อ.วิศวะ แนะคิดให้หนัก ระบบสายไฟใต้ดิน แพงกว่าขึงอากาศหลายเท่าตัว
วิศวกรรมไฟฟ้ายันระบบสายไฟใต้ดินดี แต่ต้องคิดเผื่อให้หนัก ในเรื่องการซ่อมบำรุง และแผนป้องกันภัยพิบัติ และภัยธรรมชาติ ยันระบบสายไฟใต้ดิน แพงกว่าสายขึงอากาศหลายเท่าตัว
ดร.เชิดชัย ประภานวรัตน์ อาจารย์ประจำสาขาเทคโนโลยีวิศวกรรมไฟฟ้าและพลังงาน ภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ให้ความเห็นเกี่ยวกับกรณีการเปลี่ยนจากสายขึงอากาศ (Over head) หรือที่เราเรียกติดปากว่า สายไฟบนดิน ไปเป็นสายใต้ดิน (under-ground cable) ว่า สิ่งที่จะเปลี่ยนไปในทิศทางที่ดีขึ้นคือ 1.ทัศนียภาพจะมีความน่ามองมากขึ้นเห็นแล้วสบายตา มีความร่มรื่นขึ้น อาจจะไม่ต้องตัดต้นไม้บ่อยๆ 2.โอกาสเกิดเหตุการณ์ไฟฟ้าดับจากสัตว์ต่างๆ เช่น งู นก กระรอก นั้นลดน้อยลงมาก 3.อุบัติเหตุจากรถชนเสาไฟฟ้าเสียหายจนเกิดไฟฟ้าดับก็จะหมดไป แต่ยังต้องมีข้อควรระวังให้มากโดยเฉพาะในกรุงเทพฯ หรือเมืองใหญ่ที่มีการก่อสร้างค่อยข้างบ่อย เช่น การขุดเจาะถนนและทางเท้า ดังนั้นเมื่อนำสายไฟลงดินแล้วจะต้องมีแผนผังบอกให้ชัดเจนว่า ริเวณนั้นมีสายไฟฟ้าใต้ดิน ที่สำคัญจะต้องระวังเรื่องภัยธรรมชาติ ที่มีโอกาสเกิดขึ้นได้เสมอ เช่น น้ำท่วมสูง ดังนั้น จะต้องวางแผนเรื่องการวางระดับของตู้ควบคุมหรือ เทอร์มินัลบ็อกซ์ (Terminal Box) ให้สูงพ้นระดับน้ำท่วมสูงสุดที่อาจเกิดขึ้นได้
ดร.เชิดชัย กล่าวว่า หากต้องมีการนำสายไฟลงใต้ดินทั้งหมดก็จะต้องมีการเปลี่ยนสายไฟแบบเดิมที่ใช้อยู่บนดิน ไปเป็นแบบชนิดฝังดินที่มีฉนวนทนต่อความชื้นได้ดีกว่า เพื่อไม่ให้ความชื้นที่มีค่อนข้างมากในดินเข้าไปถึงตัวนำที่เป็นอะลูมิเนียมหรือทองแดงด้านในสายไฟฟ้าได้ นอกจากนี้ในชั้นฉนวนอาจจะต้องมีลวดเป็นเกราะหุ้มอยู่ก่อนที่จะถึงเปลือกชั้นนอกสุดท้ายด้วย เพื่อลดความเสียหายเนื่องจากสัตว์กัดแทะหรือการขุดเจาะถนน ทำให้สายไฟฟ้าประเภทนี้มีราคาค่าติดตั้ง รวมทั้งระบบท่อร้อยสายหรืออุโมงค์ลอดสายสูงกว่าสายขึงอากาศ เนื่องจากมีงานโยธาสำหรับท่อหรืออุโมงค์เข้ามาเกี่ยวข้อง และการดำเนินการจนเสร็จสิ้นกว่าจะจ่ายไฟฟ้าได้ใช้เวลานานกว่า
"ในขณะที่สายไฟ Over head นั้นเป็นสายเปลือยหรือสายกึ่งฉนวนซึ่งมีราคาถูกกว่า อาจจะดูไม่สวยงามแต่ข้อดีของระบบนี้ คือ เมื่อเกิดการขัดข้องสามารถซ่อมบำรุงได้ง่าย ถูก และเร็วกว่า เพราะมองเห็นทันทีว่า เสียหายตรงจุดไหน ข้อดีดังกล่าวทำให้สายขึงอากาศส่วนใหญ่ในประเทศไทยเป็นวงจรรัศมี (Radial) การนำสายไฟลงดินจะต้องมีการเตรียมความพร้อมเรื่องการซ่อมแซมเมื่อเกิดการชำรุดเสียหาย ต้องทำให้สามารถจ่ายกระแสไฟฟ้าได้อย่างรวดเร็ว สายไฟฟ้าใต้ดินจึงมักเป็นวงจรแบบวงรอบ (Loop) หรือตาข่าย (Mesh) ซึ่งมีข้อดีคือสามารถดับไฟฟ้าในวงจรที่ชำรุดเพื่อทำการซ่อมแซมได้โดยไม่กระทบกระเทือนการจ่ายไฟฟ้า แต่ระบบจ่ายไฟฟ้าแบบวงรอบนี้มีราคาแพงกว่าระบบรัศมีมาก"
ดร.เชิดชัย กล่าวอีกว่า ในประเทศที่พัฒนาแล้วส่วนใหญ่ล้วนเปลี่ยนจากระบบสายไฟบนดินเป็นใต้ดิน เพราะเห็นความสำคัญของการนำสายไฟลงดินว่าทำให้ไฟฟ้าดับน้อยลง โดยเฉพาะในจุดที่มีหน่วยงานสำคัญ เช่น โรงพยาบาลหรืออาคารสำคัญต่างๆ ของชาติ
สำหรับในกรุงเทพฯ ถนนบางสายก็มีการนำสายไฟลงใต้ดินแล้ว เช่น สีลมบางส่วน รอบๆ ดิโอลด์สยาม ดร.เชิดชัย กล่าวว่า จะสังเกตเห็นบนทางเท้าจะมีตู้เหล็กสีครีมขนาดใหญ่ตั้งอยู่บนฐานคอนกรีต ซึ่งภายในตู้คือหม้อแปลงและขั้วต่อต่างๆทางไฟฟ้า ในขณะที่ในต่างประเทศมีการพัฒนาไปถึงขั้นนำหม้อแปลงลงไว้ใต้ดิน หรือแม้แต่นำสถานีไฟฟ้าย่อยไปไว้ใต้ดินแล้ว ซึ่งแน่นอนว่าต้องมีระบบป้องกันภัยต่างๆ เป็นอย่างดีเพื่อป้องกันภัยพิบัติต่างๆ แต่ก็มีค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างและการบำรุงรักษาที่สูงมากตามมา
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ดร.ขวัญฤดี ชี้นำสายไฟลงใต้ดิน ไม่ควรตามกระแส แนะค่อยทำเป็นโซนๆ ไป