ดร.วรวรรณ แนะกอช.กระตุ้นออมให้ง่ายเหมือนเติมเงินในมือ
1 ปี กอช.มีสมาชิกแค่ 4 แสนกว่า นักวิชาการ ประเมินล้มเหลว พลาดเป้าจากที่ตั้งไว้ 1.5 ล้านตน แนะกอช.ส่งเสริมการออมให้ถูกจุด เปิดช่องทางรับสมัครให้มาก-สะดวกกว่าเดิม
เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2559 ครบ 1 ปี ของการเปิดกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) โดยข้อมูล ณ วันที่ 31 กรกฎาคม 2559 กอช.มีสมาชิก 437,501 ราย สัดส่วนอายุสมาชิก มากกว่า 15 ปี แต่ไม่เกิน 30 ปี มีอยู่ 6% ,มากกว่า 30 ปี แต่ไม่เกิน 50 ปี มีอยู่ 48%,มากกว่า 50 ปี แต่ไม่เกิน 60 ปี มีอยู่ 40% และมากกว่า 60 ปีขึ้นไป มีอยู่ 6%
ดร. วรวรรณ ชาญด้วยวิทย์ ที่ปรึกษาด้านหลักประกันทางสังคม สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวอิศราว่า ปัจจุบัน กอช.มีสมาชิกอยู่ 4 แสนคนโดยประมาณ ซึ่งถือว่าล้มเหลว เนื่องจากในตอนต้นได้ตั้งเป้าไว้ 1.5ล้านคน แต่ก็ยังทำไม่ได้ตามเป้า ทั้งที่มีประชาชนอีกกว่า 30 ล้านคนที่ไม่ได้เข้าร่วมในกองทุนอะไรเลย แต่ก็ไม่ สามารถดึงมาให้เข้าร่วมเป็นสมาชิกได้
ดร. วรวรรณ กล่าวถึงสถิติการออมของผู้สูงอายุในประเทศไทยค่อนข้างน้อย โดย 38 % พึ่งพาเงินจากลูกหลาน และ 5 % มีเงินบำเหน็จบำนาญ มีน้อยมากที่อาศัยเงินออมของตัวเอง ตรงนี้ทำให้เห็นว่า การออมแบบรายบุคคลของผู้สูงอายุในประเทศไทยยังน้อยอยู่ ตรงนี้จะส่งผลต่ออนาคตที่ประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างแน่นอน ด้วยการเป็นอยู่ การใช้ชีวิตที่เปลี่ยนไป ค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้น หากไม่มีการเก็บออมเตรียมตัวเมื่อกลายเป็นสูงอายุก็จะลำบาก
"คนที่อายุ 50 ปีขึ้นไปเหลือเวลาเก็บออมอีกแค่ 10 ปี รัฐบาลควรต้องกระตุ้นคนกลุ่มนี้ โดยออกนโยบายสนับสนุนให้คนกลุ่มนี้เน้นการออมมากขึ้น แต่ที่จริงแล้วรัฐควรเน้นกระตุ้นสมาชิกที่เป็นคนวัยทำงาน ซึ่งมีจำนวนมากกว่าด้วย ซึ่งหากรัฐบาลต้องการประสบความสำเร็จในการกระตุ้นการออมควรศึกษาพฤติกรรมของคนวัยทำงานให้มากกว่านี้ และควรคิดด้วยว่า ทำอย่างไรให้การออมนั้น ง่ายเหมือนการเติมเงินในโทรศัพท์มือถือ และคิดว่า ทำอย่างไรให้กองทุนสวัสดิการชุมชนที่มีอยู่ทั่วประเทศสามารถเชื่อมโยงกันได้ ให้ช่วยกระตุ้นสมาชิกในเรื่องของการเก็บออมและนำมาสะสมกับกอช."
นักวิชาการทีดีอาร์ไอ กล่าวอีกว่า ปัจจุบันแรงงานนอกระบบกระจายอยู่ทั่วประเทศ แต่รัฐไม่มีช่องทางที่เด่น เพียงช่องทางเดียวที่จะรวบรวมคนเหล่านั้นได้
"ส่วนหนึ่งที่คนไม่ให้ความสำคัญกับการออม เกิดจากมองว่า การออมเป็นเรื่องไกลตัว ข้อมูลข่าวสารจากรัฐยังไม่มากพอ และอีกส่วนคือความยากลำบากในการสมัครสมาชิกที่ต้องสมัครที่ธนาคารเฉพาะแห่งเท่านั้น และต้องเช็คไปถึงการเป็นสมาชิกประกันสังคมอีก ทำให้ต้องใช้เวลา ตรงนี้แนะนำว่า ควรทำให้การสมัครสมาชิก กอช.สะดวกขึ้น เช่น เดินเข้าร้านสะดวกซื้อแล้วยื่นบัตรประชาชนสมัครได้เลย เป็นต้น"
ดร. วรวรรณ กล่าวถึงการที่กระทรวงการคลังกำลังจะตั้งกองทุนบำนาญแห่งชาติ (กบช.) เพื่อต้องการให้ลูกจ้างทุกคนมีทุนสำรองเลี้ยงชีพ โดยบังคับการออม เพื่อที่ให้มีเงินเก็บเอาไว้ใช้ตอนเกษียณอายุ ซึ่งสอดคล้องกับที่สภาปฏิรูปแห่งชาติ(สปช.) มีข้อเสนอให้มีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพควรจะเป็นการบังคับออม เพราะทุกวันนี้เป็นการออมโดยสมัครใจ
"ส่วนตัวไม่เห็นด้วยในการจัดตั้งกองทุนใหม่ เพราะปัจจุบันก็มีกองทุนอยู่แล้ว คือ กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ก็ให้ใช้กองทุนตรงนี้ไปเลยแทนที่จะไปตั้งกองทุนใหม่ขึ้นมา ซึ่งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพแต่ละบริษัท ได้มีการดำเนินการกับธนาคารต่าง ๆ อยู่แล้ว หากภาครัฐต้องการที่จะบังคับให้ลูกจ้างออม ก็เพียงแต่ไปแก้ที่ตัวกฎหมาย และรัฐอยากให้ประชาชนออมเพิ่มก็เพียงแต่กำหนดการออมขั้นต่ำควรที่จะเป็นอัตราเท่าไหร่แทนที่จะไปตั้งอีกกองทุน"
สาเหตุที่กองทุนกบช.ไม่ควรที่จะจัดตั้ง นักวิชาการทีดีอาร์ไอ กล่าวด้วยว่า เพราะการตั้งกบช.ขึ้นมาจะทำให้มีค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการ ซึ่งมีค่าใช้จ่ายในการบริหารค่อนข้างสูง การจัดตั้งกบช.ขึ้นมาภาครัฐไม่ได้สมทบทุนให้ แต่ภาครัฐจะมามีส่วนร่วมในการเป็นกรรมการอยู่ในกบช. เมื่อไหร่ที่มีราชการมานั่งอยู่ในงานบริหาร ราชการก็ไม่จำเป็นต้องรับผิดชอบต่อผลการดำเนินงานที่มีสมาชิกเป็นลูกจ้างเอกชน ฉะนั้นภาครัฐจะบริหารดีหรือไม่ดี ลูกจ้างเอกชนก็จะไม่สามารถทำอะไรได้ แม้ว่าจะมีกรรมการบางส่วนมาจากสมาชิกก็ตาม
"ขอยืนยันว่า ไม่มีประโยชน์เลยในการที่จะตั้งกบช.ขึ้นมาอีก 1 หน่วยงาน ทั้งที่มีกลไกลในการออมของประชากรเดิมอยู่แล้ว"