ก.อุตฯ -กองทัพ รุกตรวจรง.แปรรูปสัตว์น้ำสมุทรสาคร หวังแก้ปัญหา IUU
กรมโรงงานฯ จับมือ กองทัพ ตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจ รุกตรวจโรงงานแปรรูปสัตว์น้ำ ประมง นำร่องพื้นที่สมุทรสาคร หวังช่วยแก้ IUU พบก.ค.เดือนเดียวมีผู้ประกอบการทำผิด 100 กว่าราย สั่งปิดชั่วคราวเเล้วกว่า 70 แห่ง
วันที่ 15 สิงหาคม 2559 ณ ศาลากลางจังหวัดสมุทรสาคร กรมโรงงานอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม ร่วมกับ มณฑลทหารบกที่ 16 และจังหวัดสมุทรสาคร จัดงานแถลงข่าวความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐในการตรวจสอบกำกับดูเเลการบังคับให้กฎหมายว่าด้วยโรงงาน
นายศักดา พันกล้า รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า กระทรวงอุตสาหกรรมมีนโยบายให้ดำเนินการทางกฎหมายกับผู้ประกอบการกิจการที่ละเมิดหรือไม่ปฏิบัติตามพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ.2535 อย่างเคร่งครัด โดยกระทรวงได้จัดตั้ง “คณะกรรมการตรวจสอบกำกับดูเเลบังคับใช้กฎหมาย” ซึ่งประกอบไปด้วย กรมโรงงานอุตสาหกรรม มณฑลทหารบกที่ 16 และจังหวัดสมุทรสาคร ได้ดำเนินการตรวจสอบดูเเลโรงงานและสถานประกอบการโดยกำหนดเป้าหมายในการควบคุมเข้มงวดในกลุ่มโรงงานที่มีการร้องเรียนซ้ำซาก โรงงานที่มีเจตนาไม่ประพฤติตามกฎหมาย โรงงานที่ปล่อยน้ำเสียออกสู่สิ่งแวดล้อม และโรงงานที่มีการร้องเรียนผ่านศูนย์ดำนงธรรม โดยการทำงานของคณะกรรมการดังกล่าวจะร่วมดำเนินการที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนที่อยู่ในพื้นที่ดำเนินการขับเคลื่อนนโยบายนำไปสู่การปฏิบัติให้เห็นผลเป็นรูปธรรม
นายศักดา กล่าวถึงล้งที่มีรวมตัวกันโดยมีจำนวนคนงานไม่เกิน 7 คน มีเครื่องจักรหรือไม่ก็ตามหรือมีไม่เกิน 5 แรงม้า แต่ดำเนินการชำแหละ แกะล้าง ปรากฏว่า 7 คนก็เข้าข่ายพ.ร.บ.โรงงาน พ.ศ.2535 ซึ่งหากตรวจพบว่า ไม่มีการการจดทะเบียนก็ย่อมมีความผิดตามกฎหมาย อย่างไรก็ตามการกำกับดูเเลล้งเป็นไปด้วยความยาก เพราะเวลาในการทำงานไม่แน่นอนขึ้นอยู่กับเรือที่จะเข้ามา แต่ในอนาคตเมื่อมีการปรับปรุงกฎหมายใหม่โดยกำหนดความเป็นโรงงานที่จำนวนคนงาน 50 คนขึ้นไปและมีเครื่องจักร 50 แรงม้า จะช่วยผ่อนคลายส่วนตรงนี้ลงไปบ้าง
"เข้าใจว่าล้งเป็นเรื่องของชาวบ้านที่ประกอบอาชีพประมง ทั้งนี้การตรวจสอบจะเริ่มจากโรงงานที่มีการร้องเรียนและมีพฤติกรรมกระทำผิดซ้ำซาก หากมีการตรวจพบว่า มีโรงงานที่ฝ่าฝืนกฎหมายว่าด้วยเรื่องโรงงาน หรือจะไม่มีการใช้โทษเปรียบเทียบปรับ ฉะนั้นหากกระทำความผิดร้ายแรงมีโทษปรับ 2 แสน จำคุก หรือทั้งจำทั้งปรับ นอกจากนี้ไม่อนุญาตให้ประกอบกิจการอีก
“ขณะนี้จะมีการทำงานโดยบูรณาการระหว่างกระทรวงทั้ง กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงแรงงาน กระทรวงทรัพยากรฯ ในการกำกับดูเเลการประกอบกิจการให้เป็นไปตาม IUU หากตรวจพบว่า หน่วยงานใดมีการฝ่าฝืนมีแรงงานเถื่อนหรือแรงงานเด็ก ให้สั่งหยุด สั่งปิด เพิกถอนใบอนุญาตได้เลย โดยทำการส่งต่อไปยังหน่วยที่รับผิดชอบต่อไป”
ด้านนายมงคล พฤกษ์วัฒนา อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม กล่าวว่า ทีมเฉพาะกิจ DIW จะดำเนินการตรวจสอบโรงงานในระยะแรกจำนวน 30 โรง ให้แล้วเสร็จภายในเดือนสิงหาคม 2559 โดยหากตรวจพบสถานประกอบการละเมิดกฎหมาย อาทิ การประกอบกิจการโดยไม่ได้รับอนุญาต การลักลอบปล่อยน้ำเสีย เปิดขยายโรงงานโดยไม่ได้รับอนุญาต จะต้องได้รับโทษโดยไม่มีข้อยกเ้วน อย่างไรก็ตามหลังจากการดำเนินงานระยะแรกแล้วเสร็จจะมีการประเมินผลการดำเนินการเพื่อปรับปรุงและขยายผลต่อไป
ทั้งนี้นอกจากมาตรการคุมเข้มและดำเนินการทางกฎหมายกับโรงงานที่ละเมิดหรือไม่ปฏิบัติตามกฎหมายเเล้ว ยังมีแนวทางการแนะนำและส่งเสริมให้ความรู้แก้ผู้ประกอบกิจการโรงงานเพื่อให้ประกอบกิจการได้อย่างถูกต้องเป้นไปตามกฎหมายโรงงาน และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอยู่ร่วมกับชุมชนได้อย่างยั่งยืน
อย่างไรก็ตาม สำหรับตัวเลขจากรายงานการตรวจสอบโรงงานในพื้นที่จังหวัดสมุทรสาคร เดือนกรกฎาคมพบว่า มีโรงงานที่ทำผิดกฎหมายตามพ.ร.บ.กระทรวงสาธารณสุข พ.ศ.2535 จำนวน 139 โรงงาน โดยสั่งแก้ไข 94 แห่ง สั่งหยุดชั่วคราว 45 แห่ง อนุญาตให้เปิดโรงงานแล้ว 23 แห่ง และที่ยังไม่อนุญาตให้เปิดอีก 22 แห่ง
ในส่วนของโรงงานที่ทำผิด พ.ร.บ.โรงงาน พ.ศ. 2535 มีโรงงานจำนวนกว่า 109 แห่งที่มีปัญหา โดยได้มีการสั่งแก้ไขปรับปรุงไปแล้ว 85 แห่ง สั่งปิดชั่วคราว 24 แห่ง อนุญาตให้เปิดโรงงานแล้ว 13 แห่ง และที่ยังไม่อนุญาตอีก 11 แห่ง