เปิดสถิติการดำเนินคดีพลเรือนในศาลทหาร ปี 2
สถิติคดีที่สูงแสดงให้เห็นว่ามีคดีเพียงส่วนน้อยซึ่งเกี่ยวข้องทางการเมืองเท่านั้น แต่คดีส่วนใหญ่เป็นคดีอาชญากรรมที่เกิดขึ้นโดยเหตุซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับแรงจูงใจทางการเมือง แต่กลับต้องถูกดำเนินคดีในศาลทหารซึ่งมีหลักประกันสิทธิการได้รับการพิจารณาคดีที่เป็นธรรมน้อยกว่าศาลยุติธรรรม....
ฐานความผิดที่พลเรือนต้องขึ้นสู่ศาลทหาร
เป็นเวลากว่า 2 ปีนับตั้งแต่มีการรัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พ.ค. 2557 คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้มีประกาศ คสช. ฉบับที่ 37/2557 เรื่อง ความผิดที่อยู่ในอํานาจพิจารณาพิพากษาคดีของศาลทหาร ประกาศ คสช. ฉบับที่ 38/2557 เรื่อง คดีที่ประกอบด้วยการกระทําหลายอย่างเกี่ยวโยงกันให้อยู่ในอํานาจของศาลทหารและ ประกาศ คสช. ฉบับที่ 50/2557 เรื่อง ให้ศาลทหารมีอํานาจพิจารณาพิพากษาคดีอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน หรือวัตถุระเบิด ที่ใช้เฉพาะแต่การสงคราม ทำให้ความผิดบางประเภทนั้นอยู่ในอำนาจการพิจารณาของศาลทหาร ได้แก่
1. ความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาทและผู้สําเร็จราชการแทนพระองค์ ตั้งแต่มาตรา 107 ถึงมาตรา 112 ประมวลกฎหมายอาญา
2. ความผิดต่อความมั่นคงของรัฐภายในราชอาณาจักร ตั้งแต่มาตรา 113 ถึงมาตรา 118 ประมวลกฎหมายอาญา
3. ความผิดตามประกาศหรือคําสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ
4. ความผิดฐานมีหรือใช้อาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน หรือ วัตถุระเบิด ที่ใช้เฉพาะแต่การสงครามที่นายทะเบียนไม่อาจออกใบอนุญาตให้ได้ อันเป็นความผิด ตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 ที่กระทําตั้งแต่วันที่ 22 พ.ค. 2557 เวลา 16.30 น. เป็นต้นไป
รวมถึงคดีซึ่งประกอบด้วยการกระทําหลายอย่างเกี่ยวโยงกันกับคดีความผิดที่อยู่ในอํานาจศาลทหารพิจารณาพิพากษา ข้อ 1-4 ซึ่งทำให้พลเรือนต้องขึ้นสู่การพิจารณาคดีของศาลทหารในคดี 4 ประเภทดังกล่าวจนกระทั่งถึงปัจจุบัน แม้จะมีการยกเลิกประกาศกฎอัยการศึกไปแล้วเมื่อวันที่ 1 เม.ย. 2558 แต่คดีความที่อยู่ในการพิจารณาของศาลทหารยังคงดำเนินต่อไป
สถิติการดำเนินคดีพลเรือนในศาลทหาร
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนได้ติดตามสถานการณ์สิทธิมนุษยชนหลังรัฐประหาร ได้รับข้อมูลจากกรมพระธรรมนูญระบุว่าตั้งแต่ 22 พ.ค. 2557- 31 พ.ค. 2559 มีคดีของพลเรือนที่ถูกดำเนินคดีในศาลทหารจำนวน 1,546 คดี คิดเป็นจำนวนผู้ต้องหาและจำเลยรวม 1,811 คน เป็นคดีที่อยู่ระหว่างการพิจารณาคดี 517 คดี และคดีที่ศาลพิจารณาคดีเสร็จสิ้นแล้ว 1,029 คดี ซึ่งสามารถแบ่งเป็น
คดีฝ่าฝืนคำสั่งหรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติจำนวน 44 คดี
คดีมาตรา 112 ประมวลกฎหมายอาญา (หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ) จำนวน 63 คดี
คดีมาตรา 116 ประมวลกฎหมายอาญา (ยุยงปลุกปั่นให้เกิดความกระด้างกระเดื่องฯ) จำนวน 5 คดี
คดีตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธพ.ศ. 2490 จำนวน 1,434 คดี
จากสถิติรวมดังกล่าวหากแบ่งตามพื้นที่ในต่างจังหวัดที่ขึ้นต่อศาลมณฑลทหารบก มีจำนวนคดีทั้งหมด 1,371 คดี ผู้ต้องหาและจำเลยรวม 1,536 คน เป็นคดีที่อยู่ระหว่างการพิจารณาคดี 445 คดี และคดีที่ศาลพิจารณาคดีเสร็จสิ้นแล้ว 926 คดี แบ่งเป็น
คดีฝ่าฝืนคำสั่งหรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติจำนวน 20 คดี
คดีมาตรา 112 ประมวลกฎหมายอาญา จำนวน 20 คดี
คดีมาตรา 116 ประมวลกฎหมายอาญา จำนวน – คดี
คดีตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธ พ.ศ. 2490 จำนวน 1,331 คดี
ในขณะที่ศาลทหารกรุงเทพมีจำนวนคดีทั้งหมด 175 คดี ผู้ต้องหาและจำเลยรวม 275 คน เป็นคดีที่อยู่ระหว่างการพิจารณาคดี 72 คดี และคดีที่ศาลพิจารณาคดีเสร็จสิ้นแล้ว 103 คดี แบ่งเป็น
คดีฝ่าฝืนคำสั่งหรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติจำนวน 24 คดี
คดีมาตรา 112 ประมวลกฎหมายอาญา จำนวน 43 คดี
คดีมาตรา 116 ประมวลกฎหมายอาญา จำนวน 5 คดี
คดีตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธ พ.ศ. 2490 จำนวน 103 คดี
ข้อสังเกตศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนต่อสถิติการดำเนินคดีพลเรือนในศาลทหาร
1.การที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติประกาศใช้กฎอัยการศึกทั่วราชอาณาจักร ตั้งแต่วันที่ 22 พ.ค. 2557 – 1 เม.ย. 2558 ส่งผลให้คดีซึ่งเกิดระหว่างการประกาศกฎอัยการศึกดังกล่าวนั้นไม่สามารถอุทธรณ์และฎีกาได้แม้จะมีการยกเลิกประกาศกฎอัยการศึกแล้วก็ตาม อย่างไรก็ตามสถิติดังกล่าวไม่ได้แบ่งแยกเวลาทำให้ไม่สามารถทราบได้ว่าคดีที่ไม่มีสิทธิในการอุทธรณ์ฎีกามีจำนวนเท่าใด
2.จากสถิติคดีทั้งในพื้นที่ต่างจังหวัดและกรุงเทพมหานครพบว่าประเภทคดีซึ่งสู่การพิจารณาในศาลทหารมากที่สุดยังคงเป็นประเภทคดีตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธ พ.ศ. 2490 สถิติคดีที่สูงแสดงให้เห็นว่ามีคดีเพียงส่วนน้อยซึ่งเกี่ยวข้องทางการเมืองเท่านั้น แต่คดีส่วนใหญ่เป็นคดีอาชญากรรมที่เกิดขึ้นโดยเหตุซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับแรงจูงใจทางการเมือง แต่กลับต้องถูกดำเนินคดีในศาลทหารซึ่งมีหลักประกันสิทธิการได้รับการพิจารณาคดีที่เป็นธรรมน้อยกว่าศาลยุติธรรรม
3.เมื่อเทียบกับสถิติการดำเนินคดีพลเรือนในศาลทหารซึ่งศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนได้รับข้อมูลสถิติคดีช่วง 22 พ.ค. 2557- 30 ก.ย. 2558 ในครั้งแรก มีพลเรือนซึ่งถูกดำเนินคดีมาตรา 116 ประมวลกฎหมายอาญาในศาลมณฑลทหารบก 2 ราย ซึ่งขัดแย้งกับข้อมูลล่าสุดที่ได้รับคือไม่มีคดีมาตรา 116 ในศาลมณฑลทหารบกเลย นอกจากนี้สถิติคดีมาตรา 116 ในศาลทหารกรุงเทพ 5 คดีนั้นยังน้อยกว่าความเป็นจริงซึ่งศูนย์ทนายความฯทราบว่ามีคดีอย่างน้อย 6 คดีคือ คดีของนายจตุรนต์ ฉายแสง คดีของสมบัติ บุญงามอนงค์ คดีพลเมืองรุกเดินของพันธ์ศักดิ์ ศรีเทพ คดีมอบดอกไม้ให้พันธ์ศักดิ์ของลุงปรีชาคดีของรินดาซึ่งโพสต์ข้อความทางเฟซบุ๊ก และยังคงมีอีหลายคดีที่อยู่ในชั้นสอบสวนและชั้นพิจารณาของอัยการทหาร เช่น คดี 14 ขบวนการประชาธิปไตยใหม่ คดี 8 แอดมินเพจเรารักประยุทธ์ เป็นต้น ข้อมูลสถิติดังกล่าวจึงอาจยังไม่ครบถ้วนตามความเป็นจริง
4.เมื่อเทียบกับคดีในความรับผิดชอบของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนเฉพาะที่อยู่ในเขตอำนาจศาลทหารทั้งหมด 53 คดี โดยมีคดีที่สิ้นสุดแล้ว 16 คดี ซึ่งล้วนแต่เป็นคดีที่จำเลยรับสารภาพและไม่มีการสืบพยานในชั้นศาล แต่คดีที่ยังไม่สิ้นสุดอีก 37 คดี ที่จำเลยต่อสู้คดี ยังไม่มีคดีใดเลยที่ศาลทหารพิจารณาเสร็จสิ้นในระยะเวลาสองปีที่ผ่านมา เนื่องจากศาลทหารไม่มีระบบการนัดพิจารณาคดีอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งเมื่อพยานซึ่งนัดไว้ล่วง ไม่มาศาลโดยอ้างเหตุติดราชการ ศาลก็จะมีคำสั่งให้เลื่อนการสืบพยาน ทำให้เสียวันนัดดังกล่าวไป และโดยปกติศาลทหารจะนัดสืบพยานเพียงครึ่งวันในช่วงเช้าเท่านั้น ทำให้การพิจารณาคดีของศาลทหารเป็นไปอย่างล่าช้า ซึ่งเมื่อเทียบกับคดีประเภทเดียวกัน คือข้อหาฝ่าฝืนประกาศหรือคำสั่งคสช.ที่อยู่ในเขตอำนาจศาลยุติธรรม เนื่องจากเหตุในคดีเกิดก่อนการประกาศให้คดีฝ่าฝืนประกาศหรือคำสั่งคสช.พิจารณาในศาลทหาร คือคดีฝ่าฝืนการชุมนุมทางการเมืองของอภิชาติ พงษ์สวัสดิ์ ในศาลแขวงปทุมวันและคดีฝ่าฝืนคำสั่งเรียกรายงานตัวของสมบัติ บุญงามอนงค์ในศาลแขวงดุสิต ซึ่งจำเลยให้การปฏิเสธและต่อสู้คดีในศาลชั้นต้น ปรากฎว่าคดีดังกล่าวล้วนพิจารณาและพิพากษาแล้วทั้งสิ้น แต่คดีฝ่าฝืนประกาศหรือคำสั่งคสช.ในศาลทหารอาทิเช่น คดีฝ่าฝืนการรายงานตัวของจิตรา คชเดช กลับยังพิจารณาไม่เสร็จสิ้น
รายละเอียดเกี่ยวกับการดำเนินคดีพลเรือนในศาลทหารเพิ่มเติม
เปิดสถิติการดำเนินคดีพลเรือนในศาลทหาร
เปิด 16 ข้อ ทำไมการชี้แจงของตัวแทนรัฐบาลไทยเรื่องศาลทหาร จึงไม่ตรงกับความเป็นจริง
ความยุติธรรมในศาลทหารเพื่อ “ความมั่นคง” ChapterIII โดย ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน
รายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชน หนึ่งปีหลังการรัฐประหาร 2557: กระบวนการยุติธรรมลายพราง ภายใต้ คสช.
“ชะตากรรม” พลเรือนในศาลทหารต่างจังหวัด
เปิดถ้อยแถลงรัฐบาลไทยด้านสิทธิทางการเมือง เสรีภาพการแสดงออก และศาลทหาร กลางเวทีสิทธิมนุษยชนโลก