พลิกปูม ‘โพแทช’ เกลือใต้ดินที่อีสาน ก่อน รมว.อุตฯยกคณะดูของจริง 2 บ.สัมปทาน
การให้ข้อมูลเพื่ออธิบายถึงผลดี-ผลเสียที่เกิดขึ้นอย่างชัดเจน การปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ และการเฟ้นหาเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาช่วยในการบริหารจัดการเหมืองแร่ จะช่วยลดผลกระทบที่เกิดขึ้นให้มากที่สุดและพัฒนาอุตสาหกรรมเหมืองแร่ได้
ประเทศไทย เป็นหนึ่งในประเทศที่มีปริมาณสำรองโพแทชจำนวนมหาศาล โดยเฉพาะโพแทซใต้ดินในพื้นที่ภาคอีสาน มีอยู่ประมาณ 4 แสนล้านตัน นับเป็นแหล่งใหญ่ที่สุดในเอเชีย และอาจจะใหญ่ที่สุดในโลกก็ว่าได้ (อ่านประกอบ:เปิดแหล่งแร่โพแทซ 42 แห่ง 10 จังหวัดพื้นที่ภาคอีสาน)
โครงการเหมืองแร่โพแทชอีสาน มีความพยายามผลักดันต่อเนื่องยาวนานโครงการหนึ่ง ก่อนพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) แร่ พ.ศ.2545 มีผลบังคับใช้ ขณะที่ประชาชนในท้องถิ่นก็หวั่นถึงผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมมานานมาก
จนมาปี 2558 รัฐบาล คสช.มีการออกใบอนุญาตเหมืองแร่โพแทชฉบับแรกของไทยให้ กับ บริษัท เหมืองแร่โพแทช อาเซียน จำกัด (มหาชน) อ.บำเหน็จณรงค์ จ.ชัยภูมิ ไปแล้ว 9,700 ไร่
เหมืองแร่โพแทชอาเซียนฯ จะเริ่มผลิตปุ๋ยโพแทชได้ในปี 2562 ผลิตโพแทชด้วยวิธีการทำเหมืองใต้ดินแบบห้องสลับเสาค้ำยัน (Rooms and Pillars) และแต่งแร่ด้วยวิธีการตกผลึกร้อน (Hot Crystallization) มูลค่าการลงทุนประมาณ 40,000 ล้านบาท โดยสามารถผลิตปุ๋ยโพแทสเซียมคลอไรด์ (KCl) ได้ประมาณ 1.1 ล้านตันต่อปี คิดเป็นมูลค่ากว่า 10,000 ล้านบาทต่อปี
และตลอดระยะเวลา 25 ปี จะสามารถผลิตปุ๋ยได้ประมาณ 17.33 ล้านตัน
ต่อมาเดือนกรกฎาคม 2558 กระทรวงอุตสาหกรรม ได้อนุญาตประทานบัตรการทำเหมืองแร่โพแทช แห่งที่ 2 ให้กับ บริษัทไทยคาลิ จำกัด ตั้งอยู่ต.หนองไทร หนองบัวตะเดียด และโนนเมืองพัฒนา อ.ด่านขุนทด จ.นครราชสีมา รวมเนื้อที่ประมาณ 9 พันไร่ กำลังการผลิต 1 แสนตันต่อปี
ปัจจุบัน การดำเนินโครงการเหมืองแร่โพแทชทั้ง 2 โครงการนี้ ผ่านขั้นตอนการดำเนินการคำขอประทานบัตรของพื้นที่ และผ่านขั้นตอนการพิจารณาของกระทรวงอุตสาหกรรมเรียบร้อยแล้ว คงเหลือขั้นตอนการตรวจเปิดการประกอบการ
ขณะที่ช่วงปลายสัปดาห์นี้ ผู้บริหารกระทรวงอุตสาหกรรม ทั้งนางอรรชกา สีบุญเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม และนายชาติ หงส์เทียมจันทร์ อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) มีกำหนดจะลงพื้นที่สำรวจการดำเนินงานของสถานประกอบการเหมืองแร่โพแทชที่ได้รับประทานบัตร ทั้ง 2 แห่ง ที่จังหวัดนครราชสีมา และชัยภูมิ
มีข้อมูลจากกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ ระบุถึงผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจที่เกิดจากการพัฒนาอุตสาหกรรมเหมืองแร่โพแทช มีทั้ง
- ผลประโยชน์โดยตรงอันเกิดจากการลงทุน และประกอบกิจการเหมืองแร่โพแทช ทำให้เกิดการจ้างงาน รัฐ ท้องถิ่นมีรายได้จากการเก็บภาษี รวมถึงกระตุ้นให้เกิดการเติบโตทางเศรษฐกิจ
- ผลประโยชน์ที่เกิดจากการนำแร่โพแทช ที่ได้ไปใช้ผลิตปุ๋ยเคมีเพื่อใช้ในการเกษตร ซึ่งพบว่า การผลิตโพแทชมากกว่าร้อยละ 90 นำไปใช้เป็นวัตถุดิบสำหรับทำปุ๋ยเคมีบำรุงพืช
รวมถึงผลประโยชน์จากการนำแร่โพแทชไปใช้เป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมต่อเนื่อง เช่น สบู่ แก้ว สีย้อมผ้า
ปัจจุบันไทยต้องนำเข้าโพแทชเพื่อใช้ในอุตสาหกรรมผลิตปุ๋ย แม้จะมีปริมาณสำรองแร่โพแทชในประเทศค่อนข้างสูง แต่ยังไม่เคยมีการขุดมาใช้ เนื่องจากเกิดแรงต่อต้านค่อนข้างรุนแรง ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) ได้เคยวิเคราะห์ โพแทชคืออะไร? ความสำคัญ ผลกระทบ และอนาคตธุรกิจเหมืองโพแทชในไทย ไว้ว่า
แร่โพแทชนำมาใช้ในอุตสาหกรรมผลิตปุ๋ยเป็นหลัก โดยเป็นวัตถุดิบในการผลิตปุ๋ย โพแทสเซียม ซึ่งเป็นหนึ่งในสามธาตุอาหารหลักของพืชผลที่ใช้ในการเพิ่มคุณภาพผลผลิตและป้องกันโรคและแมลง ดังนั้น การขยายตัวของประชากรทั่วโลกซึ่งส่งผลต่อความต้องการ
ด้านพืชผลทางการเกษตรทำให้ปริมาณความต้องการแร่โพแทชยังสูงต่อเนื่อง โดยมีแคนาดาเป็นตลาดส่งออกหลัก และมีภูมิภาคเอเชียเป็นจุดศูนย์กลางของตลาดนำเข้าหลักของโลก ในขณะที่ไทยเป็นผู้นำเข้าสูงเป็นอันดับที่ 5 ของทวีปเอเชีย
หากไทยสามารถพัฒนาอุตสาหกรรมเหมืองแร่โพแทชภายในประเทศเพื่อลดการนำเข้าได้จะช่วยลดต้นทุนให้แก่ภาคเกษตรและอุตสาหกรรมต่อเนื่อง
อย่างไรก็ดี แม้ไทยจะมีศักยภาพสูงในการพัฒนาเหมืองแร่โพแทช เนื่องจากมีจุดแข็งในด้านปริมาณสำรองและคุณภาพของแร่ ตลอดจนความเข้มแข็งของภาคเกษตรและธุรกิจอาหาร แต่ก็ต้องพิจารณาถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม ดังนั้น การให้ข้อมูลเพื่ออธิบายถึงผลดีและผลเสียที่เกิดขึ้นอย่างชัดเจน การปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ และการเฟ้นหาเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาช่วยในการบริหารจัดการเหมืองแร่ จะช่วยลดผลกระทบที่เกิดขึ้นให้มากที่สุดและพัฒนาอุตสาหกรรมเหมืองแร่ได้
ที่มาภาพ:ww.scbeic.com
ก่อนหน้านี้ นายสุวิทย์ กุหลาบวงษ์ เลขาธิการคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนภาคอีสาน(กป.อพช.อีสาน) เห็นว่า เราจำเป็นต้องให้ประชาชนเข้าใจก่อนว่า เมื่อมีเหมืองโพแทชแล้วนำไปสู่การพัฒนาที่ดีอย่างไร ต้องชาวบ้านเจ้าของพื้นที่มีส่วนร่วมตัดสินใจ มิเช่นนั้นอาจเกิดความขัดแย้งรุนแรงเหมือนกรณีชาวบ้านอุดรธานี
ขณะที่ ดร.ไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ อาจารย์ประจำคณะมนุษย์ศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม แสดงความเป็นห่วงผลกระทบประเด็นแรกของการขุดแร่โพแตชขึ้นมา จะทำให้เกิดการแพร่กระจายของดินเค็ม เพราะว่าโพแทชเป็นแร่เกลือ การที่จะขุดลงไปก็จะมีปัญหาในเรื่องของการปนเปื้อนของเกลือจะกระจายไป 2 ส่วน คือ น้ำใต้ดินและน้ำผิวดิน ทำให้ชาวนาที่ทำนาโดยรอบประสบปัญหา หรือว่าตามที่น้ำผิวดินไหลผ่านก็จะมีปัญหา
อย่างที่สองการทำเหมืองแร่โพแทชจะต้องขุดดินขึ้นมาจำนวนมาก ดินเหล่านี้ก็จะมีกากซึ่งไม่ได้นำไปใช้ ตรงนี้จะเป็นปัญหากับชาวบ้าน เพราะว่าพอขุดเสร็จก็จะเอามากองในปริมาณที่สูงมาก ๆ ซึ่งเมื่อฝนตกลงมาจะไปซึมตามน้ำใต้ดินและน้ำผิวดิน ในตอนที่ลมพัดแรงชุมชนที่อยู่ใต้ลมก็จะได้รับผลกระทบในเรื่องของสุขภาพ เพราะอากาศจะปนเปื้อนไปด้วยเกลือ ลมก็จะกลายเป็นลมเกลือ
“เป็นเรื่องที่ใหญ่มาก ๆ โครงการแบบนี้ประเทศเรายังไม่มีประสบการณ์ว่าจะทำโครงการแล้วจะเป็นอย่างไรอาจจะเกิดความเสี่ยงในเรื่องของดินทรุด การทำโครงการนี้ต้องอาศัยเทคนิคในการขุด เพราะแร่เหล่านี้เป็นแรที่ช่วยพยุงพื้นดินไว้ กรณีของสกลนครก็มีบางส่วนดินยุบลงไปเกิดจากการสูบน้ำเกลือจากใต้ดินมาต้มเกลือ ซึ่งทำให้แม่น้ำทั้งสายหายไป”
นักวิชาการจากม.มหาสารคาม ชี้ว่า การที่รัฐบาลมีโครงการจะขุดเหมืองแร่ควรที่จะมีการเปิดเวทีสาธารณะนั่งคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็น เพราะว่าข้อมูลเกี่ยวกับโครงการ EIA หรือ EHIA ก็อยู่ในมือของเจ้าของโครงการ ชุมชนไม่รู้ว่าจะเกิดไรขึ้น ดังนั้นความโปร่งใสเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุด และควรจะให้นักวิชาการเข้ามามีส่วนรวมในการแสดงความคิดเห็น ไม่ใช่ผูกขาดกับบริษัทใดบริษัทหนึ่ง เพราะการขุดเหมืองแร่โพแทชยังเป็นเรื่องใหม่ของสังคมไทย
“การที่มองแค่มุมเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียว โดยที่ไม่สนใจเรื่องของสังคมและสิ่งแวดล้อมที่จะส่งผลกระทบในระยะยาวอย่าง กรณีของเหมืองทองคำที่ชาวบ้านประสบปัญหาไร้ที่อยู่ ตราบใดที่เรายังไม่มีเทคโนโลยีที่เหมาะสมและกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนก็ยังไม่ควรทำ การตัดสินใจควรที่จะใช้ระบอบประชาธิปไตย แต่ตอนนี้เป็นระบอบแบบเผด็จการ จะมีชาวบ้านคนไหนมาบอกว่าไม่เห็นด้วยละ”
นี่คือข้อมูลพื้นฐาน นับจากนี้ต้องดูว่าภาครัฐจะบริหารจัดการและประเมินผลเชิงนโยบายอย่างไร?
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
เปิดหนังสือ "จักรมณฑ์" แจง "บิ๊กตู่" ทำไมต้องดันเหมืองแร่โพแทชสุดลิ่ม!
โพแทชคืออะไร? ความสำคัญ ผลกระทบ อนาคตธุรกิจเหมืองโพแทชในไทย
แล้วจะเหลือฐานทรัพยากรอะไรให้ปฏิรูป
ใบลาออก กก.อัคราไมนิ่ง"จักรมณฑ์"ก่อนนั่ง รมต.-ปั้นแผนสร้างเหมืองปลายปี 57