ด้านมืดของโลกดิจิทัล
สังคมไทยต้องตระหนักอยู่เสมอว่าภัยจากเทคโนโลยีดิจิทัลนั้นเกิดขึ้นได้ตลอดเวลาและทุกสถานที่ไม่ว่าท่านจะอยู่ ณ มุมไหนของโลกก็ตาม แม้กระทั่งในบ้านของท่านซึ่งถือว่าเป็นสถานที่ที่ปลอดภัยที่สุดก็มิได้ปลอดภัยอีกต่อไปในโลกดิจิทัล
เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2559 สำนักข่าว บีบีซี ได้เสนอข่าวว่า ประเทศอิหร่านห้ามไม่ให้มีการนำเกม โปเกมอน โก มาเผยแพร่ในประเทศ ด้วยเหตุผลด้านความมั่นคง เป็นการตัดสินใจของ หน่วยงานกำกับดูแลกิจกรรมออนไลน์ ของประเทศอิหร่าน นับว่าอิหร่านเป็นประเทศแรกที่ห้ามเกม โปเกมอน โก เข้ามาเผยแพร่ในประเทศของตน
อีกห้าวันต่อมามีข่าวเรื่องเกมเช่นเดียวกันโดยมีการนำเสนอข่าวว่าพิพิธภัณฑ์ ตวลสเลง (Tuol Sleng) ของกัมพูชา ถูกประชาชนบุกเข้าไปเล่นเกม โปเกมอน โก ถึงบริเวณพิพิธภัณฑ์ซึ่งเป็นสถานที่ที่ควรให้ความเคารพ จนทำให้ผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์ต้องออกมาตำหนิถึงความไม่เหมาะสมต่อกิจกรรมของผู้เล่นเกมเหล่านั้นพร้อมทั้งประกาศห้ามเล่นเกมนี้ภายในบริเวณพิพิธภัณฑ์อย่างเด็ดขาด นอกจากนี้อีกหลายต่อหลายประเทศรวมทั้งประเทศไทยเองกำลังให้ความสนใจที่จะควบคุมและกำกับดูแลการเล่นเกมดังกล่าวให้อยู่ในขอบเขตที่ควรจะเป็น
ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นแสดงให้เห็นว่าการคุกคามของเทคโนโลยีดิจิทัลมิได้เกิดขึ้นเฉพาะกับบุคคลเท่านั้นแต่เริ่มลุกลามไปถึงสถานที่ต้องห้ามหรือสถานที่ควรให้ความเคารพแล้ว เป็นการแสดงให้เห็นแล้วว่าการอยู่ในโลกดิจิทัลนั้นไม่ได้มีแต่ด้านบวกเสมอไปแต่ผลในด้านลบก็มีปรากฏให้เห็นอยู่มาก แต่คนมักไม่ใส่ใจเพราะคิดว่าเป็นเรื่องเล็กน้อยเว้นเสียแต่ว่าภัยนั้นได้ขึ้นกับตัวเองหรือกับสังคมเสียก่อน
สังคมไทยต้องตระหนักอยู่เสมอว่าภัยจากเทคโนโลยีดิจิทัลนั้นเกิดขึ้นได้ตลอดเวลาและทุกสถานที่ไม่ว่าท่านจะอยู่ ณ มุมไหนของโลกก็ตาม แม้กระทั่งในบ้านของท่านซึ่งถือว่าเป็นสถานที่ที่ปลอดภัยที่สุดก็มิได้ปลอดภัยอีกต่อไปในโลกดิจิทัล
ประเทศไทยกำลังคาดหวังต่อการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ เราคาดหวังว่าประชาชนชาวไทยส่วนใหญ่จะเข้าถึงเทคโนโลยีดิจิทัลอย่างกว้างขวางในเวลาอีกไม่นาน เป็นการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประเทศในด้านเศรษฐกิจและเทคโนโลยีของประเทศครั้งสำคัญ ภายใต้ความคาดหวังเหล่านั้นมีสิ่งที่น่าห่วงใยซึ่งถือเป็นด้านมืดของการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลอยู่ด้วยเช่นเดียวกัน แต่มักไม่มีใครพูดถึงมากนักเพราะเราหวังผลจากเทคโนโลยีดิจิทัลมากกว่าการให้น้ำหนักในเรื่อง ความมั่นคง ความปลอดภัย ความเสี่ยง การรับรู้และการใช้เทคโนโลยีในในเชิงป้องกันภัย
ต้องยอมรับว่าคนในประเทศเราจำนวนหนึ่งยังขาดความเข้าใจต่อการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลอย่างถูกต้อง เพราะของการเข้าไปอยู่ในโลกดิจิทัลนั้นเป็นสิ่งละเอียดอ่อน มีความเสี่ยงสูงไม่แพ้ความเสี่ยงในโลกแห่งความจริง ดังนั้นนอกจากการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีแล้ว ความปลอดภัย ความเหมาะสมและความเสี่ยงในการใช้เทคโนโลยีเป็นสิ่งที่สังคมต้องไม่มองข้ามเป็นอันขาด
ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีดิจิทัลทำให้มนุษย์เข้าไปอยู่ในโลกสองโลกได้ในเวลาเดียวกัน นั่นคือโลกแห่งความจริง ( Real world) และโลกเสมือน (Virtual world ) ยิ่งเราเข้าถึงเทคโนโลยีดิจิทัลมากเท่าใด เราก็จะถูกผลักดันเข้าไปใกล้โลกเสมือนมากขึ้นเท่านั้นและนับวันโลกทั้งสองโลกยิ่งเข้าใกล้กันมากขึ้นทุกที ดังตัวอย่าง เช่น เกมโปเกมอนโกที่มีการผสมผสานโลกแห่งความจริงกับโลกเสมือนเข้าด้วยกันอย่างแนบเนียน คำถามคือประชาชนในประเทศกำลังพัฒนาอย่างบ้านเราพร้อมหรือยังที่จะเข้าสู่โลกดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบและภาครัฐได้สร้างเกราะป้องกันหรือสร้างการรับรู้ใดๆต่อประชาชนในวงกว้างไว้มากน้อยเพียงใด เมื่อรัฐบาลประกาศตัวเองว่าประเทศไทยจะเข้าสู่สังคมดิจิทัลอย่างเต็มตัว
จากข้อมูลการรายงานของสำนักกำกับดูแลกิจการกระจายเสียง โทรคมนาคม และกิจการไปรษณีย์ของสหราชอาณาจักร(Ofcom) เมื่อปี 2014 พบว่า ผู้ใหญ่ในสหราชอาณาจักรใช้เวลาเฉลี่ยอยู่กับอุปกรณ์ ดิจิทัล มากกว่าการใช้เวลานอน โดยใช้เวลากับอุปกรณ์ดิจิทัล 8 ชั่วโมง 44 นาที ในขณะที่ใช้เวลานอนเฉลี่ย 8 ชั่วโมง 21 นาที สำหรับเมืองไทยนั้นจากการสำรวจของสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ETDA) เกี่ยวกับพฤติกรรมผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตในประเทศไทย ปี 2558 พบว่าประชาชนกลุ่ม Gen Y ซึ่งมีอายุระหว่าง 15-34 ปี เป็นกลุ่มที่มีพฤติกรรมการใช้อินเทอร์เน็ตมากที่สุดถึง 54.2 ชั่วโมง/สัปดาห์ เฉลี่ยแล้ว กลุ่มคน Gen Y ใช้อินเทอร์เน็ตวันละ เกือบ 8 ชั่วโมงต่อวัน ซึ่งใกล้เคียงกับผู้ใช้อุปกรณ์ดิจิทัล ของสหราชอาณาจักร จึงไม่ต้องสงสัยเลยว่าเทคโนโลยีเหล่านี้ได้เข้ามาอยู่ในชีวิตประจำวันของมนุษย์มากถึง 1 ในสามของวันเลยทีเดียว
หลายท่านยังอาจไม่ทราบว่า ทันทีที่ท่านเข้าสู่สังคมออนไลน์ ความเป็นส่วนตัวของท่านจะหายไปทันที เสมือนหนึ่งว่าท่านอยู่ในห้องกระจกใสซึ่งทุกอิริยาบถของท่านจะถูกมองเห็นจากคนภายนอกได้ตลอดเวลา ข้อมูลส่วนตัวของท่านทุกประเภทที่ท่านควรเป็นเจ้าของกลับกลายเป็นทรัพย์สินอันล้ำค่าของผู้ประกอบการทันทีที่ท่านได้เข้าสู่สังคมออนไลน์และสิ่งที่ท่านต้องยอมรับเมื่อเข้าสู่สังคมออนไลน์ก็คือการถูกสอดแนม อย่างน้อยที่สุดท่านจะถูกสอดแนมในรูปแบบต่างๆต่อไปนี้ เพื่อการนำข้อมูลจากท่านไปใช้ประโยชน์ในทางใดทางหนึ่งโดยที่ท่านไม่รู้ตัวเลย ซึ่งได้แก่
1.การถูกสอดแนมจากสื่อสังคมออนไลน์ เช่น การกด like การส่ง sticker แสดงอารมณ์ การส่งภาพ การแจ้งตำแหน่งที่อยู่ การแชร์ข้อมูล เป็นต้น
2.การถูกสอดแนมจาก การใช้เครื่องมือสืบค้น (Search engine) และ การใช้ e-mail
3.การถูกสอดแนมจากผู้ประกอบการทางธุรกิจเพื่อนำข้อมูลกลับมานำเสนอสินค้าและบริการแก่ท่านเมื่อท่านเข้าเยี่ยมชม Website หรือเมื่อใช้อุปกรณ์ดิจิทัลประเภทต่างๆจากผู้ประกอบการ
4.การถูกสอดแนมจากห้างร้าน ถนน ที่ส่วนบุคคล ที่สาธารณะรวมทั้งยวดยานต่างๆทุกประเภทด้วยกล้องถ่ายภาพหรืออุปกรณ์เทคโนโลยีติดตามตัวประเภทต่างๆ รวมทั้งโทรศัพท์มือถือในกระเป๋าท่านด้วย
5.การถูกสอดแนมเพื่อความมั่นคงจากภาครัฐในประเทศตัวเองหรือแม้กระทั่งจากประเทศมหาอำนาจทางเทคโนโลยีที่อยู่ไกลออกไปค่อนโลกผ่านทางเทคโนโลยีดิจิทัล
6.การสอดแนมจากอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่ฝังมากับเครื่องมือเครื่องใช้ทุกประเภทที่สามารถเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตได้ (Internet of Thing) นับตั้งแต่เครื่องใช้ไฟฟ้าทั่วไปภายในบ้าน อุปกรณ์เครื่องจักรกลตลอดจนยานพาหนะต่าง เป็นต้น
7.การถูกสอดแนมจาก Hacker และผู้ไม่หวังดีในรูปแบบต่างๆ
ผู้บริหารบริษัท Google มั่นใจในเครื่องมือสืบค้น( Search engine) ของตัวเองเป็นอย่างมากถึงกับพูดว่า “เรารู้ว่าคุณกำลังอยู่ที่ไหน คุณไปไหนมาบ้าง และไม่มากก็น้อยเรารู้ว่าคุณกำลังคิดอะไรอยู่” ซึ่งคำพูดนี้ไม่ได้เกินจากความจริงเลย ดังนั้นความเป็นส่วนตัวของผู้อยู่ในโลกออนไลน์จึงไม่มีความหมายอีกต่อไป เว้นแต่ท่านจะเลือกใช้เครื่องมือสืบค้นหรือสื่อออนไลน์ที่ประกาศตัวว่าจะไม่ติดตามและเก็บข้อมูลของท่านซึ่งก็มีอยู่ไม่มากนักและไม่แน่เสมอไปว่าข้อมูลของท่านจะปลอดภัยจากการสอดแนมร้อยเปอร์เซ็นต์
การสอดแนม มีหลากหลายรูปแบบ เกมที่กำลังเป็นข่าวอยู่นี้ก็อาจเป็นการสอดแนมประเภทหนึ่งก็ได้เพราะผู้พัฒนาเกมจะเก็บข้อมูลส่วนตัวของท่าน ข้อมูลสถานที่ที่ท่านไป รวมทั้งข้อมูลการเล่นเกมเพื่อจะสร้างลูกเล่นใหม่ๆในเกมมานำเสนอให้ผู้เล่นในครั้งต่อๆไปและหากฝ่ายความมั่นคงของประเทศผู้พัฒนาเกมร้องขอข้อมูลก็แน่ใจได้เลยว่าข้อมูลทั้งหลายที่ท่านได้สร้างขึ้นจากการเล่นเกมจะถูกส่งไปถึงมือฝ่ายความมั่นคงอย่างหลีกเลี่ยงไม่พ้น
ผมเข้าใจว่าประเทศไทยยังไม่มีหน่วยงานกลางในการควบคุมกำกับดูแลความมั่นคง ประเมินความเสี่ยงและป้องกันการคุกคามจากการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล เพราะข่าวที่เกิดขึ้นจากกระแสเกม โปเกมอนโก จนต้องทำให้ผู้บริหารระดับสูงเช่นนายกรัฐมนตรีและรองนายกฯด้านความมั่นคงต้องออกมาตอบคำถามเรื่องเกมด้วยตัวเอง ทั้งๆที่ภารกิจเหล่านี้ควรอยู่ภายใต้หน่วยงานกลางด้านความมั่นคงและความปลอดภัยทางเทคโนโลยีซึ่งต้องมีมาตรการหรือมีคำตอบออกมาก่อนหน้านี้แล้ว ก่อนที่นักข่าวจะไปถามผู้บริหารระดับสูงดังที่เป็นข่าวด้วยซ้ำไป
โดยทั่วไปหน่วยงานนี้ควรมีหน้าที่ดูแลความมั่นคงทางเทคโนโลยีดิจิทัลของประเทศในภาพรวม มีเครื่องมือและบุคลากรที่มีทักษะเพียงพอที่จะสามารถดำเนินการใดๆทั้งในลักษณะในเชิงป้องกันภัย(Preventive)และการติดตามแก้ไข(Corrective)โดยการใช้เครื่องมือในการวิเคราะห์ขั้นสูง(Analytics) รวมทั้งให้คำแนะนำแก่หน่วยงานอื่นๆเกี่ยวกับการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลอย่างเป็นระบบ แทนที่จะมานั่งแก้ไข แนะนำ หรือจับผู้กระทำผิดหลังจากเกิดเหตุการณ์ขึ้นแล้วอย่างที่เห็นกันอยู่โดยทั่วไปและถ้าจะให้เบ็ดเสร็จหน่วยงานนี้ควรมีอำนาจในการเซ็นเซอร์เกมหรือแอปพลิเคชั่นที่จะเป็นภัยต่อสังคมด้วยแบบที่ประเทศอิหร่านทำก็จะช่วยให้สังคมคลายความวิตกไปอีกขั้นหนึ่ง
ผมเข้าใจว่าหน่วยงานภาครัฐบางหน่วยงานและภาคเอกชนจำนวนหนึ่งได้นำเครื่องมือการวิเคราะห์ข้อมูลขั้นสูงมาใช้งานเพื่อภารกิจของตนเองแล้ว แต่ในภาพรวมของประเทศผมยังไม่เห็นหน่วยงานใดที่ทำหน้าที่รับผิดชอบเรื่องนี้อย่างจริงจังทั้งๆที่อัตราการเติบโตของการใช้อินเทอร์เน็ตและสื่อทางสังคมต่างๆในประเทศไทยมีสัดส่วนที่สูงมาก
หากประเทศไทยยังไม่มีหน่วยงานกลางที่ทำหน้าที่ดูแลความมั่นคงทางเทคโนโลยีดิจิทัลของประเทศในภาพรวมตามที่ผมเข้าใจ แสดงว่าประเทศไทยยังไม่มีความพร้อมต่อการรับมือจากการคุกคามของเทคโนโลยีดิจิทัลเลย ทั้งๆที่เราประกาศเสียงดังว่าในไม่ช้าประเทศไทยจะขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมซึ่งเราควรต้องมีความพร้อมในทุกๆด้านเพื่อรับมือกับการเติบโตของเทคโนโลยีดิจิทัลทั้งในทางสร้างสรรค์และการบ่อนทำลายของผู้ที่ใช้เทคโนโลยีเหล่านี้ในทางมิชอบ
กรณีของเกมโปเกมอนโกนั้นเป็นตัวอย่างเพียงตัวอย่างเดียวของการถูกคุกคามจากเทคโนโลยีดิจิทัล ยังมีภัยอีกหลายประเภทที่เกิดจากจากการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในทางที่สร้างความสูญเสียต่อผู้อื่นและสร้างปัญหาต่อสังคมมาอย่างยาวนาน เช่น การเจาะเข้าระบบจากพวกใช้เทคโนโลยีขั้นสูงที่เรียกว่าพวก Hacker รวมทั้งพฤติกรรมการหลอกลวงอื่นๆที่เราได้เห็นในข่าวกันอยู่บ่อยๆ ซึ่งผู้ใช้เทคโนโลยีเหล่านี้ต้องรู้เท่าทันและไม่ตกเป็นเหยื่อของบุคคลที่เป็นภัยต่อสังคมเหล่านี้
สังคมบ้านเรายังเป็นสังคมที่มีสำนึกในเรื่องความปลอดภัยต่ำ ตัวอย่างเห็นได้ชัดคือ ประเทศไทยมีอุบัติเหตุทางถนนสูงที่สุดเป็นอันดับที่สองของโลกไต่อันดับขึ้นมาจากที่สามโดยใช้เวลาไม่นาน ถ้าหากผนวกพฤติกรรมการใช้รถใช้ถนนของคนไทยกับการใช้เทคโนโลยีอย่างผิดๆ เช่น การใช้อุปกรณ์ดิจิทัลต่างๆขณะขับขี่ยวดยานทุกประเภท คงจะทำให้สถิติการเสียชีวิตของคนไทยจากอุบัติเหตุทางถนนของบ้านเราขึ้นแท่นเป็นอันดับหนึ่งในไม่ช้าและเชื่อแน่ว่าภัยที่เกิดจากการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเองคงจะมีสถิติสูงติดอันดับโลกไม่ต่างจากภัยจากอุบัติเหตุทางถนนอย่างแน่นอน เท่ากับว่าคนไทยเราขาดภูมิคุ้มกันจากการใช้เทคโนโลยีทั้งในโลกแห่งความเป็นจริงและโลกเสมือ
สังคมออนไลน์ได้ทำลายชื่อเสียงคนบริสุทธิ์มามากต่อมาก เกิดจากการตัดสินของคนที่เราไม่เคยรู้จักโดยที่ผู้ที่ตกเป็นเหยื่ออาจไม่ได้ทำผิดอะไรเลย เท่ากับว่าคนที่ถูกตัดสินจากสังคมออนไลน์แทบจะตายทั้งเป็นเลยก็ว่าได้ ดังนั้นผู้ใช้เครื่องมือดิจิทัลทุกประเภทต้องพึงระลึกอยู่เสมอว่าในโลกดิจิทัลนั้น การจดจำข้อมูลทำได้ง่ายและราคาถูก แต่การลบข้อมูลนั้นทำได้ยากยิ่ง เมื่อเกิดเรื่องขึ้นการแก้ข่าวอาจทำได้ไม่ยากนักเพราะในโลกแห่งความจริงมนุษย์มีการให้อภัยและลืมเลือนเหตุการณ์เจ็บปวดที่ผ่านมาได้เมื่อเวลาผ่านไป แต่ในโลกดิจิทัลนั้นการจดจำเป็นสิ่งที่ถาวร ภาพหรือข้อมูลจะถูกจดจำด้วยคอมพิวเตอร์และจะอยู่ในโลกนี้ไปอีกแสนนานและยากจะถูกลืมเพราะสิ่งที่ปรากฏบนอินเทอร์เน็ตจะถูกบันทึกและแพร่กระจายไปยังคอมพิวเตอร์ทุกซอกทุกมุมของโลก ภาพที่ส่งจากประเทศไทยอาจจะถูกบันทึกโดยคอมพิวเตอร์ของใครก็ไม่รู้ในประเทศแถบอเมริกาใต้และข้อมูลเหล่านี้จะยังปรากฏอยู่ตราบเท่าที่ผู้ที่บันทึกข้อมูลแต่ละคนไม่ประสงค์ที่จะลบข้อมูลเหล่านั้นออกไปและเมื่อสืบค้นด้วยเครื่องมือสืบค้นครั้งใด ข้อมูลเหล่านั้นก็จะปรากฏขึ้นบนหน้าจอหลอกหลอนผู้ตกเป็นเหยื่ออย่างไม่มีวันจบสิ้นไม่ว่าเวลาจะผ่านไปกี่เดือนกี่ปี ตราบเท่าที่ยังไม่มีมาตรการกำหนดวันหมดอายุของข้อมูล นี่คือด้านมืดที่คนจำนวนมากมองข้ามไปเพราะมองเห็นแต่ด้านสว่างของโลกดิจิทัลแต่เพียงด้านเดียว ทั้งๆที่ทั้งโลกทั้งสองด้านมีความสำคัญไม่ได้แตกต่างกันเลย
ภาครัฐต้องไม่ยอมให้ความง่ายและความไม่รู้ของคนไทยกลายเป็นเครื่องมือของเทคโนโลยีดิจิทัลโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์และที่สำคัญมากคือภาครัฐจะต้องใส่ใจต่อการสร้างเกราะป้องกันให้กับประชาชนของตัวเองจากภัยของการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลอย่างยั่งยืนมิใช่ดำเนินการเฉพาะกรณีของเกมโปเกมอน โก ที่ปรากฏเป็นข่าวอยู่ในเวลานี้เท่านั้น