ถอดบทเรียนอินโดฯ มีกก.แพทยสภาคนนอก ทำให้ปชช.เชื่อมั่นมากขึ้น
ตัวแทนกรรมการแพทย์สภาอินโด ชี้ดึงคนนอกร่วมตรวจสอบการทำงานแพทย์ สร้างความเชื่อมั่นให้กับปชช.มากขึ้น ด้าน 'สารี' แนะวิธีตรวจสอบกำกับวิชาชีพแพทย์ไทยยังน่าห่วง
เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2559 ที่ห้องประชุม มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค จัดเสวนา “ทำไมแพทยสภาต้องมีคนนอก” ฟังประสบการณ์จากประเทศอินโดนีเซีย
นางสาวอินดา สุขมานิสิงค์ ผู้แทนจากสมาคมผู้บริโภคอินโดนีเซีย (YLKI) กล่าวว่า การเป็นกรรมการแพทยสภาของอินโดนีเซีย ตามกำหนดทางกฎหมาย โดยต้องมีสัดส่วนของคนนอกเข้าไป ซึ่งผ่านการแต่งตั้งโดยประธานธิบดีของรัฐ ( president of the state และ president of the goverment ) ซึ่งคนนอกที่เข้ามามีบทบาทในการปกป้องประชาชน ชี้นำประชาชน ทั้งนี้ แพทยสภาของอินโดนีเซียดูตั้งแต่เป็นนักศึกษาแพทย์ในมหาวิทยาลัย การพัฒนาทักษะ จนกระทั่งออกมาทำงาน
น.ส.อินดา กล่าวถึงแพทยสภาอินโดฯ มีรูปแบบการทำงานครอบคลุมสามอย่างคือ (1)ให้มีการลงทะเบียนของหมอทุกคน โดยหมอจะต้องมายื่นใบสมัครเพื่อลงทะเบียน และทางนี้ต้องตรวจสอบว่าแพทย์คนนี้จบจากไหน เรียนอะไร ความสามารถในการรักษา ไม่ใช่ว่าจะเป็นหมอเเล้ว จะทำได้เลย ต้องผ่านการตรวจสอบทักษะก่อน (2)เมื่อรับรองว่าหมอมีความสามรถ และการันตีเเล้ว ถ้ามีปัญหาอะไร สามารถร้องเรียนได้ และเมื่อพบว่าคุณภาพของหมอเหล่านั้นตกไป ก็จะมีการการยึดคืนใบประกอบโรคศิลป์ (3) กลไลระงับข้อพิพาท โดยมีไตรภาคี ซึ่งสัดส่วนของกลุ่มอยู่ 3 กลุ่ม กลุ่มแรกคือหมออาชีพ กลุ่มที่สองคือแพทย์ที่มีความรู้ด้านกฎหมาย กลุ่มสุดท้ายคือนักกฎหมาย ซึ่งเป็นคนนอก เป็นคนที่อยู่ฝั่งผู้บริโภค เพื่อจะเข้าใจสถานการณ์คนไข้
“เราเชื่อมั่นว่าจะเป็นองค์ประกอบที่จะให้ความเป็นธรรมกับผู้บริโภค หากแพทย์ทำตกมาตรฐาน สามารถยึดใบประกอบ ระงับการใช้งานได้”น.ส.อินดา กล่าว และว่า รูปแบบของแพทย์สภาอินโดฯ ก่อตั้งเมื่อปี 2004 โดยลอกเลียนมาจากอังกฤษ ซึ่งที่น่าประทับใจมากๆ คืออินโดมีสานต่อ จากเดิมของอังกฤษมี 25% ของคนนอก แต่ปัจจุบันของอังกฤษ 50:50 มีคนนอกมาตรวจสอบหมอด้วยกันเอง ซึ่งแพทย์ยอมจ่ายเงินตัวเองเพื่อให้มีนอกเข้ามา 50% เป็นการสร้างความเชื่อใจให้ประชาชนในระบบกาตรวจสอบดูเเล
“แพทยสภาอินโดฯได้รับการแต่งตั้งจากอนามัยโลกเพื่อมาตรฐานให้องค์กรแพทย์ของอาเซียนทั้งหมด”
ด้าน นางสารี อ๋องสมหวัง มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า สถานการณ์ของกฎหมาย พ.ร.บ.ประกอบวิชาชีพเวชกรรม (แพทยสภา) ซึ่งมีความพยายามในการแก้ไข เนื่องจากสถานการณ์ปัญหาที่เกิดขึ้นในขณะนี้ คือประชาชนขาดความมั่นใจในการพิจารณาตัดสินปัญหาที่เป็นธรรม มาตรฐานการรักษาพยาบาลและจริยธรรมของแพทยสภา ทั้งนี้ยังรวมไปถึงความล่าช้าในการพิจารณาคดี ทำให้คดีหมดอายุความ
นางสารี กล่าวด้วยว่า ที่ผ่านมาพบว่ามีการคุ้มครองสิทธิแพทย์มากกว่าผู้ป่วยหรือประชาชน เช่น กรณีการออกประกาศสิทธิแพทย์ การผลักดันการออกพระราชกฤษฎีกาตรา พ.ร.บ.ความรับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นจากสินค้าที่ไม่ปลอดภัย การคัดค้านการออกกฎหมายคุ้มครองผู้เสียหายทั้งที่เป้าหมายสำคัญคือการลดการฟ้องร้องแพทย์โดยมีกองทุนรับผิดชอบแทนแพทย์ รวมถึง การเลือกปฏิบัติ การปฏิเสธการรักษาต่อผู้ป่วยที่ติดเชื้อ HIV ที่ส่งผลกระทบการรักษาโรคต่างๆ อาทิ การถอนฟัน ฟอกไต เป้นต้น กรณีตัวอย่างเช่น การรักษาที่มีค่าบริการมากกว่าปกติ.