'ผอ.อสมท'ถูกตั้งกก.สอบปมคุณสมบัติ! เบื้องหลังลาพักร้อนยาว 21 วัน
เบื้องหลัง 'ผอ.อสมท' ออกคำสั่งลาพักร้อนยาว- หาคนรักษาการแทน 21 วัน ที่แท้ถูกสอบปมคุณสมบัติ! หลังโดนร้องเรียนเคยนั่งกก.บริษัท มีส่วนได้เสียองค์กร ลาออกมายังไม่ถึง 3 ปี
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า ขณะนี้คนในบริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) กำลังมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับการออกคำสั่งแต่งตั้งผู้เข้ามารักษาการแทนตนเอง ของ นายศิวะพร ชมสุวรรณ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ที่ขอลาพักผ่อนประจำปี ระหว่างวันที่ 24 ส.ค.2559-13 ก.ย.2559 รวมระยะเวลากว่า 21 วัน ว่าน่าจะมีผลมาจากการที่ นายศิวะพร ถูกร้องเรียนเรื่องการขาดคุณสมบัติเข้ารับตำแหน่งกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ อสมท (ดูคำสั่ง แต่งตั้งผู้เข้ามารักษาการแทนกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ อสมท ท้ายข่าว)
ขณะที่ แหล่งข่าวระดับสูงจาก อสมท ยืนยันสำนักข่าวอิศราว่า นายศิวะพร ถูกตั้งคณะกรรมการสอบสวนเรื่องการขาดคุณสมบัติเข้ารับตำแหน่ง กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ อสทม จริง โดยถูกร้องเรียนว่า เคยเป็นผู้บริหารในบริษัทเอกชน ที่มีส่วนได้ส่วนเสียกับ อสมท และลาออกเพื่อเข้ามารับตำแหน่ง กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ อสมท ในช่วงเวลาไม่ถึง 3 ปี ตามระเบียบ
" หลังถูกร้องเรียนบอร์ดอสมท ได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาสอบสวน และมีการส่งเรื่องให้ บอร์ดอสมท พิจารณา แต่บอร์ดยังไม่กล้าตัดสินใจ เนื่องจากมีความเห็นแบ่งเป็น 2 ฝ่าย คือ เห็นว่าขาดคุณสมบัติ และไม่ขาดคุณสมบัติ ดังนั้น จึงเห็นสมควรส่งเรื่อง สคร. (สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ) ตีความว่าขาดคุณสมบัติจริงหรือไม่ ซึ่งในช่วงระหว่างรอการพิจารณาของ สคร. บอร์ดอสมท จึงเห็นควรให้ นายศิวะพร หยุดปฏิบัติหน้าที่ ในลักษณะการลาพักร้อนดังกล่าว" แหล่งข่าวระบุ
ก่อนหน้านี้ 24 เมษายน 2559 ผู้จัดการรายวัน ได้นำเสนอข่าวว่า ในการประชุม สามัญผู้ถือหุ้น ประจำปี 2559 ที่ห้องบอลรูม Hall A ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ของ อสมท เมื่อวันที่ 22 เม.ย.ที่ผ่านมา ผู้ถือหุ้นซักถามข้อสงสัยกับผู้บริหารและคณะกรรมการบริษัท (บอร์ด) กรณีการขาดคุณสมบัติของ นายศิวะพร ชมสุวรรณ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ อสมท และ ประเด็นที่ 2 ทวงถามถึงแนวทางการดำเนินคดีในส่วนผู้ที่เกี่ยวข้องกับการกระทำผิด ในคดียักยอกค่าโฆษณาของ บริษัท ไร่ส้ม จำกัด เพิ่มเติมจากคดีความที่อยู่ในกระบวนการยุติธรรมขณะนี้ ซึ่งมีหลักฐานที่น่าเชื่อถือได้ว่ามีพนักงานระดับบริหารของ อสมท เกี่ยวข้องกับการทุจริต โดยมีการกระทำผิดรวมแล้วมากกว่า 500 ครั้ง แต่คดีได้เริ่มหมดอายุความตั้งแต่เดือน ก.พ.58 – มิ.ย.59
โดยในประเด็นการขาดคุณสมบัติของ นายศิวะพรนั้น ในช่วงเข้ารับการสรรหาและก่อนเริ่มปฏิบัติหน้าที่ตามสัญญาจ้างเมื่อวันที่ 1 ธ.ค.57 ก็ได้มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ถึงคุณสมบัติของนายศิวะพรที่ไม่เข้าหลักเกณฑ์ที่ทาง อสมท ได้ประกาศไว้ในเงื่อนไขการรับสมัครเป็นกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ว่า “ผู้สมัครจะต้องมีความรู้และประสบการณ์ในการบริหารจัดการองค์กรระดับกรมขึ้นไป หรือเทียบเท่า หากเป็นหน่วยงานเอกชน ต้องดำรงตำแหน่งไม่ต่ำกว่าผู้บริหารสูงสุดองค์กรหรือเทียบเท่าที่มีรายได้ไม่น้อยกว่า 1,500 ล้านบาท และต้องมีระยะในการดำรงตำแหน่งนั้นๆไม่ต่ำกว่า 2 ปี”
จากการตรวจสอบประวัติการทำงานของนายศิวะพรพบว่า เคยดำรงตำแหน่งผู้บริหารบริษัทหลายแห่งอาทิ กรรมการผู้อำนวยการ บริษัท อักษร เอ็ดดูเคชั่น จำกัด กลุ่มธุรกิจสื่อการศึกษาทางเลือกในเครืออักษรเจริญทัศน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท อัมรินทร์ บุ๊ค เซ็นเตอร์ จำกัด ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไลฟ์ อินคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) (LIVE) ธุรกิจโทรทัศน์บอกรับสมาชิก กรรมการผู้จัดการ บริษัท มีโมชั่น จำกัด ประกอบกิจการประเภทกิจกรรมการผลิตภาพยนตร์และวีดิทัศน์ กรรมการ บริษัท เดอร์มอลแคร์ (ประเทศไทย) จำกัด กิจการประเภทการขายส่งเครื่องสำอาง และ กรรมการผู้อำนวยการ บริษัท เนชั่น อินเตอร์เนชั่นแนล เอ็ดดูเทนเมนท์ จำกัด (มหาชน) (NINE) ซึ่งแต่ละแห่งมีรายได้ไม่ถึง 1,500 ล้านบาทต่อปีตามที่กำหนดไว้ โดย NINE ซึ่งเป็นบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ยังมีรายได้เพียงแค่ 200 ล้านบาทเศษต่อปีเท่านั้น
ที่สำคัญยังมีคุณสมบัติของนายศิวะพรยังเข้าข่ายขัด พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) คุณสมบัติมาตรฐานสําหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ (ฉบับที่ 6) ซึ่งระบุไว้ในมาตราที่ 8 ตรี ว่าด้วยคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้บริหารรัฐวิสาหกิจ วงเล็บที่ (12) ระบุว่า “ไม่เป็นหรือภายในระยะเวลา 3 ปีก่อนวันได้รับแต่งตั้งไม่เคยเป็นกรรมการ หรือผู้บริหารหรือผู้มีอํานาจในการจัดการหรือมีส่วนได้เสียในนิติบุคคลซึ่งเป็นผู้รับสัมปทาน ผู้ร่วมทุน หรือมีประโยชน์ได้เสียเกี่ยวข้องกับกิจการของรัฐวิสาหกิจนั้น เว้นแต่การเป็นประธานกรรมการ หรือ กรรมการในนิติบุคคลดังกล่าวโดยการมอบหมายของรัฐวิสาหกิจนั้น”
โดย นายศิวะพร ได้ลาออกจาก NINE ซึ่งเป็นบริษัทในเครือเนชั่นมัลติมีเดียกรุ๊ป ที่ดำเนินกิจการเกี่ยวกับสื่อสารมวลชนเช่นเดียวกับ อสมท เมื่อช่วงต้นปี 2557 ก่อนเข้ารับการคัดเลือกเข้าดำรงตำแหน่งกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ อสมท เมื่อช่วงปลายปีเดียวกัน ซึ่งระยะเวลายังไม่พ้นกำหนด 3 ปีที่กฎหมายกำหนด อีกทั้งเมื่อเดือน มี.ค.56 ยังพบว่า อสมท ได้ว่าจ้าง บริษัท มีโมชั่น จำกัด ซึ่งมี นายศิวะพร เป็นกรรมการผู้จัดการในขณะนั้น สำหรับการบันทึกภาพ/บทรายการโทรทัศน์/โปรดิวเซอร์ควบคุมการตัดต่อ ในส่วนของ 17 จังหวัดภาคเหนือ จังหวัดละ 150,000 บาท รวมเป็นเงิน 2,728,500 บาท (รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) ซึ่งก็ยังไม่ครบกำหนดระยะเวลา 3 ปีก่อนเข้ารับตำแหน่งผู้บริหารใน อสมท ตามที่กฎหมายกำหนดเช่นกัน