ไทยใหญ่ประท้วงรัฐบาลพม่า หลังเดินหน้าเขื่อนสาละวิน หวั่นซ้ำเติมความไม่สงบ
ชาวไทยใหญ่ประท้วงรัฐบาลอองซานซูจีเดินหน้าเขื่อนสาละวิน ชี้ซ้ำเติมสงครามที่ยังไม่สงบ เชื่อไม่กล้าเดินหน้าเขื่อนมิตส่งกั้นแม่น้ำอิรวดีเลยหันมาลงที่ลำน้ำชาติพันธุ์
เมื่อเร็วๆ นี้ ที่สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศ เครือข่ายองค์กรชุมชนในรัฐฉานได้จัดแถลงข่าวกรณีที่รัฐบาลพม่าภายใต้การนำของนางอองซานซูจี มีท่าทีว่าจะเดินหน้าโครงการสร้างเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำบนแม่น้ำสาละวินในเขตรัฐฉาน โดยมีสื่อมวลชนไทยและต่างประเทศ รวมทั้งผู้สนใจ และหน่วยข่าวความมั่นคงเข้าร่วมประมาณ 30 คน
นายจาย เคอ แสง ผู้ประสานงานเครือข่ายแม่น้ำในรัฐฉาน(Shan State Rivers) กล่าวว่า กลุ่มชุมชนไทใหญ่ได้จัดการแถลงข่าวที่กรุงเทพฯ เพื่อแสดงข้อกังวลเกี่ยวกับการเตรียมการแบบลับๆ เพื่อสร้างเขื่อนบนแม่น้ำสาละวินทางตอนเหนือของรัฐฉาน ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ยังมีสงคราม และเป็นการผลิตไฟฟ้าเพื่อส่งขายให้แก่จีน
นายจาย เคอ แสง กล่าวว่า กรณีโครงการสร้างเขื่อนบนแม่น้ำสาละวิน ที่รัฐบาลพม่าประกาศเมื่อกลางเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา เป็นเหมือนการประกาศสงครามซ้ำซ้อนในขณะที่กองกำลังชนกลุ่มน้อยยังมีการสู้รบกันอยู่ในพื้นที่รัฐฉาน โดยโครงการเขื่อนสาละวินในรัฐฐานมีทั้งหมด 3 โครงการ คือ เขื่อนกุ๋นโหลง เขื่อนหนองผา และเขื่อนท่าซา’ (หรือมายตง-เมืองโต๋น) โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรณีโครงการเขื่อนหนองผาขนาด 1,200 เมกะวัตต์ ที่จะเป็นการลงทุนโดยบริษัทจีน มีการลงนามบันทึกข้อตกลง MOA ในปี 2557 โครงการนี้ นับเป็นความเสี่ยงอย่างยิ่งเพราะพื้นที่สร้างเขื่อนตั้งอยู่ในพื้นที่ความขัดแย้งรุนแรงมากที่สุดในรัฐฉาน คือทางภาคเหนือใกล้ชายแดนมณฑลยูนนาน ซึ่งมีกองกำลังกลุ่มชาติพันธ์หลายกลุ่มยังสู้รบต่อเนื่องกับกองทัพรัฐบาลพม่า หนึ่งในนั้นคือกองกำลังสหรัฐว้า ซึ่งไม่ได้ลงนามสัญญาหยุดยิง (NCA) จึงเสี่ยงต่อการสร้างความขัดแย้งมากขึ้น
“ขณะที่รัฐบาลพม่ากำลังจะจัดประชุมสันติภาพ “ปางโหลง ศตวรรษที่ 21” ปลายเดือนสิงหาคมนี้ แต่กลับจะเดินหน้าโครงการเขื่อนในรัฐฉานที่กำลังเดือดร้อนเรื่องการสู้รบ ประชาชนต้องอพยพกันนับแสนคน แล้วจะเกิดสันติภาพได้อย่างไร เรื่องความขัดแย้งของกลุ่มที่สู้รบกันก็น่าห่วงมากอยู่แล้ว แต่สิ่งที่ประชาชนในรัฐฉานเป็นห่วงกว่านั้น คือผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม ที่อ่างเก็บน้ำของเขื่อนจะทำให้เกิดน้ำท่วมในรัฐฉานเป็นบริเวณกว้าง”นายจาย เคอ แสง กล่าว
นางสาวจ๋ามตอง ผู้ประสานงานเครือข่ายสตรีไทใหญ่ (Shan Women’s Actions Network) กล่าวว่า นับตั้งแต่มีข่าวที่จะเดินหน้าโครงการเขื่อน ชุมชนต่างๆ ในรัฐฉานต่างรวมตัวกันเพื่อประท้วง ในวันที่ 5 สิงหาคมที่ผ่านมาชาวบ้านประมาณ 250 คน จาก 9 ตำบล และสมาชิรัฐสภาจากพรรคสันนิบาติเพื่อประชาธิปไตยไทใหญ่ (Shan Nationalities League for Democracy –SNLD )ก็ได้จัดกิจกรรมรวมตัวเพื่อทักท้วง และวันที่ 21 สิงหาคมที่ผ่านมา มีตัวแทนชุมชนประมาณ 60 คนจากเมืองต่างๆ ในลุ่มน้ำสาละวิ อาทิเมืองโหป่าง กุ๋นโหลง ล่าเสี้ยว แสนหวี ได้รวมตัวกันจัดกิจกรรมประท้วง เพราะความกังวลเรื่องผลกระทบรุนแรงที่จะเกิดจากเขื่อน
นางสาวจ๋ามตอง กล่าวว่าเมื่อสัปดาห์ที่แล้วที่นางอองซานซูจีได้เยือนจีนอย่างเป็นทางการ รัฐบาลพม่าก็ได้ประกาศเดินหน้าเขื่อนสาละวิน โดยอ้างว่าเพื่อแก้ปัญหาความต้องการไฟฟ้าของพม่า แต่แท้จริงแล้วไฟฟ้าส่วนใหญ่จากเขื่อนบนแม่น้ำสาละวิน จะส่งขายให้แก่ประเทศเพื่อนบ้านทั้งสิ้น มิใช่เพื่อใช้ในประเทศพม่าเป็นหลักแต่อย่างใด
“เป็นที่ชัดเจนว่าทางการจีนต้องการเดินหน้าโครงการเขื่อนในพม่า คือเขื่อนมิตส่ง บนแม่น้ำอิรวดี ทางตอนเหนือของรัฐคะฉิ่น แต่อิรวดีเป็นแม่น้ำสายหลักของพม่า ประชาชนตื่นตัวและคัดค้านเขื่อนบนแม่น้ำอิรวดีอย่างหนัก ที่ทำให้รัฐบาลอาจไม่สามารถฝืนแรงต้านจากประชาชนพม่าได้ จึงหันมาทางชายแดนที่ลุ่มน้ำสาละวิน แทนอิรวดี หรือไม่ ข้อนี้พวกเรายังสงสัย” นางสาวจ๋ามตอง กล่าว
ด้านนายหนุ่มฮักไต เจ็ดจอมจ่าย ชาวไทใหญ่ที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ตนได้ติดตามสถานการณ์ของประเทศพม่าในช่วงรัฐบาลปัจจุบันซึ่งมีนางอองซานซูจี เป็นที่ปรึกษาคนสำคัญ รู้สึกเป็นห่วงอย่างมากที่ทางรัฐบาลเร่งรัดเจรจาเรื่องการสร้างเขื่อน ทั้งที่เขื่อนในประเทศพม่ามีอยู่แล้วหลายแหล่ง แต่ไฟฟ้าที่ผลิตได้กลับแทบไม่ตกถึงกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ เลยนอกเสียจากสร้างเพื่อส่งไฟฟ้าไปยังเมืองใหญ่ ส่วนโครงการเขื่อนขนาดใหญ่บนแม่น้ำสาละวินที่กำลังถูกผลักดันก็ก็สร้างเพื่อผลิตไฟฟ้าส่งออกต่างประเทศ
นายหนุ่มฮักไต กล่าวแสดงความไม่เห็นด้วยกับการพัฒนาที่เอาเศรษฐกิจความมั่นคงในประเทศมาเป็นข้ออ้าง จึงอยากเรียกร้องให้รัฐบาลพม่าชุดนี้ให้ความสำคัญกับการรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และให้ความสำคัญกับการสร้างความสามัคคีระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์และคนพม่าเสียก่อน ที่จริงขณะนี้เทคโนโลยีพัฒนาอย่างมาก หลายพื้นที่ของพม่าก็มีการใช้โซล่าเซลล์ และพลังงานทางเลือกต่างๆ สำหรับในชุมชน หลายแห่งใช้แหล่งไฟฟ้าจากน้ำตกขนาดเล็กอันเป็นภูมิปัญญาของชาวบ้าน รัฐบาลน่าจะหันมาสนับสนุนโครงการเล็กๆ แบบครัวเรือนเพื่อประโยชน์ของประชาชนมากกว่าประโยชน์ของกลุ่มทุนจากต่างชาติ
"ไฟฟ้าอาจสำคัญต่อคนเมือง แต่ถ้ามองเฉพาะในชุมชนคนบ้านนอกที่ทำเกษตร น้ำสำคัญกว่าไฟฟ้ามากนัก แม่น้ำสาละวินเองก็เป็นที่พึ่งของชาติพันธุ์หลายกลุ่มที่อาศัยอยู่ริมน้ำ ถ้าหากรัฐบาลนี้ยังยืนยันเดินหน้าโครงการสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำสาละวินอาจจะทำให้คะแนนนิยมที่เคยมีลดลงก็ได้ เพราะคนบางกลุ่มในพม่าเลือกรัฐบาลนี้เพราะหวังจะพึ่งนโยบายที่เป็นธรรมต่อประชาชนทุกกลุ่ม ทุกภาค และมองความคิดของประชาชนเป็นใหญ่” นายหนุ่มฮักไต กล่าว