ดร.สกนธ์ ห่วงร่างภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ไม่ช่วยท้องถิ่นมีเงินเพิ่ม
ดร.สกนธ์ ห่วง ร่างภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง กำหนดอัตราจัดเก็บสูง ไม่ช่วยให้ท้องถิ่นมีเงินเพิ่ม แถมรัฐต้องอัดฉีดมากขึ้น
รวันที่ 16 สิงหาคม 2559 ณ ห้องคอนเวชั่น 1 อาคารศูนย์เรียนรู้ สำนักงานใหญ่องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย มูลนิธิไทยพีบีเอส จัดสัมมนาเชิงวิชาการ เรื่อง “ร่างภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ใครได้ใครเสีย”
ศ.ดร.สกนธ์ วรัญญูวัฒนา คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวถึงการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างว่า สิ่งที่น่าห่วงของร่างภาษีนี้คือ (1) ถ้ามีการออกมาเเล้วภายใต้โครงสร้างดังกล่าวจะช่วยแก้ปัญหาภาษีเดิมหรือไม่ ซึ่งโดยหลักการร่างภาษีใหม่เป็นเรื่องที่ดีในแง่ว่าทุกคนจ่ายในอัตราที่ต่ำมาก เป็นลักษณะการช่วยเฉลี่ยๆ คนละนิดคนละหน่อย ทำให้แต่ละคนมีส่วนร่วม ด้วยภาระภาษีเล็กน้อย แก้ปัญหาของภาษีทั้งสองตัวเป็นอย่างดี ช่วยให้เราหันมาสนใจบริการสาธารณะมากยิ่งขึ้น
(2) หากภาษีตัวนี้ออกมาเเล้ว ประสิทธิภาพ การเป็นเเหล่งรายได้ให้กับ อปท. ที่ตั้งไว้ 6-7 หมื่นล้านบาท และรัฐบาลไม่ต้องเอาเงินภาษีไปอุดหนุน จะสามารถเป็นไปตามเป้าหรือไม่ เพราะเกษตรกรรายย่อย ที่ถือครองที่ดินมูลค่าเกิน 50 ล้านบาท น้อยมากหรือไม่มีเลย หมายความว่า ท้องถิ่น อบต. ที่เป็นหน่วยงานดูเเลฐานภาษีจะไม่มีเงินเหลือ หรือกรณีที่กำหนดว่าบ้านที่ต้องเริ่มเสียภาษีคือหลังที่สอง และบ้านที่เกิน 50 ล้านบาท ซึ่งในความเป็นจริง บ้านที่เกิน 50 ล้านบาทมีแค่ 8 พันหลัง ดังนั้น สัมฤทธิ์จากฐานการเกษตรหรือบ้านตามท้องถิ่น ก็จะไม่ใครต้องจ่ายเงินให้ท้องถิ่น ดังนั้น การออกแบบกฎหมายดังกล่าวจึงเหมือนกลัวๆ กล้าๆ ว่า ถ้าเก็บภาษีบ้านทุกหลังจะโดนต่อต้าน ซึ่งนั่นหมายความบ้านแทบจะทั้งหมด ไม่ต้องรับภาระภาษีเลย
"สิ่งที่น่าห่วงคือ ช่วงเปลี่ยนผ่านภาษีตัวนี้ จะมาแทนตัวเดิม ผมเชื่อว่าส่งหนึ่งที่จะเกิดผลกระทบทันทีคือรายได้ของท้องถิ่นจะหายไป หลายคนบอกไม่เห็นเป็นไร วันนี้ภาษีเดิม 2 หมื่นล้านบาท กทม.จัดเก็บเยอะที่สุด เมื่อหายไปสุดท้ายรัฐต้องเอาเงินมาชดเชยอยู่ดี"
ศ.ดร.สกนธ์ กล่าวต่อในประเด็นที่3ว่า เรื่องจะช่วยความเป็นธรรม ความเหลื่อมล้ำ เห็นด้วยว่าจะช่วยลดการกระจุกตัวของที่ดิน การเก็บภาษีที่ดินจากรกร้าง ทำให้คนที่ถือครองต้องคิดว่าจะทำอย่างไรให้เกิดประโยชน์เพื่อลดต้นทุน ถ้าเราต้องมุ่งลดความเหลื่อมล้ำจริงๆ ต้องดูว่าเป็นการเพิ่มตามฐานภาษีที่เพิ่มขึ้น ถ้าเราอยากเห็นการกระจาย อัตราภาษีต้องก้าวหน้ามากกว่านี้ ขณะนี้เรายังจัดเก็บบนฐานรายแปลง สมมติถ้ามีหลายแสนแปลงควรต้องมีต้นทุนส่วนเพิ่มขึ้นไป เป็นไปได้ไหม คนที่มีที่ดินเป็นแสนๆ ไร่ แทนที่จะจ่ายเท่ากัน ก็ให้จ่ายที่ในอัตราก้าวหน้าที่มากกว่าปกติ
(4) จะเป็นเครื่องมือในการกระตุ้นในการสนใจการทำงานของรัฐบาล ท้องถิ่น เราพูดตลอดว่าจะมาทดแทนข้อบกพร่อง อยากเห็นพวกเราทั้งหลายติดตามการตรวจสอบของภาครัฐ
“แต่ด้วยโครงสร้างยกเว้น 50 ล้านบาท ผมถือว่า ทำให้ความอยากมาตรวจสอบ เราแทบไม่ต้องจ่าย หวังว่ากฤษฎีกาจะเห็นเรื่องนี้ ซึ่งในความจริงหากเราอยากได้ของดี บริการที่ดีจากรัฐ ท้องถิ่น เราต้องร่วมกันจ่าย แต่ด้วยโครงสร้างแบบนี้เราแทบจะไม่จ่ายเลย แรงกระตุ้นในส่วนนี้ไม่เกิดขึ้น"
อ่านประกอบ:ฟังความเห็น 2 นักวิชาการ หลังครม.ไฟเขียวภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง
อดีตขุนคลังชี้เก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ทำทั้งทีอย่าให้เสียของ
ก.คลังไขข้อข้องใจ กับ 20 คำถาม ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง
ครม.ไฟเขียวร่าง กม.ภาษีที่ดินฯ แล้ว- บ้านได้จากมรดกลดภาระให้ครึ่ง
ขอบคุณภาพประกอบ ศ.ดร.สกนธ์ วรัญญูวัฒนา จากhttp://www.econ.tu.ac.th/