ว่าด้วย 'นายกฯคนนอก' !
เพราะลำพัง 2 พรรคการเมืองใหญ่รวมกันก็เกิน 250 เสียง แล้ว 2 พรรคใหญ่นี้มีจุดยืนไม่ต้องการนายกรัฐมนตรีคนนอกไม่ใช่หรือ ?
คำนูณ สิทธิสมาน โพตส์บทความในเฟซบุ๊กส่วนตัวเรื่อง ว่าด้วย 'นายกฯคนนอก' !
---------
ตามร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่อยู่ระหว่างการปรับแก้ตามคำถามพ่วงที่ผ่านประชามติมาด้วยกัน โอกาสจะมีนายกรัฐมนตรีคนนอกบัญชีรายชื่อพรรคการเมืองที่เสนอไว้ในวันสมัครเลือกตั้งแม้จะมี แต่ก็น้อยมาก และยากมาก แถมยังมีโอกาสเกิดขึ้นได้เพียงครั้งเดียว คือ ในการเลือกนายกรัฐมนตรีครั้งแรกหลังการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกเท่านั้นถ้าพรรคการเมืองทำได้เพียง 3 ประการ ก็ปิดประตูสำหรับนายกรัฐมนตรีคนนอกเกือบสนิท
1. ไม่เสนอชื่อบุคคลภายนอกพรรคตนเองเป็นว่าที่นายกรัฐมนตรีในวันสมัครรับเลือกตั้ง
2. ผนึกกำลังกันให้ได้ 376 เสียงขึ้นไปเลือกคนในบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองเสนอไว้คนใดคนหนึ่งในการเลือกนายกรัฐมนตรีครั้งแรกในที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา
ทำตามข้อ 1 และข้อ 2 ได้ก็เป็นอันจบข่าว จะไม่มีทางเกิดกรณียกเว้นแน่นอน
แต่ถ้าทำตามข้อ 2 ไม่ได้เพราะ 2 พรรคใหญ่ไม่ยอมกัน หรือไม่ว่าด้วยเหตุใด ก็ยังมีก็อก 3 อีก
3. ผนึกกำลังกันได้มากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเพียง 1 เสียง คือ 251 เสียงจาก 500 เสียง
เพราะก็อก 3 นี้เป็นกรณีที่จะนำไปสู่เหตุยกเว้นให้มีการเสนอชื่อนอกบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองเสนอไว้ได้ ซึ่งร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ในมาตรา 272 ตามคำอรรถาธิบายของกรธ.อนุญาตไว้ครั้งเดียวคือครั้งแรกหลังการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกนั้น ต้องใช้เสียงอนุมัติถึง 2 ใน 3 ของที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา คือ 500 จาก 750 เสียง ถ้าอนุมานว่าส.ว.ทุกคนทั้ง 250 คนต้องการยกเว้น ก็ยังจะต้องได้รับความร่วมมือจากส.ส.อีกตั้ง 250 คนมาร่วมมือโหวตไปในทิศทางเดียวกันจึงจะมีมติให้ยกเว้นได้
ซึ่งยากมากถึงยากที่สุด !
เพราะลำพัง 2 พรรคการเมืองใหญ่รวมกันก็เกิน 250 เสียง แล้ว 2 พรรคใหญ่นี้มีจุดยืนไม่ต้องการนายกรัฐมนตรีคนนอกไม่ใช่หรือ ?
เพราะฉะนั้น ถึงส.ว.จะเข้ามาร่วมเลือกนายกรัฐมนตรี กับ ส.ส.ทุกครั้งที่จะเกิดขึ้นตลอด 5 ปีแรก ก็จะทำได้แค่เลือกจากคนในบัญชีที่พรรคการเมืองที่มีจำนวนส.ส. 25 คนขึ้นไปเสนอไว้ในวันสมัครรับเลือกตั้งเท่านั้น
ที่ใช้คำว่า ประตูปิดเกือบสนิทก็เพราะในการเลือกนายกรัฐมนตรีครั้งแรกอาจทำทั้งข้อ 2 และข้อ 3 ไม่สำเร็จก็เป็นไปได้
คือเลือกครั้งแรกไม่มีใครได้เสียงถึง 376 ตามข้อ 2 แต่จะยกเว้นก็ไม่ได้เพราะมีเสียงไม่ถึง 500 ตามข้อ 3
ซึ่งแม้ดูเหมือนจะเป็นทางตัน แต่ยังไม่ตัน เพราะมีวิธีผ่าทางตันตามมาตรา 5 ที่ร่างรัฐธรรมนูญใหม่นี้บัญญัติขึ้นไว้เป็นครั้งแรก
นี่เป็นการมองการเมืองแบบการเมืองเก่าหรือการเมืองแบบที่ยังเป็นอยู่เมื่อถึงเวลาจริง อาจจะไม่เป็นเช่นนี้เลยก็ได้ !เพราะอาจเกิดปรากฎการณ์ที่อยากจะเรียกว่า 'มหาฉันทมติ' จากพรรคการเมืองทุกพรรคหรือเกือบทุกพรรคร่วมมือกันทำให้เกิดข้อยกเว้นตามข้อ 3 ให้สามารถเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีจากคนนอกบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองเสนอไว้ได้ เพราะเห็นว่าเป็นทางออกที่ดีที่สุดของประเทศในบริบทของสถานการณ์โดยรวม
หมายเหตุท้ายความเห็น
1. ควรต้องอ่านตัวบทบัญญัติร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ มาตรา 159, 88 และ 272 โดยเฉพาะอย่างยิ่ง 272 ที่ถ่ายมาให้ดูนี้ มาตรา 272 จะมีการปรับแก้ให้สอดคล้องกับผลประชามติคำถามพ่วง เฉพาะที่เห็นแน่ ๆ คือเมื่อยกเว้นได้แล้วก็กลับไปเลือกกันในที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา ส่วนที่ยังไม่เห็นก็มีความสำคัญยิ่ง
2. ไม่รู้ว่า 'มหาฉันทมติ' จะใช้คำแปลภาษาอังกฤษว่า 'Grand Consensus' ได้ไหม เพราะทำให้นึกถึงคำว่า 'Grand Coalition' ที่อ.เอนก เหล่าธรรมทัศน์เคยเสนอเมื่อช่วงปีสองปีก่อน ถึงขนาดเกือบ ๆ จะเสนอให้บัญญัติไว้ในร่างรัฐธรรมนูญฉบับก่อนที่ตกไปให้เป็นมาตราการบังคับให้เกิดในบทเฉพาะกาล เพราะถ้าเกิด Grand Consensus ทำให้เกิดข้อยกเว้น สิ่งที่จะตามมาก็คือ Grand Coalition โดยอัตโนมัติ โดยไม่ต้องบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ในกรณีนี้แทนที่จะแปลคำ Grand Coalition ว่ารัฐบาลผสม หรือรัฐบาลแห่งชาติ ให้แปลว่า 'มหาพันธมิตร' จะได้ไหมเพื่อให้สอดคล้องกับ 'มหาฉันทมติ' ที่ต้องเกิดขึ้นก่อน