แก้ปัญหากัดเซาะชายฝั่งต้องไม่ถมหิน นักวิชาการทางทะเล แนะรัฐปรับระบบคิด
นักวิชาการทางทะเล แนะรัฐเปลี่ยนวิธีคิด จัดการปัญหากัดเซาะชายฝั่งอย่างยั่งยืน ต้องเวนคืนที่ดิน สร้างระบบถอยร่น ย้ายปชช.ออก ให้ธรรมชาติปรับตัว
สืบเนื่องจากมติที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2559 ในประเด็นเรื่อง แจ้งรับทราบเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาการกัดเซาะพื้นที่ชายฝั่งทะเล ตามที่นายกรัฐมนตรีได้สั่งการเมื่อคราวประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2559 ที่ให้มีการสำรวจพื้นที่ชายฝั่งทางทะเลที่ประสบปัญหาน้ำทะเลกัดเซาะ โดยให้ใช้หลักการทางวิชาการในการกำหนดพื้นที่ตามระดับความเสี่ยงและความเสียหายจากการกัดเซาะพื้นที่ชายฝั่ง โดยประสานความร่วมมือกับนักวิชาการที่มีความรู้ความชำนาญร่วมตรวจสอบวิเคราะห์ข้อมูลและสถานการณ์การกัดเซาะพื้นที่ชายฝั่งในภาพรวมของประเทศ รวมถึงจัดลำดับพื้นที่เป้าหมายเร่งด่วนที่ประสบปัญหาการกัดเซาะจำนวน 306 พื้นที่ เป็นระยะทางทั้งหมด 830 กิโลเมตร คิดเป็นร้อยละ 26 ของแนวชายฝั่งทะเลไทย แบ่งเป็นระดับวิกฤต 48 พื้นที่ ระดับเร่งด่วน 160 พื้นที่ และระดับเฝ้าระวัง 98 พื้นที่ โดยได้แต่งตั้งคณะทำงานบูรณาการเพื่อกำหนดแนวทางแผนงานโครงการและงบประมาณการจัดการป้องกันแก้ไขปัญหาการกัดเซาะของชายฝั่ง
นายศักดิ์อนันต์ ปลาทอง นักวิชาการด้านวิทยาศาสตร์ทางทะเล มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวอิศรา ว่า ปัญหาที่ผ่านมาคือ ความเข้าใจทางวิชาการ และความเชื่อของคนที่ว่า จะเอาชนะธรรมชาติได้ ปรากฏว่า ไม่ใช่ และความคิดที่ว่าชายฝั่งต้องคงที่ แต่จริงๆ มีการเปลี่ยนแปลงตลอด เพราะบางฤดูคลื่นอาจขึ้นมาสูงบ้าง บางฤดูหาดทรายก็จะโผล่มายาวบ้าง แต่พอเราอะไรไปวาง เช่น ลงหิน สร้างกำแพงกันคลื่นนอกชายฝั่ง ตัวอย่างปากพนัง หัวไทร ระยอง ชะอำ เป็นต้น สร้างตรงไหน พื้นที่ใกล้เคียงก็พังต่อ กลายเป็นปัญหาที่ไม่จบสิ้น
นายศักดิ์อนันต์ กล่าวถึงจำนวนพื้นที่ 830 กิโลเมตร เป็นตัวเลขเก่า ที่ผ่านมาเราหมดเงิน 6 พันล้านบาท แต่พื้นที่ปัญหายังเท่าเดิม ปัญหาคือที่ลงไปแล้ว สะท้อนว่าวิธีการที่ผ่านมาเรามั่วตลอด 6 พันล้านบาทที่ลงไปล้มเหลว ซ้ำยิ่งสร้างกำแพงหิน ยิ่งเกิดการพัง การกัดเซาะต่อเนื่อง สิ่งที่ต้องทำคือเปลี่ยนหลักคิดใหม่ในการแก้ปัญหา ต้องคิดเรื่องพื้นที่ถอยร่น เข้าใจธรรมชาติให้มากขึ้น
"จริงๆ ทรายเป็นตัวปกป้องชายฝั่ง หาดทรายคือรั้วของชายฝั่ง แต่กลับกันหินเหล่านั้น ทำลายสมดุลทั้งหมด จะแก้ไขปัญหาเห็นด้วย แต่ต้องเปลี่ยนหลักคิดใหม่ว่า การถมหินก็สร้างปัญหาต่อเนื่อง งบก็ยิ่งต้องใช้มากขึ้น ทั้งถมที่ใหม่ และที่เก่า งบประมาณของกรมโยธามีงบซ่อมแซมทุกปี แต่ปัญหาไม่เคยลดเลย แสดงว่าเราล้มเหลว"
อ่านประกอบ