“ใช้ยาสมเหตุผล” ปลอดภัย คุ้มค่า ด้วย 6 กุญแจสำคัญ
ปัจจุบันมีโรงพยาบาลสนใจเข้าร่วมโครงการฯ จำนวน 205 แห่ง ที่พร้อมนำแนวทางและข้อมูลความรู้ที่ได้จากโครงการฯ ไปบูรณาการให้เกิดการปฏิบัติได้จริง ตลอดจนมีการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับ การจัดทำฉลากยามาตรฐาน ฉลากยาเสริม ใน 13 กลุ่มยานำร่อง เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับข้อมูลที่ถูกต้องเพียงพอสำหรับการใช้ยาได้อย่างปลอดภัย
สถานการณ์ปัญหาในภาพรวมของประเทศ ค่าใช้จ่ายด้านยามีอัตราการเติบโตใกล้เคียงกับค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพ (ประมาณร้อยละ 7-8 ต่อปี) แต่สูงกว่าอัตราการเติบโต (ร้อยละ 5-6 ต่อปี) ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) การคาดการณ์แนวโน้มของค่าใช้จ่ายด้านยาของประเทศไทยในอนาคต ปัจจัยที่มีผลทำให้ปริมาณการใช้ยาเพิ่มสูงขึ้นประกอบด้วย การที่คนไทยเข้าถึงยามากขึ้นจากการมีระบบหลักประกันสุขภาพ กลุ่มโรคที่ต้องการการรักษาต่อเนื่อง รวมทั้งโรคเอดส์ และกลุ่มประชากรสูงอายุที่ไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ ในปี 2568 สำหรับปัจจัยที่มีผลทำให้ยามีราคาเพิ่มขึ้น ได้แก่ ยาใหม่และยาที่มีสิทธิบัตร และการขึ้นราคายาตามสถานะเศรษฐกิจ
อย่างไรก็ตามที่สำคัญที่สุดคือค่าใช้จ่ายด้านยาที่เพิ่มสูงขึ้นเกิดจากการใช้ยาอย่างไม่เหมาะสม เกินความจำเป็น และกระบวนการตลาดที่ขาดจริยธรรม โดยพบการบริโภคยาอย่างไม่เหมาะสมและเกินความจำเป็นในทุกระดับ ทั้งการใช้ยาในสถานพยาบาลภาครัฐและเอกชน การใช้ยาในชุมชนโดยเฉพาะยาที่มีความเสี่ยงสูง เช่น ยาต้านจุลชีพ ยาสเตียรอยด์ ยาชุด เป็นต้น สำหรับประเทศไทย การบริโภคยาของคนไทยสูงถึง 144,500 ล้านบาท ในปีพ.ศ. 2555 โดยส่วนหนึ่งรัฐต้องสูญเสียงบประมาณจากการครอบครองยาเกินจำเป็น ถึงประมาณ 2,370 ล้านบาท/ปี และใช้จ่ายงบประมาณมากถึง 4,000 ล้านบาท ในการผลิตและนำเข้ายาที่ยังมีข้อสงสัยต่อประสิทธิผลและความปลอดภัย
การใช้ยาเป็นเรื่องที่สัมพันธ์กับระบบสาธารณสุขอื่นๆ จึงต้องพิจารณาปัจจัยหลายส่วนที่เข้ามาเกี่ยวข้อง และแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบ ทั้งการขึ้นทะเบียน การควบคุมการกระจายยา และการใช้ยาในสถานพยาบาลและชุมชน ตลอดจนถึงปัจจัยต่างๆ ที่มีผลต่อทัศนคติและพฤติกรรมของผู้สั่งใช้ยาและประชาชน
องค์การอนามัยโลกให้คำจำกัดความของ การใช้ยาอย่างสมเหตุผล คือ การที่ผู้ป่วยได้รับยาที่เหมาะสมกับปัญหาสุขภาพ โดยใช้ยาในขนาดที่เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละราย ด้วยระยะเวลาการรักษาที่เหมาะสม และมีค่าใช้จ่ายต่อชุมชนและผู้ป่วยน้อยที่สุด (WHO, 1985) สอดคล้องกับคำจำกัดความตามคู่มือการใช้ยาอย่างสมเหตุผลตามบัญชียาหลักแห่งชาติ : 2552 ที่ขยายความว่า การใช้ยาอย่างสมเหตุผล หมายถึง การใช้ยาโดยมีข้อบ่งชี้ เป็นยาที่มีคุณภาพ มีประสิทธิผลจริง สนับสนุนด้วยหลักฐานที่เชื่อถือได้ ให้ประโยชน์ทางคลินิกเหนือกว่าความเสี่ยงจากการใช้ยาอย่างชัดเจน มีราคาเหมาะสม คุ้มค่าตามหลักเศรษฐศาสตร์สาธารณสุข ใช้ยาในขนาดที่เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละกรณี ด้วยวิธีการให้ยา
งานวิจัยตอบโจทย์การพัฒนา-แก้ปัญหาระบบสุขภาพ
โรงพยาบาลส่งเสริมการใช้ยาอย่างสมเหตุผล (RDU hospital) เป็นโครงการที่บูรณาการมาตรการเพื่อส่งเสริมการใช้ยาอย่างสมเหตุผลในโรงพยาบาล ตามนโยบายแห่งชาติด้านยาและแนวทางขององค์การอนามัยโลกไปสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรมภายใต้บริบทปัญหาของประเทศไทย มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างต้นแบบของโรงพยาบาลส่งเสริมการใช้ยาอย่างสมเหตุผล โดยพัฒนาระบบ กลไก และเครื่องมือ รวมทั้งใช้กลไกเครือข่ายเพื่อส่งเสริมการใช้ยาอย่างสมเหตุผล เพื่อร่วมกันแก้ปัญหาการใช้ยาไม่สมเหตุผลที่มักพบในระบบยาของโรงพยาบาล ตั้งแต่การคัดเลือกยา การจัดซื้อจัดหา การสั่งใช้ยา การจ่ายยา เพื่อส่งมอบยาแก่ผู้ป่วยอย่างมีคุณภาพ ซึ่งกำหนดเป็นกุญแจสำคัญเพื่อความสำเร็จ 6 ประการ ในการดำเนินการไปสู่โรงพยาบาลส่งเสริมการใช้ยาอย่างสมเหตุผล เรียกโดยย่อว่า กุญแจ PLEASE โครงการฯ มุ่งหวังให้ประชาชนได้รับบริการที่มีคุณภาพ เกิดความปลอดภัยจากการใช้ยา และมีการใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด
กุญแจ PLEASE คือกุญแจสำคัญเพื่อความสำเร็จ 6 ประการ ในการดำเนินการไปสู่โรงพยาบาลส่งเสริมการใช้ยาอย่างสมเหตุผล ประกอบด้วย
•P - 1. คณะกรรมการเภสัชกรรมและการบำบัด (Pharmacy and Therapeutics Committee)
•L - 2. ฉลากยาและข้อมูลสู่ประชาชน (Labeling and Leaflet)
•E - 3. เครื่องมือจำเป็นเพื่อการใช้ยาอย่างสมเหตุผล (Essential RDU tools)
•A - 4. ความตระหนักรู้ของบุคลากรทางการแพทย์และผู้ป่วย (Awareness of RDU in health personnel and patients)
•S - 5. การดูแลด้านยาเพื่อความปลอดภัยของประชากรกลุ่มพิเศษ (Special population Care)
•E - 6. จริยธรรมในการสั่งใช้ยา (Ethics in prescription)
ซึ่งในกุญแจแต่ละด้านจะมีรายละเอียดตั้งแต่ข้อแนะนำในการปฏิบัติ ข้อควรหลีกเลี่ยง แนวทางการติดตามผลและตัวชี้วัด พร้อมเกณฑ์ประเมินผลความสำเร็จสู่โรงพยาบาลส่งเสริมการใช้ยาอย่างสมเหตุผล โดยมีโรงพยาบาลนำร่องเข้าร่วมโครงการฯ กว่า 200 โรงพยาบาลทั่วประเทศ กระจายทั้ง 5 เขตบริการสุขภาพแยกตามภูมิภาค และโรงพยาบาลในเครือข่ายของกลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย (กสพท.) ได้นำข้อแนะนำต่างๆ ตามกุญแจ PLEASE ทั้ง 6 ด้านไปสู่การปฏิบัติจริง ทั้งด้านการบริหารและวิชาการ เพื่อพัฒนาระบบบริหารจัดการและการพัฒนาคุณภาพของระบบยาในโรงพยาบาลอย่างครบวงจร
การใช้ประโยชน์ผลงานวิจัย
แม้ว่าชุดโครงการอยู่ระหว่างการดำเนินงาน ขณะเดียวกันมีการนำเสนอข้อมูล ข้อค้นพบ เพื่อการใช้ประโยชน์เป็นระยะๆ ตัวอย่างเช่น คู่มือการดำเนินงานโครงการโรงพยาบาลส่งเสริมการใช้ยาอย่างสมเหตุผล ที่จัดทำขึ้นเพื่อเป็นแนวทางและวิธีปฏิบัติที่ชัดเจนสำหรับสถานพยาบาลที่ต้องการพัฒนาระบบบริหารจัดการด้านยาที่มีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์สูงสุดต่อผู้ป่วย ซึ่งรายละเอียดในคู่มือฯ จะรวมไปถึงตัวชี้วัดต่างๆ เพื่อการติดตามประเมินผลที่สามารถสะท้อนระบบคุณภาพยาของสถานพยาบาลได้อย่างชัดเจนและเป็นรูปธรรม การจัดทำฉลากยามาตรฐาน ฉลากยาเสริม ข้อมูลยาสู่ประชาชน ใน 13 กลุ่มยานำร่อง ผ่านช่องทางสื่อออนไลน์ต่างๆ เพื่อการเข้าถึงข้อมูลได้อย่างสะดวกและรวดเร็ว ทั้งนี้ในโรงพยาบาลนำร่องกว่า 200 โรงพยาบาลก็ได้นำแนวทางและข้อมูลความรู้ที่ได้จากโครงการฯ ไปบูรณาการให้เกิดการปฏิบัติได้จริง ตามบริบทของแต่ละโรงพยาบาล การบรรจุ RDU ในหลักสูตรการศึกษาแพทยศาสตร์ เภสัชศาสตร์ ทันตแพทยศาสตร์ พยาบาลศาสตร์ เป็นต้น ทั้งนี้ ในการประชุมผู้บริหารระดับสูงกระทรวงสาธารณสุขครั้งที่ 6/2559 เมื่อวันที่ 1 มิ.ย.59 ได้มีมติเห็นชอบให้ “โรงพยาบาลส่งเสริมการใช้ยาอย่างสมเหตุผล (RDU Hospital)” เป็นนโยบายกระทรวงสาธารณสุข ตามที่คณะผู้วิจัยและคณะอนุกรรมการส่งเสริมการใช้ยาอย่างสมเหตุผลเสนอ
อนึ่งในระยะถัดไปจะมีการขยายโครงการฯ ให้ครอบคลุมทั้งโรงพยาบาลรัฐและเอกชน สถานบริการสุขภาพ คลินิก ร้านขายยา ฯลฯ ด้วย เพื่อให้มีการใช้ยาอย่างสมเหตุผลในระบบสุขภาพ
เครือข่ายพันธมิตร เคลื่อนนโยบาย
สำหรับการดำเนินการโครงการ RDU hospital เป็นความร่วมมือของกระทรวงสาธารณสุข กับเครือข่ายโรงพยาบาลกลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย และเครือข่ายโรงพยาบาลในกลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (องค์การมหาชน) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ กรมบัญชีกลาง สำนักงานประกันสังคม สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา คณะอนุกรรมการการใช้ยาอย่างสมเหตุผลภายใต้คณะกรรมการพัฒนาระบบยาแห่งชาติ และหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง ภายใต้บันทึกข้อตกลงความร่วมมือ เรื่อง การพัฒนาสู่โรงพยาบาลส่งเสริมการใช้ยาอย่างสมเหตุผล เมื่อวันที่ 30 ต.ค. 57
เมื่อวันที่ 1-2 สิงหาคม 2559 ที่ผ่านมา คณะอนุกรรมการส่งเสริมการใช้ยาอย่างสมเหตุผล คณะกรรมการกำกับทิศแผนงานวิจัยพัฒนาระบบยา โดยสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) เครือข่ายโรงพยาบาลกลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย (UHOSNET) และหน่วยงานภาคีเครือข่าย ร่วมกันจัดการประชุมเชิงปฏิบัติการ เรื่องการพัฒนาสู่โรงพยาบาลส่งเสริมการใช้ยาอย่างสมเหตุผล พ.ศ.2559 ร่วมเคลื่อนนโยบาย รพ.ส่งเสริมการใช้ยาสมเหตุผล มุ่งการใช้ยาอย่างพอเพียง “รพ.ทั่วไทย ใช้ยาคุ้มค่า ปลอดภัย ไม่ซ้ำซ้อน”
นพ.บุญชัย สมบูรณ์สุข เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา กล่าวถึงการพัฒนาสู่โรงพยาบาลส่งเสริมการใช้ยาอย่างสมเหตุผล พ.ศ.2559 ว่า กระทรวงสาธารณสุข ได้ประกาศนโยบายโรงพยาบาลส่งเสริมการใช้ยาอย่างสมเหตุผล ให้โรงพยาบาลทุกแห่งดำเนินการ โดยนำโครงการโรงพยาบาลส่งเสริมการใช้ยาอย่างสมเหตุผล ให้เป็นส่วนหนึ่งในแผนจัดระบบบริการสุขภาพ (Service Plan) กำหนดเป็นแผนพัฒนาระบบบริการสุขภาพ สาขาที่ 15 เน้นการพัฒนาระบบและการตระหนักรู้ของทุกคนที่อยู่ในวงจรการใช้ยาอย่างสมเหตุผล และได้แต่งตั้งคณะกรรมการพัฒนาระบบบริการให้มีการใช้ยาอย่างสมเหตุผลขึ้น นอกจากนี้ กระทรวงฯ ได้กำหนดเป็นคำรับรองในการปฏิบัติราชการเรื่องการใช้ยาอย่างสมเหตุผล สำหรับผู้ตรวจราชการ ในปีงบประมาณ 2560 ด้วย
นพ.บุญชัย กล่าวด้วยว่า สำหรับการประชุมในครั้งนี้ มุ่งหวังให้โรงพยาบาลในโครงการ โรงพยาบาลและหน่วยงานที่สนใจ ได้รับทราบนโยบาย และร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ พัฒนาเครือข่ายการทำงานและกำหนดทิศทางการดำเนินการร่วมกัน โดยคาดหวังว่าทุกโรงพยาบาลจะนำรูปแบบการพัฒนาโรงพยาบาลอย่างสมเหตุผล ไปพัฒนาและประยุกต์ใช้ต่อไป โดยเฉพาะโรงพยาบาลที่เป็นศูนย์แพทย์ศาสตร์ชั้นคลินิก ซึ่งจำเป็นต้องสร้างสิ่งแวดล้อมให้แก่นักศึกษาแพทย์ได้คุ้นเคยกับระบบการใช้ยาอย่างสมเหตุผล ก่อนจะจบการศึกษาออกไปดูแลประชาชนต่อไป
ศ.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา ประธานอนุกรรมการส่งเสริมการใช้ยาอย่างสมเหตุผล กล่าว องคการอนามัยโลก รายงานวา มากกวาร้อยละ 50 ของการใชยาเปนไปอยางไมสมเหตุผล ทำให้ผู้ป่วยได้รับความเสี่ยงจากผลข้างเคียงและอันตรายจากยาเพิ่มขึ้น รวมถึงปัญหาเชื้อดื้อยา ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญในระดับโลก นโยบายแห่งชาติด้านยา พ.ศ.2554 ได้กำหนดให้มียุทธศาสตร์การใช้ยาอย่างสมเหตุผล ซึ่งคณะกรรมการพัฒนาระบบยาแห่งชาติ ได้มอบหมายคณะอนุกรรมการส่งเสริมการใช้ยาอย่างสมเหตุผลรับผิดชอบดำเนินการ คณะอนุกรรมการฯ ร่วมกับ 11 องค์กร จึงได้จัดตั้งโครงการโรงพยาบาลส่งเสริมการใช้ยาอย่างสมเหตุผล หรือ Rational Drug Use – RDU Hospital ขึ้น
อย่างไรก็ตาม การดำเนินการเพื่อขับเคลื่อนการใช้ยาอย่างสมเหตุผลมีการทำอย่างเป็นระบบ ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ ทั้งส่วนบุคลากรทางการแพทย์และประชาชน คณะอนุกรรมการฯ จึงได้ดำเนินการ ทั้งการพัฒนาการเรียนการสอนของวิชาชีพด้านสุขภาพ การสร้างความเข้มแข็งภาคประชาชน การสร้างความร่วมมือภาคเอกชนในการนำเกณฑ์จริยธรรมว่าด้วยการส่งเสริมการขายยาไปสู่การปฏิบัติ
ภญ.พรพิศ ศิลขวุธท์ รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข กล่าวว่า โรงพยาบาลส่งเสริมการใช้ยาอย่างสมเหตุผล (RDU hospital) เป็นการบูรณาการมาตรการเพื่อส่งเสริมการใช้ยาอย่างสมเหตุผลในโรงพยาบาล ตามนโยบายแห่งชาติด้านยาและแนวทางขององค์การอนามัยโลกไปสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรมภายใต้บริบทปัญหาของประเทศไทย ที่ผ่านมา สวรส.ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ โดยสนับสนุนชุดโครงการวิจัยเพื่อพัฒนาโรงพยาบาลส่งเสริมการใช้ยาอย่างสมเหตุผล มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาระบบ กลไก และเครื่องมือ โดยใช้กุญแจ PLEASE เป็นกุญแจสำคัญเพื่อความสำเร็จ ในการดำเนินการไปสู่โรงพยาบาลส่งเสริมการใช้ยาอย่างสมเหตุผล มุ่งหวังให้ประชาชนได้รับบริการที่มีคุณภาพ เกิดความปลอดภัยจากการใช้ยา และมีการใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด
ปัจจุบันมีโรงพยาบาลสนใจเข้าร่วมโครงการฯ จำนวน 205 แห่ง ที่พร้อมนำแนวทางและข้อมูลความรู้ที่ได้จากโครงการฯ ไปบูรณาการให้เกิดการปฏิบัติได้จริง ตลอดจนมีการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับ การจัดทำฉลากยามาตรฐาน ฉลากยาเสริม ใน 13 กลุ่มยานำร่อง เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับข้อมูลที่ถูกต้องเพียงพอสำหรับการใช้ยาได้อย่างปลอดภัย
ทางด้าน ดร.ทพ.วีระศักดิ์ พุทธาศรี นักวิจัยอาวุโสจากสำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ ที่รับผิดชอบแผนงานวิจัยการใช้ยาอย่างสมเหตุผลของ สวรส. กล่าวว่า สิ่งที่ทีมวิจัยกำลังจะเดินหน้าต่อ คือ การขยายผลส่งเสริมการใช้ยาอย่างสมเหตุผลให้เกิดการขยายผลในระดับสังคม โรงพยาบาลส่งเสริมการใช้ยาอย่างสมเหตุผล เป็นจุดเริ่มต้นสำคัญ ทว่าจุดมุ่งหมายในภาพใหญ่ที่เราต้องการ คือ การเกิด “สังคมแห่งใช้ยาอย่างสมเหตุผล” (RDU Society) ทำให้งานวิชาการที่จะดำเนินการขยายวงนอกขอบเขตของโรงพยาบาลมากขึ้น เช่นการสร้างความตระหนักรู้ จะไม่จำกัดวงเฉพาะกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ พยาบาล เภสัชกร รวมถึงเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในโรงพยาบาลเท่านั้น แต่จะต้องเปิดกว้างไปถึงบุคลากรทางวิชาชีพอื่นๆ รวมถึงประชาชนในระดับปัจเจกจนถึงระดับชุมชน ให้สามารถรู้เข้าใจและเกิดการใช้ยาอย่างสมเหตุผลด้วย
ทั้งนี้ ทีมวิจัยตั้งโจทย์ความท้าท้ายในอนาคตว่า หากต้องการส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาศักยภาพในการใช้ยาอย่างสมเหตุผลในระดับสังคม การสร้างกระแสการยอมรับในวงกว้างย่อมมีความสำคัญ ไม่ว่าการสร้างความตระหนักรู้ของผู้ป่วยและชุมชน การสร้างกระแสความสนใจจากสังคม รวมถึงการสร้างให้เป็นวัฒนธรรมองค์กร โดยเรียนรู้จากการทำงานการรณรงค์เรื่องยาปฏิชีวนะไม่ใช่ยาแก้อักเสบ ของชุดโครงการวิจัยพัฒนาการควบคุมและป้องกันการดื้อยาต้านจุลชีพในประเทศไทยที่ได้ดำเนินการไปแล้ว