เบื้องหลัง "วันหยุดตรุษจีน" เฉพาะ 4 จังหวัดใต้ กับคำถาม "ทำไมไม่มีสงขลา"
คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเมื่อวันอังคารที่ 10 ม.ค.2555 กำหนดวันตรุษจีนเป็นวันหยุดราชการประจำปีเพิ่มอีก 1 วันให้กับพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ประกอบด้วย จ.ปัตตานี ยะลา นราธิวาส และสตูล เพื่อให้พี่น้องคนไทยเชื้อสายจีนที่มีอยู่จำนวนหนึ่งได้มีวันหยุด ทั้งนี้ตามการเสนอของศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.)
พลิกดูเอกสารที่ ศอ.บต.ทำเสนอคณะรัฐมนตรี พบเหตุผลสนับสนุนคือ ปัจจุบันทางราชการได้กำหนดให้มีวันหยุดราชการประจำปีเป็นการทั่วไปรวมทั้งสิ้น 16 วัน แต่สำหรับ จ.ปัตตานี ยะลา นราธิวาส และสตูลมีวันหยุดราชการประจำปีเพิ่มอีก 2 วัน เนื่องในวันตรุษอีดิลฟิตรี หรือวันรายอปอซอ 1 วัน และวันตรุษอีดิลอัฎฮา หรือวันรายอฮัจยี 1 วัน ตามขนบธรรมเนียมประเพณีอันเป็นวัฒนธรรมท้องถิ่น และเปิดโอกาสให้ข้าราชการได้ประกอบพิธีกรรมทางศาสนาตามสมควร จึงควรเสนอวันหยุดให้กับพี่น้องประชาชนที่เป็นชาวไทยเชื้อสายจีนในโอกาส "ตรุษจีน" อย่างเท่าเทียมกัน
ประกอบกับเมื่อเปรียบเทียบจำนวนวันหยุดราชการประจำปีของประเทศไทยกับกลุ่มประเทศอาเซียนแล้ว พบว่าประเทศอาเซียนมีจำนวนวันหยุดราชการประจำปีต่ำสุดและสูงสุดอยู่ระหว่าง 6 วันถึง 25 วัน โดยในส่วนของประเทศอินโดนีเซีย บรูไน มาเลเซีย สิงคโปร์ และเวียดนามนั้น มีวันตรุษจีนเป็นวันหยุดราชการประจำปีรวมอยู่ด้วย จึงมีการพิจารณากำหนดวันหยุดราชการประจำปีเพิ่มเติมเสนอต่อ ครม.
สำหรับวันหยุดราชการประจำปี จำนวน 16 วัน ประกอบด้วย วันปีใหม่ 1 ม.ค. วันมาฆบูชา วันจักรี 6 เม.ย. วันสงกรานต์ (3 วัน 13-15 เม.ย.) วันฉัตรมงคล 5 พ.ค. วันพืชมงคล วันวิสาขบูชา วันเข้าพรรษา วันอาสาฬหบูชา วันเฉลิมพระชนมพรรษา สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ 12 ส.ค. วันปิยะมหาราช 23 ต.ค. วันเฉลิมพระชนมพรรษา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว 5 ธ.ค. วันรัฐธรรมนูญ 10 ธ.ค. และวันสิ้นปี 31 ธ.ค.
เฉพาะ 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้มีวันหยุดราชการเพิ่มอีก 3 วัน คือ วันอีด 2 วันของพี่น้องมุสลิม และวันตรุษจีนของพี่น้องชาวไทยเชื้อสายจีน รวมเป็น 19 วัน
อย่างไรก็ดี การรายงานข่าวของสื่อมวลชนบางแขนงค่อนข้างสับสน เพราะบางสื่อรายงานว่า ครม.มีมติให้วันตรุษจีนเป็นวันหยุดใน 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ คือ จ.ปัตตานี ยะลา นราธิวาส และสตูล แต่บางสื่อรายงานว่าให้หยุดเฉพาะ 3 จังหวัดชายแดน คือ จ.ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส ไม่มี จ.สตูล
พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการ ศอ.บต.กล่าวว่า รายงานที่ ศอ.บต.เสนอเข้าไป เสนอให้หยุดเฉพาะ 3 จังหวัด แต่ภายหลัง ครม.พิจารณาเพิ่ม จ.สตูล ขึ้นอีก 1 จังหวัด เข้าใจว่าเพื่อให้เป็นพื้นที่เดียวกับที่อนุมัติให้หยุดวันรายอ
"ความตั้งใจของ ศอ.บต.ในเรื่องนี้ก็คือ อยากให้พี่น้องทุกวัฒนธรรมมีความรู้สึกเท่าเทียมกัน เพราะในพื้นที่มีถึง 3 วัฒนธรรม ชาวพุทธมีวันหยุดเยอะอยู่แล้ว ส่วนของอิสลามก็เพิ่มวันรายอ 2 วัน จึงเพิ่มวันตรุษจีนให้กับพี่น้องชาวจีนด้วย เป็นอันครบ 3 วัฒนธรรม" พ.ต.อ.ทวี กล่าว
ฟังเสียงคนไทยเชื้อสายจีนมีทั้งหนุนทั้งค้าน
นายทินกร คงศักดิ์ศรี รองผู้อำนวยการวิทยาลัยเทคนิคปัตตานี กล่าวว่า รู้สึกดีที่รัฐบาลให้ความสำคัญกับสิ่งเล็กๆ น้อยๆ ที่ทุกคนมองข้าม แต่รัฐบาลไม่ได้มองข้าม แม้จะหยุดเพิ่มแค่ 1 วันก็รู้สึกดีใจ ปีนี้ตรงกับวันจันทร์พอดี (วันที่ 23 พ.ค.) ทำให้ได้หยุดยาว 3 วัน
"สถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ตลอดหลายปีที่ผ่านมากระทบต่อวิถีชีวิตของพี่น้องจีน แม้จะยังทำงานได้อย่างปกติ แต่ก็ไม่ได้ถือว่าสงบสุข สำหรับเรื่องวันหยุด เมื่อรัฐบาลอนุมัติให้เป็นวันหยุด ในฐานะข้าราชการก็ไม่ต้องลา ไม่ต้องส่งผลกระทบแก่เด็ก นักเรียน องค์กร และกับคนที่เราร่วมทำงาน" นายทินกร กล่าว
นายประยูรเดช คณานุรักษ์ รองประธานมูลนิธิเทพปูชนียสถาน (เจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว) กล่าวว่า เป็นเรื่องน่ายินดี เพราะภูมิภาคนี้เป็นภูมิภาคที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรม และมีความแตกต่าง แต่สามารถอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข
"แต่ละวัฒนธรรมของที่นี่จะมีประเพณีที่ปฏิบัติสืบต่อกันมาอย่างเคร่งครัด เช่น ความเป็นคนจีน เราก็มีประเพณีที่เหนียวแน่นกว่าภาคอื่น ฉะนั้นการที่รัฐบาลเปิดโอกาสให้มีความเสมอภาค มีวันหยุดทั้งไทย รายอ และตรุษจีน ถือว่าเป็นการให้ความเคารพต่อวัฒนธรรมที่มีความแตกต่างและหลากหลาย เชื่อว่าแนวคิดแบบนี้จะทำให้พื้นที่สงบสุข" นายประยูรเดช ระบุ
ข้าราชการใน จ.นราธิวาส รายหนึ่ง มองต่างมุมว่า เมืองไทยมีวันหยุดเยอะเกินไปแล้ว นี่ยังมาประกาศหยุดเพิ่มอีก จึงเป็นเรื่องตลก เชื่อว่าการประกาศวันหยุดเพิ่มไม่ได้แก้ปัญหาอะไรเลย
"ถ้าถามผม บอกได้เลยว่ารู้สึกเฉยๆ และกลับมีความรู้สึกว่าสองมาตรฐานมากกว่า เพราะประกาศให้คนจีนใน 3-4 จังหวัดภาคใต้เท่านั้น ทั้งๆ ที่คนจีนมีอยู่ทั่วประเทศ ถ้าจะให้เสมอภาคจริงก็ต้องให้ทั้งหมด และถ้าจะให้เราอยู่ดีกินดี สงบสุข ต้องไปแก้เรื่องความปลอดภัยและอาชีพ ถ้าแก้เรื่องนี้ได้จะดีขึ้น ภาพความสงบสุขในอดีตจะกลับมา แต่ถ้าแก้ไม่ได้ สถานการณ์ก็จะอยู่อย่างนี้ไปเรื่อยๆ ฉะนั้นถ้ารัฐบาลมีความจริงใจที่จะแก้ปัญหาจริงๆ ก็จงไปแก้ให้ตรงจุด มาแก้อย่างนี้จะยิ่งทำให้ชาวบ้านเดือดร้อนและแตกแยกมากขึ้นไปอีก"
สำหรับพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่มีคนไทยเชื้อสายจีนอาศัยอยู่อย่างหนาแน่น คือ อ.เมืองยะลา อ.เมืองปัตตานี และ อ.เบตง จ.ยะลา โดยอำเภอเหล่านี้ในช่วงเทศกาลตรุษจีนจะมีการจัดงานเฉลิมฉลองด้วย ที่โด่งดังที่สุดคืองานสมโภชเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว
กังขา "สงขลา" หลุดโผ
นายอนุศาสน์ สุวรรณมงคล สมาชิกวุฒิสภา และผู้บริหารโรงแรมซี.เอส.ปัตตานี กล่าวว่า ประเด็นนี้เป็นเรื่องละเอียดอ่อน มีทั้งด้านบวกและด้านลบ ส่วนตัวเห็นว่า ครม.ควรพิจารณาอย่างถี่ถ้วนก่อนประกาศ น่าจะตั้งหลักว่านโยบายที่ออกมาต้องเป็นประโยชน์ต่อคนส่วนรวมทั้งประเทศ เหมือนมาเลเซียที่ให้ความเสมอภาคกันอย่างแท้จริงในทุกศาสนา
"ผมคิดว่าการประกาศใช้เฉพาะ 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้โดยขาด จ.สงขลา ทำให้พี่น้องชาวสงขลามีข้อกังขาอยู่เหมือนกันว่าทำไมไม่เป็นทั้ง 5 จังหวัด เพราะเป็นที่ทราบกันดีว่าใน จ.สงขลา มีชาวไทยเชื้อสายจีนจำนวนมาก โดยเฉพาะในพื้นที่ อ.เมือง กับ อ.หาดใหญ่ ขณะที่การกำหนดพื้นที่พัฒนาพิเศษของ ศอ.บต.ก็กำหนด 5 จังหวัด รวมทั้งพื้นที่ความรับผิดชอบของ ศอ.บต.ตามกฎหมายการบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วย และการบังคับใช้กฎหมายพิเศษก็บังคับใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และ 4 อำเภอของ จ.สงขลา แต่พอเป็นเรื่องวันหยุดกลับไม่มี จ.สงขลา จึงคิดว่าเป็นเรื่องแปลก"
นายอนุศาสน์ กล่าวด้วยว่า อยากให้รัฐบาลพิจารณาอย่างรอบคอบอีกครั้ง ไม่ควรรีบประกาศเพื่อให้เป็นประเด็นที่เอื้อต่อในพื้นที่นี้เท่านั้น ต้องคำนึงถึงความรู้สึกของคนในภูมิภาคอื่นด้วย
-----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ :
1-2 เทศกาลตรุษจีนที่ จ.ปัตตานี กับงานสมโภชเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว
3 ประเพณีชักพระ
4 มุสลิมแจกทานแก่เด็กๆ ในวันรายอ (ภาพทั้งหมดโดย อับดุลเลาะ หวังหนิ)