนั้น เบื้องต้นไม่ทราบข้อมูล เพราะทางนี้ได้แต่ขอเบิกมาใช้งานตามที่จำเป็น ไม่ทราบเรื่องการติดตั้งระบบพิเศษ ส่วนตัวมองว่ารถรุ่นนั้น (อีซูซุ ทีเอฟอาร์ รุ่นพื้นฐาน 2 ประตู) เป็นไปไม่ได้ที่จะมีการสั่งทำพิเศษ มีแต่การติดตั้งเตียงคนป่วยและอุปกรณ์ช่วยชีวิตไว้ด้านหลังเท่านั้น” เจ้าหน้าที่อีกรายหนึ่งให้ข้อมูล
ขณะที่ อสม.หลายคนได้จับกลุ่มคุยกันว่า รถของโรงพยาบาลที่ถูกโจรกรรมไปทำคาร์บอมบ์ ไม่ใช่รุ่นสั่งทำพิเศษแน่นอน และไม่เคยมีโครงการนำรถที่สั่งทำพิเศษมาใช้ด้วย เนื่องจากบุคคลากรด้านสาธารณสุขเป็นกลุ่มคนที่ทำงานดูแลประชาชน ไม่ได้คิดว่าจะมีใครมาประสงค์ร้าย
การคุกคามคนทำงาน รวมทั้งสถานที่ที่เป็นสัญลักษณ์ทางสาธารณสุข แม้แต่ในสงครามตามแบบขนาดใหญ่ก็ยังพึงละเว้น เป็นกฎของสงคราม แต่ดูเหมือนความขัดแย้งและกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรงในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้จะไม่สนใจเรื่องเหล่านี้เลย เพราะนี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่มีการกระทำเช่นนี้ เพราะเมื่อช่วงต้นปี 13 มี.ค.59 ก็มีการบุกยึดอาคารโรงพยาบาลเจาะไอร้อง จ.นราธิวาส เป็นฐานที่มั่นและจุดสูงข่มในการยิงถล่มฐานทหารพรานที่ตั้งอยู่ใกล้เคียงมาแล้ว
ส่วนบุคลากรทางสาธารณสุขก็ถูกเข่นฆ่าเอาชีวิตหลายครั้ง แม้แต่คนท้อง ตั้งครรภ์ก็ไม่มีละเว้น...
นี่คือความน่าสะพรึงกลัวของสถานการณ์ที่ชายแดนใต้ที่แตกต่างจากความขัดแย้งในพื้นที่อื่นๆ ของโลก
--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
อ่านประกอบ : จากบึ้ม รพ.โคกโพธิ์ ถึงบุก รพ.เจาะไอร้อง...ย้อนเหตุไฟใต้ในแวดวงสาธารณสุข