หมอชนบทระดมพลใหญ่ 20 ม.ค.ค้านขบวนการล้มบัตรทอง
ชมรมแพทย์ชนบท แฉต่อ “ขบวนการล้มบัตรทอง” ของนักการเมือง-กลุ่มธุรกิจยา ปิดห้องประชุมลับในกระทรวง จัดโผตั้งอนุ กก.คลัง ล้วงหัวใจบอร์ด สปสช. เตรียมระดมเครือข่ายทั่ว ปท.ค้านถึงที่สุด
นพ.อารักษ์ วงศ์วรชาติ ประธานคณะทำงานจัดทำข้อเสนอเพื่อพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ชมรมแพทย์ชนบท เปิดเผยว่าแผนล้มระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า 4 ขั้นตอนของกลุ่มผลประโยชน์ต่างๆกำลังเดินหน้าอย่างต่อเนื่อง โดยทางชมรมได้รับข้อมูลว่าวันที่ 11 ม.ค.ที่ผ่านมา มีการประชุมลับระหว่างผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข นายทุนพรรคการเมือง ตัวแทน รพ.เอกชน เพื่อจัดโผแต่งตั้งอนุกรรมการการเงินการคลัง ซึ่งเป็นคณะอนุกรรมการที่มีความสำคัญที่สุดของคณะกรรมหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(บอร์ดสปสช.)
โดยคณะอนุกรรมการดังกล่าวมีหน้าที่เสนองบประมาณเหมาจ่ายรายหัวและการจัดสรรงบ สปสช.ให้แต่ละพื้นที่ และยังมีการจัดรายชื่อเปิดโอกาสให้กลุ่มผลประโยชน์ต่างๆเข้าสู่คณะอนุกรรมการ สปสช.อีก 12 ชุด เพื่อมีบทบาทกำหนดนโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าแบบเบ็ดเสร็จตามแผนขั้นที่หนึ่งนำไปสู่การล้ม พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติที่อดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร ร่วมกับ นพ.สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ และภาคประชาชนได้เริ่มต้นไว้
“ความเคลื่อนไหวของนักการเมืองที่บริหารกระทรวง ร่วมกับกลุ่มแพทย์พาณิชย์ บริษัทยาข้ามชาติเพื่อหวังล้มระบบบัตรทองที่ทำกันมาเกือบ 10ปี จะได้รับการคัดค้านจากกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพและเครือข่ายผู้ป่วยต่างๆทั่วประเทศ รวมทั้งชมรมแพทย์ชนบทอย่างเต็มที่ โดยชมรมจะประชุมกรรมการทั่วประเทศ 20 มค.นี้ อยากให้นายกฯยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เข้ามาดูเรื่องนี้ เพื่อไม่ให้มีผู้ป่วยโรคไต หัวใจ มะเร็ง คนพิการ และผู้สูงอายุที่เป็นโรคต้อกระจกทั่วประเทศต้องลำบากไปที่ทำเนียบรัฐบาล” นพ.อารักษ์ กล่าว
อดีตประธานชมรมแพทย์ชนบท กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมาคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติสมัย นายวิทยา บูรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานมีการประชุมเพียงแค่ 2ครั้ง แต่ละครั้งมีปัญหาการยื่นหนังสือคัดค้านจากกลุ่มต่างๆ รวมทั้งการฟ้องศาลปกครองเกี่ยวกับการคัดเลือกกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิว่าผิดกฎหมาย และไม่สามารถผลักดันให้มีการตั้งคณะอนุกรรมการชุดต่างๆตามที่ต้องการได้ เพราะมีเสียงคัดค้านจากกรรมการภาคประชาชน และส่วนราชการบางกระทรวง
ขณะเดียวกันมีความวิตกของนักวิชาการว่าระบบหลักประกันสุขภาพของไทยจะล่มสลายเพราะจะมีการกดดันให้เสนอเพิ่มงบเหมาจ่ายให้ใกล้เคียงกับระบบประกันสังคมและเพิ่มขึ้นสูงกว่าสวัสดิการข้าราชการ ซึ่งจะทำให้งบประมาณเฉพาะผู้ป่วยระบบบัตรทองเพิ่มขึ้นมากกว่าเท่าตัวคือจาก 34,000 ล้านบาทเป็น 82,500 ล้านบาท กระทบต่อระบบการเงินของประเทศครั้งใหญ่ จนต้องล้มระบบบัตรทอง กลับไปเป็นระบบสงเคราะห์ผู้มีรายได้น้อยผู้ป่วยอนาถาในที่สุด .