พรก.นำคนต่างด้าวเข้ามาทำงานฯ บังคับใช้แล้ว คุมเข้มค้ามนุษย์ มีบทลงโทษชัดเจน
พระราชกำหนดการนำคนต่างด้าวเข้ามาทำงานกับนายจ้างในประเทศ พ.ศ. 2559 ประกาศในราชกิจจานุเบกษา แล้ว หวังควบคุมการนำคนต่างด้าวเข้ามาทำงานกับนายจ้างในประเทศโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย
วันที่ 15 สิงหาคม ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่พระราชกําหนดการนําคนต่างด้าวมาทํางานกับนายจ้างในประเทศพ.ศ. 2559 โดยพระราชกําหนดนี้ไม่ใช้บังคับกับ (1) การจัดหางานตามกฎหมายว่าด้วยการจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน (2) การจัดหางานตามกฎหมายว่าด้วยแรงงานทางทะเล
สำหรับเหตุผลในการประกาศใช้พระราชกําหนดฉบับนี้ คือ จากการที่ประเทศไทยได้ประสบปัญหาการขาดแคลนแรงงานในภาคส่วนต่าง ๆ ทําให้การประกอบธุรกิจจัดหาคนต่างด้าวมาทํางานกับนายจ้างในประเทศเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและเป็นจํานวนมากส่งผลให้มาตรการทางกฎหมายเกี่ยวกับการประกอบธุรกิจดังกล่าวที่มีอยู่ในปัจจุบันไม่สามารถควบคุมหรือป้องกันการลักลอบนําคนต่างด้าวเข้ามาทํางานกับนายจ้างในประเทศได้อย่างทันท่วงที
รัฐบาลจึงจําเป็นต้องกําหนดเป็นนโยบายเร่งด่วนในการลดความเหลื่อมล้ําของสังคมและการสร้างโอกาสในการเข้าถึงบริการของรัฐโดยเฉพาะการแก้ไขปัญหาแรงงานต่างด้าวอันนําไปสู่การจัดระเบียบแรงงานต่างด้าวในประเทศ รวมทั้งมาตรการในการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์เพื่อขจัดการบังคับใช้แรงงานหรือการแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบจากแรงงานต่างด้าว
สาระสำคัญของ พ.ร.ก. ฉบับนี้ ครอบคลุมถึงความรับผิดชอบของบริษัทจัดหางาน กำหนดข้อปฏิบัติในการนำเข้าแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้าน รวมถึงกำหนดบทลงโทษ ซึ่งกฎหมายฉบับนี้ได้กำหนดให้บริษัทที่จ้างแรงงานต่างด้าวต้องมีความรับผิดชอบในการดูแลสวัสดิการ สิทธิประโยชน์และการคุ้มครองแรงงานต่างด้าวตามกฎหมาย เช่นเดียวกับบริษัทจัดหางาน เพื่อแก้ปัญหาบริษัทจ้างแรงงานต่างด้าวในลักษณะแรงงานรับเหมาช่วง (ซับคอนแทรก) ที่ไม่ได้รับสวัสดิการจากบริษัทที่ทำงานให้ ทั้งนี้กฎหมายฉบับนี้ถือเป็นการจัดระเบียบนายหน้าจัดหางานด้วย
ส่วนบทกําหนดโทษ เช่น
มาตรา 44 ผู้ใดไม่ปฏิบัติตามกฎกระทรวงที่ออกตามมาตรา 6 วรรคสอง ในการนํา
คนต่างด้าวมาทํางานในประเทศ ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาทหรือทั้งจําทั้งปรับ
มาตรา 45 นายจ้างผู้ใดนําคนต่างด้าวมาทํางานให้กับตนเองในประเทศโดยไม่ได้รับอนุญาตตามมาตรา 8 ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาทหรือทั้งจําทั้งปรับ
มาตรา 51 ผู้ใดแสดงตนว่ามีหน้าที่เกี่ยวกับการนําคนต่างด้าวมาทํางานกับนายจ้างในประเทศของผู้รับอนุญาตอันเป็นเท็จต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาทหรือทั้งจําทั้งปรับ
มาตรา 52 ผู้รับอนุญาตผู้ใดเรียกหรือรับเงินหรือทรัพย์สินอื่นใดที่ไม่ใช่ค่าบริการหรือค่าใช้จ่ายที่อธิบดีประกาศกําหนดตามมาตรา 25 (1) หรือฝ่าฝืน (2) ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินหนึ่งปีและปรับห้าเท่าของเงินหรือทรัพย์สินอย่างอื่นที่รับไว้จากนายจ้างหรือคนต่างด้าว
ผู้รับอนุญาตผู้ใดเรียกหรือรับค่าบริการหรือค่าใช้จ่ายจากนายจ้างเกินกว่าอัตราที่อธิบดีประกาศกําหนด ตามมาตรา 25 (1) ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินหกเดือนและปรับห้าเท่าของค่าบริการหรือค่าใช้จ่ายที่เรียกเกินกว่าอัตราที่อธิบดีกําหนด
อ่านประกอบ : พระราชกําหนด การนําคนต่างด้าวมาทํางานกับนายจ้างในประเทศ พ.ศ. 2559