รองเลขาฯ สศช. ชี้ความท้าทายครอบครัวไทย "อยู่คนเดียว-แต่งงานไม่มีลูก" พุ่งสูงขึ้น
รองเลขาฯ สศช. ชี้ประเด็นความท้าทายครอบครัวไทยมีขนาดเล็กลง แถมมีรูปแบบที่หลากหลายซับซ้อนมากขึ้น อาทิ ครอบครัวที่มีเฉพาะคู่สามีภรรยาแต่ไม่มีบุตร ครอบครัวพ่อหรือแม่เลี้ยงเดี่ยว ครอบครัวเพศเดียวกัน ครอบครัวอยู่คนเดียว ครอบครัวที่มีเฉพาะผู้สูงอายุอยู่ด้วยกัน
เมื่อเร็วๆ นี้ ที่สถาบันศูนย์วิจัยจุฬาภรณ์ กรุงเทพฯ สมาคมครอบครัวศึกษาแห่งประเทศไทย ร่วมกับมูลนิธิเครือข่ายครอบครัว และสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดประชุมวิชาการด้านครอบครัวระดับชาติ ประจำปี 2559 “การขับเคลื่อนชุมชน...สู่วิถีครอบครัวอบอุ่น” เพื่อส่งเสริมและสร้างสรรค์ความรู้เชิงวิชาการด้านครอบครัว เกิดการร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างภาคีเครือข่ายผู้ปฏิบัติงาน นักวิชาการ ผู้รับผิดชอบนโยบายและผู้สนใจ และสะท้อนข้อเสนอแนะเชิงนโยบายสำหรับการขับเคลื่อนงานด้านครอบครัวให้ก้าวหน้าเป็นรูปธรรม
นางชุตินาฏ วงศ์สุบรรณ รองเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กล่าวตอนหนึ่งถึงผลการพัฒนาสังคมในภาพรวม พบดัชนีความอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกันในสังคมไทยในปี 2558 สูงขึ้น ร้อยละ 72.87 โดยมีประเด็นท้าทาย 2 ด้าน คือ ด้านครอบครัว เมื่อครอบครัวไทยมีขนาดเล็กลง แต่มีรูปแบบที่หลากหลายซับซ้อนมากขึ้น โดยครอบครัวสามรุ่น ยังคงมีสัดส่วนสูงสุด ร้อยละ 33.6 แต่กลับมีแนวโน้มรูปแบบของครอบครัวใหม่ๆ เกิดขึ้น อาทิ ครอบครัวที่มีเฉพาะคู่สามีภรรยาแต่ไม่มีบุตร ครอบครัวพ่อหรือแม่เลี้ยงเดี่ยว ครอบครัวเพศเดียวกัน ครอบครัวอยู่คนเดียว ครอบครัวที่มีเฉพาะผู้สูงอายุอยู่ด้วยกัน
"โดยเฉพาะครอบครัวคู่สามีภรรยาแต่ไม่มีบุตรและครอบครัวที่อยู่คนเดียวมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก ขณะที่ชุมชนไทยมีการรวมกลุ่มเชื่อมโยงเป็นเครือข่ายมากขึ้น มีแหล่งทุนและกองทุนสวัสดิการชุมชนที่หลากหลาย สามารถจัดการปัญหาได้ด้วยตนเองและมีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศมากขึ้น"
นางชุตินาฏ กล่าวถึงารขับเคลื่อนการพัฒนาด้านสังคม ตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 ด้วยว่า มีประเด็นการขับเคลื่อนครอบครัวและชุมชน 4 ประเด็น ดังนี้
1.ส่งเสริมให้ครอบครัวสามารถบ่มเพาะสมาชิกให้มีคุณภาพ ให้ความรู้โภชนาการ วิธีการเลี้ยงดูที่กระตุ้นพัฒนาการเด็กที่เหมาะสมแก่พ่อแม่หรือผู้เลี้ยงดูเด็กในช่วง 0-3 ปีแรก เน้นการฝึกเด็กให้พึ่งพาตนเอง มีวินัย รับผิดชอบ ปลูกฝังค่านิยมที่ดีงาม สนับสนุนให้ครอบครัวมีส่วนร่วมในการจัดกิจกรรมสาธารณประโยชน์ของชุมชน
2.เสริมสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการพัฒนาครอบครัว กำหนดมาตรการสร้างสมดุลระหว่างชีวิตและการทำงาน ปรับปรุงแหล่งเรียนรู้เชิงสร้างสรรค์และมีชีวิตในชุมชน กำหนดมาตรการดูแลครอบครัวเปราะบาง พัฒนาระบบการดูแลและสร้างสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมกับสังคมสูงวัย
3.พัฒนาศักยภาพของครอบครัวและชุมชน โดยการสร้างและพัฒนาผู้นำการเปลี่ยนแปลงในชุมชน สนับสนุนให้ชุมชนมีส่วนร่วมการจัดสวัสดิการ บริการ และทรัพยากรในชุมชน ในลักษณะเป็นหุ้นส่วนกับหน่วยงานภาครัฐ องค์กรปกครองท้องถิ่น ส่งเสริมการเรียนรู้ด้วยระบวนการวิจัย และถ่ายทอดองค์ความรู้ในชุมชน และต่อยอดองค์ความรู้ไปสู่เชิงพาณิชย์
4.ส่งเสริมเศรษฐกิจฐานรากให้มีความเข้มแข็ง สนับสนุนการให้ความรู้ในการบริหารจัดการทางการเงินแก่ชุมชนและครอบครัว ส่งเสริมการประกอบอาชีพของผู้ประกอบการระดับชุมชน ส่งเสริมการเชื่อมต่อระหว่างเครือข่ายอุตสาหกรรมในพื้นที่กับเศรษฐกิจชุมชน ดังนั้น จึงอยากให้ทุกคนร่วมกันเป็นพลังร่วมสร้างครอบครัวอบอุ่น ชุมชนเข้มแข็ง เป็นฐานการพัฒนา สู่ความยั่งยืน