นักวิชาการแนะอาคารสูงกทม. ต้องออกแบบต้านแผ่นดินไหวขนาด 6.5- 7 ให้ได้
นักวิชาการสกว. ตั้งวงถก "แผ่นดินไหวในอิตาลี-เมียนมา: ผลกระทบต่อตึกสูง-โบราณสถานในประเทศไทย" ชี้อาคารสูงในกทม. ต้องออกแบบต้านแผ่นดินไหวให้ได้ขนาด 6.5- 7
วันที่ 25 สิงหาคม 59 สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) จัดแถลงข่าวเรื่อง "แผ่นดินไหวในอิตาลี-เมียนมา : ผลกระทบต่อตึกสูง-โบราณสถานในประเทศไทย" ณ ห้องประชุม 1 ชั้น 14 สกว. หลังจากเมื่อวันที่ 24 ส.ค. 59 ที่ผ่านได้เกิดเหตุแผ่นที่ไหวขนาด 6.8 ที่ประเทศเมียนมาร์ เมืองมัณฑะเลย์ ซึ่งแผ่นดินไหวครั้งนี้หลายจังหวัดในประเทศไทยสามารถรับรู้ถึงแรงสั่นสะเทือนได้ แม้จะห่างจากจังหวัดเชียงใหม่ประมาณ 500 กิโลเมตร และห่างจากกรุงเทพฯ ประมาณ 1 พันกิโลเมตร รวมทั้งในหลายพื้นที่ของประเทศบังคลาเทศ สร้างความกังวลถึงผลกระทบของแผ่นดินไหวของทั้ง 2 เหตุการณ์ว่าอาจมีความเชื่อมโยงและอาจส่งผลกระทบกับไทย ขณะที่แผ่นดินไหวทางตอนกลางของประเทศอิตาลี ทำให้มีอาคารบ้านเรือนพังถล่ม มีผู้เสียชีวิต และบาดเจ็บเป็นจำนวนมาก
ผศ.ดร.ภาสกร ปนานนท์ ภาควิชาวิทยาศาสตร์พื้นพิภพ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวถึงสาเหตุที่ประเทศอิตาลีเกิดแผ่นดินไหวรุนแรงเกิดจากภูมิประเทศมีการชนกันของเปลือกโลกบ่อย อีกทั้งบ้านเรือนส่วนใหญ่ในพื้นที่อยู่ตามหุบเขา ซึ่งโครงสร้างไม่แข็งแรงทำให้ความเสียหายรุนแรงกว่าเดิม และการเกิดแผ่นดินไหวครั้งนี้ถือว่า เกิดตื้นมาก คือ ลึกลงไป 10 กิโลเมตรเท่านั้นทำให้ทวีความรุนแรงขึ้นไปอีก
"นี่คือแผ่นดินไหวขนาด 6.2 ที่เกิดกับประเทศที่เจริญแล้ว ยังมีคนเสียชีวิตมากขนาดนี้ต้องบอกว่า เราโชคดีมากที่แผ่นดินไหวในความรุนแรงเดียวกันเกิดที่เชียงรายเมื่อ 2 ปีที่แล้วมีผู้เสียชีวิต1-2 รายเท่านั้น ซึ่งเป็นความโชคดีตรงที่แผ่นดินไหวเกิดห่างจากตัวเมือง ถ้าเกิดใกล้ตัวเมืองกว่านี้อีกนิดเดียวจะเกิดผลอย่างมหาศาล"
ในส่วนของแผ่นดินไหวที่เมียนมา ผศ.ดร.ภาสกร กล่าวว่า จะไม่ส่งผลกระทบต่อรอยเลื่อนของประเทศไทย เพราะขนาดแผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นไม่ได้ใหญ่มากและเกิดค่อนข้างไกลจากรอยเลื่อนหลักๆในประเทศไทย 4-500 กิโลเมตร เพราะฉะนั้นพลังงานที่จะส่งมาถึงประเทศไทยมีน้อยมากจนไม่สามารกระตุ้นให้เกิดแผ่นดินไหวในไทยได้ แต่สิ่งหนึ่งที่เราไม่ทราบ คือ รอยเลื่อนในประเทศไทยสะสมพลังงานไปแค่ไหนแล้ว และจะถึงจุดแตกหรือระเบิดหรือยัง เพราะฉะนั้นเราต้องศึกษา
ผศ.ดร.ภาสกร กล่าวถึงรอยเลื่อนที่น่ากังวลว่าจะทำให้เกิดแผ่นดินไหวในประเทศไทย คือ แนวรอยเลื่อนสะแกง ซึ่งเป็นแนวรอยเลื่อนที่เกิดแผ่นไหวมาตลอดมีความแรงสูงสุด 7-8 เป็นข้อมูลที่กรมธรณีของเมียนมาร่วมกับไทยทำขึ้น
"เกือบทุกครั้งเราโชคดีมากตลอดเพราะเกิดห่างไกลจากชุมชน ประเทศไทยกำลังรับมือแผ่นดินไหวอยู่บนความโชคดี ซึ่งไม่รู้จะโชคดีอีกนานแค่ไหน เพราะฉะนั้นเราควรสร้างองค์ความรู้เกี่ยวกับเรื่องแผ่นดินไหวประกอบด้วย"
ด้านผศ.ดร.ฉัตรพันธ์ จินตนาภักดี ภาควิชาวิศวกรรมโยธา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมาก็เกิดเหตุแบบนี้บ่อยครั้งนั่ นหมายความว่าประเทศไทยมีโอกาสเกิดผลกระทบจากแผ่นดินไหวได้ในบริเวณที่ใกล้รอยเลื่อน เหตุการณ์รุนแรงเช่นนี้อาจเกิดได้อีกในภาคเหนือของไทย และหากเกิดในบริเวณในตัวเมืองจะรุนแรงกว่าครั้งที่เกิดที่เชียงราย อ.แม่ลาว และอ.พาน เมื่อ 5 พ.ค. 2557
สำหรับตัวอาคารที่จะสามารถต้านทานแรงแผ่นดินไหวได้ดีนั้น อาจารย์จากภาควิชาวิศวกรรมโยธา จุฬาฯ กล่าวว่า ต้องมีการออกแบบอย่างถูกวิธี ต้องมีองค์อาคารที่ใช้ต้านทานแรงด้านข้าง เช่น มีเสาที่ใหญ่เพียงพอ กำแพงเสริมเหล็ก มีการเสริมเหล็กปลอกที่ทำให้คอนกรีตมีความเหนียว หลีกเลี่ยงอาคารรูปทรงไม่ปกติ เช่น อาคารที่รูปทรงไม่สมมาตรจากแผ่นดินไหวในเมียนมา เห็นได้ว่าอาคารสูงอาจได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหวที่อยู่ไกลมากได้ ซึ่งคลื่นที่มาจากระยะไกลจะมีความถี่ต่ำและคาบยาว ทำให้อาคารสูงตอบสนองมากกว่าอาคารเตี้ย
“อาคารสูงในกทม. จึงต้องออกแบบให้สามารถต้านทานแผ่นดินไหวจากเหตุการณ์ที่เป็นไปได้ต่างๆ คือ ขนาดประมาณ 6.5 ถึง 7 จากกาญจนบุรี และแผ่นดินไหวขนาด 7.5 ถึง 8 จากรอยเลื่อนใหญ่ ในประเทศเมียนมา การความเตรียมพร้อมในการเกิดแผ่นดินไหว โดยปัจจุบันมีกฎหมายและมาตรฐานบังคับให้การออกแบบและก่อสร้างอาคารสาธารณะและอาคารสูง ในจังหวัดที่มีความเสี่ยง เช่น ภาคเหนือ กทม. และกาญจนบุรี ต้องต้านทานแผ่นดินไหว ซึ่งการออกแบบสร้างอาคารต่างๆ วิศวกรและผู้ก่อสร้างควรปฎิบัติตามกฎหมายและข้อกำหนดทางวิศวกรรมอย่างเคร่งครัด”
ขณะที่ดร.ธีรพันธ์ อรธรรมรัตน์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า แผ่นดินไหวเมียนมาห่างจากรอยเลื่อนต่างไทย ประมาณ 4,000 -5,000 กิโลเมตร ซึ่งข้อมูลคลื่นที่วัดได้ในประเทศไทยพบว่าอาคารสูงรับรู้การสั่น แต่โชคดีไม่มีความเสียหาย เนื่องจากเป็นแผ่นดินไหวลึก ซึ่งถ้าเทียบกับแผ่นดินไหวที่เชียงรายเมื่อปี 2556 ครั้งนี้ถือว่าการรับรู้ของอาคารสูงในกรุงเทพฯ รับแรงสั่นไหวมากกว่าเล็กน้อย
ด้าน รองศาสตราจารย์ ดร.นคร ภู่วโรดม คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า การอนุรักษ์โบราณสถาน เรามักพบปัญหาต่าง ๆ เช่น ขาดข้อมูลในการตัดสินใจวางแผน ไม่รู้ข้อมูลของโบราณสถานว่า โครงสร้างเป็นอย่างไร ขนาดเท่าไหร่ มีรอยร้าวตรงไหนบ้าง ขาดข้อมูลด้านวัสดุ ไม่รู้ว่าวัสดุที่จะนำใช้ในการบำรุงโบราณสถานเป็นวัสดุอะไร ส่วนปัจจัยภายนอกที่ส่งผลต่อโครงสร้างของโบราณสถาน เช่น แรงสั่นสะเทือนจากแผ่นดินไหว ขาดการประยุกต์ใช้ความรู้ที่ทันสมัยในการเข้าไปดูแลโบราณสถาน อีกทั้งยังขาดบุคคลากร งบประมาณ ความต่อเนื่องในการแก้ไขปัญหาที่ไม่มากพอ
ทั้งนี้ รศ.ดร.นคร ได้มีข้อเสนอแนะให้ติดตั้งสถานีตรวจวัดการสั่นสะเทือนบนพื้นดิน และบนอาคาร เพื่อประเมินเหตุการณ์แผ่นดินไหว และศึกษาพฤติกรรมการขยายคลื่นจากแอ่งดินในเขตเมืองใหญ่ สุดท้ายควรสนับสนุนและให้ความสำคัญกับการบำรุงรักษาโบราณสถานอย่างจริงจัง ทั้งด้านบุคคลากร งบประมาณ