โชว์ผลงาน ACT ตรวจทุจริตจัดซื้อจัดจ้างรัฐ ประหยัดเงินได้กว่าหมื่นล.
ความสำเร็จของโครงการต่างๆ จะเกิดขึ้นได้ หากผู้นำขององค์กรนั้นมีความเข้าใจเกี่ยวกับข้อตกลงคุณธรรมและให้ความร่วมมือดี โครงการก็จะประสบความสำเร็จดี
ดร.มานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอรัปชั่น(ประเทศไทย) ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวอิศรา ถึงประเด็นการเตรียมส่งผู้สังเกตการณ์เข้าไปร่วมตรวจสอบความโปร่งใสโครงการลงทุนภาครัฐและรัฐวิสาหกิจในปีงบประมาณ 2560 จำนวน 9 โครงการ มูลค่ารวม 6-7 หมื่นล้านบาท ตามข้อตกลงคุณธรรมว่า การจัดส่งผู้ทรงคุณวุฒิเข้าไปสังเกตการณ์ในโครงการต่างๆ นั้น บุคคลเหล่านี้จะต้องเป็นผู้ที่มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับโครงการ มีความรู้ความเข้าใจด้านเศรษฐศาสตร์ ไม่มีประวัติการกระทำทุจริต ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆ กับธุรกิจที่จะเข้าไป
“ทุกคนที่ได้ขึ้นบัญชีเข้าร่วมโครงการจะต้องผ่านการฝึกอบรมในหลายขั้นตอน ก่อนที่จะเข้าไปปฏิบัติหน้าที่ได้ เพียงแต่ตอนนี้ยังไม่ได้ระบุตัวว่า ใครจะประจำโครงการไหน คงต้องรอให้หน่วยงานที่รับผิดชอบโครงการนั้นแจ้งยืนยันว่า พร้อมเเล้วจะเริ่มดำเนินงาน ถึงจะสามารถส่งคนเข้าไปได้”
ดร.มานะ กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมาในปี 2558-2559 มีทั้งหมด 26 โครงการที่ทางองค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น ส่งผู้สังเกตการณ์ข้าไปร่วม โดยแต่ละโครงการจะมีผู้สังเกตการณ์ 3-5 คน
“ประสบการณ์อย่างหนึ่ง คือ เมื่อเริ่มดำเนินงาน ผู้สังเกตการณ์บางคนเห็นว่า ตัวเองมีอะไรบ้างอย่างที่เกี่ยวข้องกับโครงการ เช่น มีญาติที่อยู่ในโครงการ ก็จะประกาศตัวเองเลยว่า อาจจะเกิดผลประโยชน์ทับซ้อน และขอไม่ปฏิบัติหน้าที่ในงานนั้นๆ ซึ่งตรงนี้เป็นเครื่องพิสูจน์อย่างหนึ่งว่า ผู้ทรงคุณวุฒิของเราตระหนักดีว่า ภารกิจของพวกเขาคืออะไร ความรับผิดชอบของตัวเองคืออะไร เพื่อให้ทุกไว้วางใจ” เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่นฯ กล่าว และว่า การเข้ามาทำหน้าที่ในแต่ละโครงการนั้น จึงไม่ใช่การไปสร้างปัญหาเพิ่มเติม
สำหรับจำนวนโครงการที่ได้รับการเรียกร้องให้องค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น ส่งผู้สังเกตการณ์เข้าไป เพื่อดำเนินโครงการข้อตกลงคุณธรรมนั้น ดร.มานะ กล่าวว่า มีมากกว่านี้ ซึ่งพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เคยบอกว่า ขอให้ส่งคนทุกโครงการได้ไหม ต้องออกตัวว่า เป็นไปไม่ได้ ที่ผ่านมาเราเลือกเฉพาะโครงการขนาดใหญ่ๆ เช่น ระบบสาธารณูปโภค ทำถนน ทำรถไฟ พวกจัดซื้อระดับพันล้านบาท หรือโครงการที่ประชาชนไม่ไว้วางใจ เช่น ตอนนี้คนจับตาเรื่องที่เกี่ยวกับกรุงเทพฯ หรือเกี่ยวกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ดังนั้น จำนวนคนเท่าที่มีอยู่ประมาณ 150 ยังไม่เพียงพอ ถ้าเรามีอาสาสมัครมากขึ้น มีคนมาร่วมมากขึ้น คงสามารถส่งคนเข้าไปตามโครงการต่างๆ ได้มากขึ้น แต่คงต้องอาศัยระยะเวลา
“ขณะนี้ได้รับการติดต่อให้ความร่วมมือจากสมาคมวิชาชีพต่างๆ ที่จะส่งคนของตัวเอง ตามคุณสมบัติที่เรากำหนดเข้ามาร่วม สังเกตการณ์ และคาดว่าในอนาคตจะเพิ่มขึ้นมาเรื่อยๆ”
เมื่อถามถึงผลลัพธ์การทำงานที่ผ่านมา ดร.มานะ กล่าวด้วยว่า ในทุกโครงการที่เราเข้าไป อย่างหนึ่งที่เป็นเครื่องยืนยันคือ ทำให้ผู้ปฏิบัติงานมีความมั่นใจมากขึ้นว่า งานจะดำเนินการไป และไม่ส่งผลย้อนหลังตามมา นอกจากนี้ความสำเร็จของโครงการต่างๆ จะเกิดขึ้นได้ หากผู้นำขององค์กรนั้นมีความเข้าใจเกี่ยวกับข้อตกลงคุณธรรมและให้ความร่วมมือดี โครงการก็จะประสบความสำเร็จดี เช่น กรณีโรงงานยาสูบที่ย้ายไปสร้างในพื้นที่ จ.อยุธยา ผู้อำนวยการโรงงานยาสูบเป็นผู้ติดต่อเข้ามาให้ทางเราส่งคนไป เพราะฉะนั้นการดำเนินงานของที่นี่ คือ 1.รวดเร็ว 2.สามารถประหยัดงบประมาณไป 27.7% นั่นคืองบประมาณในการจัดซื้อ จากเดิมโครงการวางแผนมีการตั้งงบประมาณไว้ค่อนข้างสูง แต่ตอนสุดท้ายจัดซื้อจริงๆ ราคากลับได้ถูกกว่าที่ประเมินเอาไว้ครั้งแรก ถึง 27.7%
“นอกจากนี้ในหลายๆ โครงการที่ทำอยู่แม้จะยังไม่เสร็จสิ้น แต่ทำให้ทุกคนเกิดความมั่นใจ ซึ่งจะช่วยให้โครงการฯเหล่านี้ เร็วขึ้น กรณี ขสมก. เองที่มีปัญหายืดเยื้อในการจัดซื้อ แต่จากฐานราคาที่มีการประมูลที่ผ่านมา คาดว่าจะทำให้รัฐประหยัดเงินในการจัดซื้อประมาณ 30%”
ดร.มานะ มองด้วยว่า หากทุกๆ โครงการจัดซื้อของประเทศ รวมๆ กันกว่า 5-7 แสนล้านบาท ถ้าประหยัดไปได้แค่ 10% ก็จะราว 5-6 หมื่นล้านบาท หรือถ้าได้ 20% เราก็จะประหยัดได้กว่าแสนล้านบาท ซึ่งเรื่องนี้ถือเป็นประโยชน์ที่คนไทยควรได้รับ และถือเป็นผลจากการเฝ้าสังเกตตรวจสอบ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง