หมอประเวศชี้ทิศทางปฏิรูปการเรียนรู้ ต้องปฏิวัติจิตสำนึก
หมอประเวศชี้คนไทยขาดความอดทน-ทักษะการจัดการ เหตุเน้นสอนท่องวิชา เปลี่ยนคาบเร็ว หนุนทุกภาคส่วนร่วมปฏิรูประบบการศึกษาโดยใช้โรงเรียนเป็นฐาน ผจก.สสส. ระบุโจทย์ท้าทายสุขภาวะเด็กเยาวชนไทย “โรคอ้วน-สังคมก้มหน้า-เกิดน้อยด้อยคุณภาพ” สู่การสร้างทักษะพลเมืองยุคศตวรรษที่ 21
วันที่ 20-21 สิงหาคม ที่โรงแรมเซ็นทราศูนย์ราชการและคอนเวนชันเซ็นเตอร์ แจ้งวัฒนะ กรุงเทพฯ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดการประชุมเวทีวิชาการ “สานพลังการเรียนรู้ เพื่อสุขภาวะเด็กและเยาวชน : วิถีสู่โรงเรียนคุณภาพเพื่อสุขภาวะเด็กและเยาวชน” โดยมีเครือข่ายครูและบุคลากรทางการศึกษา และภาคีเครือข่ายคนทำงานเพื่อสร้างสุขภาวะเด็กและเยาวชน ทั้งจากภาครัฐ ภาคประชาสังคม และภาควิชาการ เข้าร่วมงานกว่า 1,000 คน
ศ.นพ.ประเวศ วะสี ราษฎรอาวุโส กล่าวปาฐกถาพิเศษในหัวข้อวิถีสู่การสร้างโรงเรียนคุณภาพเพื่อสุขภาวะเด็กและเยาวชน : รากฐานของการพัฒนาประเทศว่า เด็กและเยาวชนเป็นสะพานสู่การพัฒนาทั้งหมดเพราะเชื่อมโยงกับโรงเรียน ภาคเอกชน ประชาสังคม ท้องถิ่น ชุมชน อย่างไรก็ตามสัมพันธภาพในสังคมไทยส่วนใหญ่เป็นสัมพันธภาพเชิงอำนาจแนวดิ่งแม้บางครั้งจะเป็นเจตนาที่ดีก็ตามแต่ธรรมชาติของสมองจะมีปฏิกิริยาต่อสู้ โรงเรียนจึงต้องเปลี่ยนจากอำนาจแนวดิ่งเป็นสัมพันธภาพแนวราบโดยเปิดออกไปสัมพันธ์กับความจริงของชีวิตและสิ่งแวดล้อม เชื่อมโยงกับชุมชน ท้องถิ่น ภาคธุรกิจ
“การพัฒนาเด็กและเยาวชนต้องตระหนักว่า ไม่มีใครเหมือนกันในโลก อย่าทำลายเยาวชนด้วยการยัดเยียดให้ท่องวิชาเหมือนกัน เยาวชนทุกคนต้องเก่งในทางที่ต่างกัน คนไทยทุกวันนี้ขาดความอดทน ไม่มีสมาธิอยู่ได้นานๆเพราะวิธีการเรียนที่เปลี่ยนเป็นคาบๆ ไม่มีโอกาสได้ทำในสิ่งที่ชอบได้นานๆ ดังนั้นการศึกษาต้องวางแผนให้เด็กได้ทำสิ่งที่ชอบได้นานๆ ซึ่งเป็นการฝึกสมาธิและความอดทน"
ศ.นพ.ประเวศ กล่าวถึงการที่คนไทยขาดทักษะการจัดการ ถือว่า เป็นอันตรายมากในการทำงาน เพราะการศึกษาเน้นแต่ท่องวิชา หากให้เด็กได้ฝึกปฏิบัติจะเป็นการฝึกทักษะการจัดการ ทั้งนี้สังคมไทยเป็นสังคมที่มีความซับซ้อนไม่สามารถแก้ปัญหาได้เพียงลำพังต้องอาศัยศักยภาพสูงสุดของมนุษย์ร่วมกันนั่นคือ การปฏิวัติจิตสำนึกและสัมพันธภาพแบบใหม่ เพราะทุกคนมีจิตสำนึกมีสมองส่วนหน้าเหมือนกัน ครูจึงมีบทบาทสำคัญที่จะช่วยให้ทุกคนได้ค้นพบและเป็นเมล็ดพันธุ์ความดีที่จะช่วยกู้สิ่งเหล่านี้
ด้านดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการ สสส. กล่าวถึงการพัฒนาเด็กและเยาวชนให้มีสุขภาวะที่ดีการให้ความรู้เพียงอย่างเดียวไม่เพียงพอสำหรับการเป็นพลเมืองของโลกในยุคศตวรรษที่ 21 จึงต้องสร้างทักษะที่จำเป็นโดยเฉพาะทักษะที่ตลาดแรงงานโลกต้องการในอีก 4 ปีข้างหน้า ได้แก่ ทักษะการแก้ไขปัญหาที่ซับซ้อน การคิดวิเคราะห์ ความคิดสร้างสรรค์ การจัดการบุคคล และการทำงานร่วมกัน นอกจากนี้ยังมีโจทย์ท้าทายต่อการเสริมสร้างสุขภาวะเด็กและเยาวชน ทั้งภาวะน้ำหนักเกินพบว่า 1 ใน 4 ของเยาวชนไทยเป็นโรคอ้วน โดยพบแนวโน้มการกินเครื่องดื่มหวานในกลุ่มเด็กเล็กเพิ่มขึ้น ภาวะสังคมก้มหน้า
"ปัจจุบันคนไทยใช้เวลากับโทรศัพท์มือถือถึง 4.2 ชั่วโมงต่อวัน โดยส่วนใหญ่ใช้งานไปกับสื่อโซเซียลมีเดีย รวมถึงกระแสโปเกม่อนที่กำลังเป็นที่นิยมของวัยรุ่นไทยในปัจจุบัน และภาวะการเกิดน้อยด้อยคุณภาพ ในปี 2557 มีทารกที่เกิดจากแม่วัยรุ่นวันละ 334 คน โรงเรียนจึงถือเป็นฐานการทำงานที่สำคัญ เพราะส่งผลถึงเด็กและเยาวชนโดยตรง โดยมีเป้าหมายสำคัญคือ การทำให้ผู้เรียนเป็นสุข ทั้งร่างกาย จิตใจ ทักษะชีวิต ความเป็นพลเมืองดี และความรักในการเรียนรู้ จึงต้องทำทั้งการลดปัจจัยเสี่ยง จัดโครงสร้างและระบบต่าง ๆ ให้โรงเรียน สภาพแวดล้อม ครอบครัว และชุมชนเป็นพื้นที่ปลอดภัย โดยทำงานร่วมกันของคน 4 กลุ่ม คือ ผู้ปกครองและชุมชน คณะกรรมการสถานศึกษา ผู้บริหาร และครู"
ด้านศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ อาจารย์ประจำคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงนโยบายการศึกษาที่ผ่านมาล้มเหลวโดยสิ้นเชิงเพราะการจัดทำแผนเชิงนโยบายส่วนใหญ่วางแล้วให้ผู้อื่นรับไปทำ การถ่ายทอดนโยบายจึงเป็นการทำงานจากบนลงล่างโดยใช้วิธีการฝึกอบรม ทำเอกสาร งานนำร่อง การตีความจึงเป็นไปคนละทิศทางกลายเป็นภาระของครูและโรงเรียน
ขณะเดียวกันในระดับสถานศึกษามีหลายแห่งที่ถูกพัฒนาจากล่างขึ้นบน แต่ไม่สามารถขยายผลได้เพราะขาดการเชื่อมโยงกับระดับนโยบายซึ่งเป็นข้อจำกัดของการศึกษา แต่ขณะนี้ได้มีการเปลี่ยนบทบาทการจัดการศึกษาที่ส่วนกลางจะเล็กลง ทำหน้าที่กำกับเชิงนโยบายเพื่อกระจายอำนาจให้จังหวัดเป็นฐานเพื่อเชื่อมโยงจากบนสู่ล่างและล่างขึ้นบน โดยแบ่งการปฏิรูปการศึกษาออกเป็น 77 จังหวัดตามความหลากหลายและบริบทของพื้นที่ ดังนั้นสิ่งที่จังหวัดต้องเคลื่อนตัวครั้งสำคัญคือการจัดทำยุทธศาสตร์การพัฒนาคนของจังหวัดและการบริหารบุคคล จึงร่วมกับสสส.ในการจัดทำหลักสูตรภูมิสังคมโดยมองถึงคุณลักษณะและสมรรถนะของเด็กในแต่ละบริบทพื้นที่เพื่อนำไปสู่หลักสูตรการปรับใช้เป็นหลักสูตรของสถานศึกษาในทางปฏิบัติ