ระบบแอดมิชชั่นใหม่ แค่ตัดปัญหาเด็กวิ่งรอกสอบ
ที่ดีขึ้นมาหน่อยตามที่คิดจะแก้ไข คือลดการวิ่งรอกสอบของเด็กเท่านั้นเอง แต่การเปิดประเด็นไว้ว่า หากมหาวิทยาลัยมีเหตุผลพิเศษจริงๆ ก็ให้สามารถทำได้นั้น ยังเป็นเรื่องที่น่าวิตกสำหรับสังคมไทย
ดร.ภาวิช ทองโรจน์ อดีตประธานที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) แสดงความเห็นเกี่ยวกับ ระบบการสอบคัดเลือกเข้ามหาวิทยาลัยระบบใหม่ ที่เสนอโดย ทปอ.
สืบเนื่องจากการที่ เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม นพ.กำจร ตติยกวี ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยภายหลังหารือร่วมกับผู้บริหารสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) และผู้แทนจากที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) เรื่องระบบการคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษา โดยมี พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการ ศธ. เป็นประธาน ว่า ที่ประชุมหารือถึงแนวคิดในการรับนักเรียนเข้าศึกษาต่อในสถาบันอุดมศึกษา ซึ่งมีการอภิปรายถึงระบบปัจจุบัน ที่ทำให้เด็กต้องวิ่งรอกสอบ รวมถึงปัญหาความเหลื่อมล้ำ ซึ่งเด็กที่มีฐานะดีจะมีโอกาสสูงกว่าเด็กที่มีฐานะด้อยกว่า ที่ประชุมมีข้อสรุปว่าจะต้องมีการปรับระบบการรับนักเรียนเข้าศึกษาต่อในสถาบันอุดมศึกษา ในปีการศึกษา 2561 เนื่องจากปีการศึกษา 2560 มหาวิทยาลัยได้มีการประกาศปฏิทินการจัดสอบไปแล้ว โดยระบบใหม่จะจัดช่วงเวลาการสอบเพื่อนำคะแนนไปใช้ในการเข้าเรียนในสถาบันอุดมศึกษา หลังเด็กได้เรียนจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 แล้ว ซึ่งจะอยู่ประมาณกลางเดือนมีนาคม
และหลังจากนั้นจะเปิดมหกรรมการสอบทั้งการสอบวิชาความถนัดทั่วไป (GAT) การสอบวิชาความถนัดทางวิชาการ/วิชาชีพ (PAT) และการสอบวิชาสามัญ 9 วิชาซึ่งเป็นวิชาที่ใช้ในการสอบเข้ามหาวิทยาลัย โดยจะใช้เวลาในการจัดสอบวิชาต่างๆ ประมาณ 6 สัปดาห์-2 เดือน โดยที่จะไม่ยอมให้มีการเปิดสอบรับตรงนอกห้วงเวลานี้ เพื่อลดปัญหาการวิ่งรอกสอบ
นพ.กำจร กล่าวต่อว่า หลังจากเด็กทราบคะแนนของตนเองแล้ว จะเปิดให้เด็กเลือกสาขาวิชาที่ต้องการเข้าเรียนได้ 4 อันดับ เมื่อเด็กเลือกแล้ว มหาวิทยาลัยจะคัดเลือกเด็กตามลำดับคะแนน และแจ้งผลการคัดเลือกกลับมาที่ส่วนกลางเพื่อเข้าสู่ระบบเคลียริ่งเฮาส์ ซึ่งจะมีทั้งหมด 2 รอบ โดยรอบแรก เมื่อเด็กยื่นคะแนนไปยังมหาวิทยาลัยแล้ว มหาวิทยาลัยจะส่งชื่อเด็กที่ผ่านการคัดเลือกเข้าระบบเคลียริ่งเฮาส์ และแจ้งกลับไปยังเด็กว่าได้รับการคัดเลือกกี่แห่ง และจะเลือกเรียนตามลำดับที่สอบได้หรือไม่ ซึ่งหากเด็กยังไม่พอใจในคณะ/สาขาที่สอบได้ ก็สามารถนำคะแนนไปเข้าในระบบเคลียริ่งเฮาส์รอบที่ 2 ได้ ทั้งนี้ หากเด็กเลือกเข้าเรียนในคณะที่สอบได้ในรอบแรกแล้วจะถูกตัดสิทธิออกจากการเคลียริ่งเฮาส์รอบที่ 2 ทันที และหากเดินหน้าใช้ระบบรับตรงกลางร่วมกันจะไม่อนุญาตให้มหาวิทยาลัยไปเปิดรับตรงเอง หากจะให้เปิดรับก็ต้องมีเหตุผลที่ดีมาชี้แจงให้รัฐมนตรีว่าการ ศธ.รับทราบ
“การรับเด็กในระบบนี้จะเรียกว่า การรับตรงกลางร่วมกัน ซึ่งจะให้เด็กสอบรอบเดียว แต่สามารถนำคะแนนมาเข้าสู่ระบบเคลียริ่งเฮาส์ได้ 2 รอบ ซึ่งคิดว่าจะสามารถรับเด็กเข้าเรียนได้ประมาณ 90% ส่วนที่เหลืออีก 10% เด็กสามารถไปสมัครเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยที่ยังมีที่นั่งว่างได้โดยตรงอีกครั้งหนึ่ง ดังนั้น อนาคตก็ไม่จำเป็นต้องมีระบบการคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาต่อในสถาบันอุดมศึกษาด้วยระบบกลาง การรับนิสิตนักศึกษา หรือแอดมิสชั่นส์กลางอีกต่อไป
ทั้งนี้ อาจจะดูเหมือนกลับไปทำระบบคล้ายกับเอ็นทรานซ์ แต่ระบบนี้เด็กจะรู้คะแนนล่วงหน้า เมื่อรู้คะแนนของตัวเอง เด็กก็จะสามารถประมาณตนได้ว่าจะไปแข่งกับใคร ในหลักสูตรใด”
ในความเห็น ดร.ภาวิช ระบุว่า ระบบ clearing house 2 รอบที่เสนอ เหมือนระบบของ UCAS ของอังกฤษ แต่ต่างกันที่ของเขาใช้ผลการเรียนทั้งหมด ไม่มีการสอบใหม่
ส่วนระบบการสอบเอาคะแนนไว้ก่อนแล้วมาเลือกที่เรียนทีหลังก็เหมือนระบบที่ประเทศไทยเคยใช้เมิ่อประมาณปี 2540 แต่ช่วงนั้นให้เลือกได้ครั้งเดียว ถ้าให้เลือกได้สองครั้งแบบที่เสนอก็จะดีขึ้น
แต่ข้อเสียของระบบที่เสนอนี้ คือ ถ้าไม่เอาผลการเรียนเข้ามาเป็นองค์ประกอบด้วย เด็กก็จะไม่สนใจห้องเรียน โดยจะทิ้งการเรียนเหมือนเดิม การกวดวิชา 9 วิชากับ GAT, PAT ก็จะยิ่งเข้มข้นยิ่งขึ้น โรงเรียนกวดวิชายิ้มแน่นอน และข้อหาที่ว่า ระบบการสอบเข้ามหาวิทยาลัยทำลายการศึกษาขั้นพื้นฐานก็ยังไม่ได้รับการแก้ไข ซ้ำร้ายอาจรุนแรงกว่าเดิม
ข้อหาที่ว่าระบบการสอบเข้ามหาวิทยาลัย ทำลายระบบการศึกษาขั้นพื้นฐานนั้น มีในสังคมไทยอย่างต่อเนื่องมาเป็นเวลานานแล้ว ปรัชญาของระบบการศึกษาขั้นพื้นฐานคือการสร้างคนให้มีความรู้เพียงพอที่จะเป็นจะเป็นองค์ประกอบของสังคมได้อย่างมีคุณภาพ คุณภาพการศึกษาขั้นพื้นฐานจึงเป็นส่วนบ่งชี้ความเข้มแข็งของสังคมประเทศต่างๆ หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานจึงจะต้องมีองค์รวมที่บูรณาการศาสตร์ทุกด้าน
แต่เมื่อนักเรียนส่วนหนึ่งมุ่งเข้าสู่มหาวิทยาลัยอันเป็นเป้าหมายระดับสำคัญในชีวิต และมหาวิทยาลัยกำหนดเงื่อนไขในการคัดเลือกโดยใช้การแข่งขันทางวิชาการซึ่งอาจกำหนดขอบเขตโดยเอาเพียงบางวิชาที่สาขาวิชาต่างๆ ในมหาวิทยาลัยกำหนด โดยอ้างว่าเป็นความจำเป็นสำหรับการไปเรียนต่อ นักเรียนที่มุ่งเข้าในสาขาใดก็จะเน้นการเรียนเฉพาะวิชาที่จะใช้ในการแข่งขัน เมื่อเป็นเช่นนั้นเราก็จะได้คนที่เข้ามหาวิทยาลัยที่ไม่มีความรู้ในองค์รวมอย่างเพียงพอ มีความขาดแหว่งของวิชาการที่ควรมี
ที่สำคัญคือเมื่อคนเหล่านี้จะสำเร็จไปเป็นบัณฑิตที่จะเป็นคนชั้นนำในสังคม เราก็จะมีสังคมที่พร่องไปในความรู้รอบ
นอกไปจากนั้น การเน้นเฉพาะรายวิชาที่เห็นว่า จำเป็นของคณะวิชาต่างๆ ยังอาจนำมาซึ่งขัอเสียอื่นคือการไปสร้างความอ่อนแอทางวิชาการเมื่อเปรียบเทียบกับแนวโน้มนานาชาติ เช่น ในการเลือกเข้าสาขาวิชาวิศวกรรมศาสตร์ในบ้านเราจะเน้นเพียง 4 วิชาหลักๆ มานานแล้ว ได้แก่ คณิตศาสตร์ ฟิสิคส์ เคมี และภาษาอังกฤษ แต่ไม่เน้นชีววิทยา ในขณะที่แนวโน้มวิชาการของโลกในปัจจุบันมุ่งสู่วิทยาการระดับโมเลกุล ซึ่งมีชีววิทยาเป็นสาขาหลัก
"ในอดีตมาถึงปัจจุบันเราจึงมีวิศวกรที่อ่อนด้านชีววิทยา ซึ่งอาจกลายเป็นอุปสรรคในการพัฒนาเทคโนโลยีสำหรับอนาคต ประเด็นนี้จึงเป็นข้อเสียอีกแง่หนึ่งของระบบการคัดเลือกเข้ามหาวิทยาลัยที่ใช้กันมาในประเทศไทยและที่กำลังถูกนำเสนออยู่ขณะนี้"
ที่ดีขึ้นมาหน่อยตามที่คิดจะแก้ไขนี้คือลดการวิ่งรอกสอบของเด็กเท่านั้นเอง แต่การเปิดประเด็นไว้ว่า หากมหาวิทยาลัยมีเหตุผลพิเศษจริงๆ ก็ให้สามารถทำได้นั้น ยังเป็นเรื่องที่น่าวิตกสำหรับสังคมไทย เพราะมหาวิทยาลัยก็จะหาเหตุผลขึ้นมาได้เสมอ เพราะการที่มีการสอบตรงในปัจจุบันก็เป็นอ้างเหตุผลพิเศษทั้งหลายที่ไปสรรหากันมาอ้างนั่นแหละ