จัดเวทีระดมความเห็นรื้อใหญ่นโยบายแก้ปัญหายาเสพติด
ยังคงเป็นประเด็นที่ถกเถียงกันไม่จบ สำหรับแนวคิดการปฏิวัตินโยบายแก้ไขปัญหายาเสพติดแบบใหม่...
จากที่เป็นอยู่คือเน้นปราบปราม จับกุม และดำเนินคดีด้วยโทษทางอาญาที่รุนแรง แต่ยาเสพติดโดยเฉพาะยาบ้ากลับยิ่งระบาดหนักตลอด 20 ปีที่ผ่านมา จึงมีการเสนอให้ใช้แนวทางอื่น โดยเฉพาะการถอด “เมทแอมเฟตามีน” หรือ “ยาบ้า” ออกจากบัญชียาเสพติดให้โทษประเภท 1 แต่ก็ถูกกระแสต้านจากหลายฝ่าย
ด้วยเหตุนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย สำนักกิจการในพระดำริพระเจ้าหลานเธอพระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา กระทรวงยุติธรรม, สำนักงาน ป.ป.ส. สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือ (สสส.) ศูนย์วิชาการสารเสพติดภาคเหนือ คณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และหน่วยงานความร่วมมือด้านนโยบายยาเสพติดระหว่างประเทศ หรือ IDPC จึงร่วมกันจัดประชุมระดมความเห็นครั้งใหญ่ ในหัวข้อ "บูรณาการควบคุม (เมท) แอมเฟตามีนอย่างสร้างสรรค์ และนวัตกรรมยุติธรรมตามร่างประมวลกฎหมายยาเสพติด” ที่โรงแรมเมอร์เคียว ฟอร์จูน ถนนรัชดาภิเษก ระหว่างวันที่ 29-30 สิงหาคมนี้
สำหรับนโยบายแก้ไขปัญหายาเสพติดที่ประเทศต่างๆ ใช้กัน แบ่งออกได้เป็น 3 แนวทางใหญ่ๆ คือ
1.การทำให้การเสพ การผลิต รวมทั้งการซื้อขายและขนส่งยาเสพติด เป็นความผิดและบังคับโทษตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด ที่เรียกว่า Penalization
2.การทำให้การเสพและการครอบครองยาเสพติดเพื่อเสพ ยังคงเป็นความผิด แต่งดเว้นโทษบางประการ และใช้มาตรการทางเลือกทดแทนการลงโทษ เรียกว่า Decriminalization
3.การทำให้การเสพและการครอบครองยาเสพติดเพื่อเสพ เป็นการกระทำที่ถูกกฎหมาย หรือ Legalization
ที่ผ่านมาประเทศไทยมุ่งใช้แนวทางที่ 1 คือการปราบปรามโดยบังคับใช้กฎหมายอย่างเด็ดขาด แต่ยาบ้ากลับยิ่งระบาดหนักขึ้น ยอดจับกุมในช่วง 3-4 ปีหลังทะลุ 100 ล้านเม็ด ขณะที่ผู้เสพและผู้ค้ารายย่อย ถูกกวาดจับเข้าไปรับโทษในเรือนจำเป็นจำนวนมาก จนเกิดปัญหานักโทษล้นคุก มีอัตราความหนาแน่นเกินกว่าที่เรือนจำจะรับได้สูงถึง 147% โดยผู้ต้องขังกว่า 70% ถูกดำเนินคดียาเสพติด แต่แทบไม่มีผู้ค้ารายใหญ่ถูกจับกุม
ด้วยเหตุนี้จึงมีการเสนอแนวทางใหม่ คือการใช้มาตรการอื่นแทนการลงโทษสำหรับผู้เสพ และผู้ครอบครองยาเสพติดเพื่อเสพ แต่ไม่ใช่การทำให้ “ยาบ้า” ถูกต้องตามกฎหมายตามที่มีการวิจารณ์กัน
นอกจากนั้น กระทรวงยุติธรรมยังเร่งดำเนินการยกร่างประมวลกฎหมายยาเสพติดฉบับใหม่ โดยรวมเอากฎหมายยาเสพติดที่มีอยู่ราว 6 ฉบับ มาเป็นฉบับเดียว เพื่อกำหนดข้อกฎหมายให้ตรงตามนโยบาย และแยกผู้เสพ กับผู้ค้ารายย่อยออกมาผู้ค้ารายใหญ่ เพื่อเข้าสู่กระบวนการบำบัด และใช้มาตรการอื่นแทนการลงโทษทางอาญา
สำหรับผู้ที่สนใจเข้าร่วมการประชุมและแสดงความเห็น ส่งชื่อได้ที่อีเมล [email protected] และเนื่องจากการประชุมครั้งนี้เป็นการประชุมที่เชิญผู้แทนจากหลายภาคส่วนเข้าร่วมแลกเปลี่ยนทัศนะกัน จึงมีที่นั่งจำกัด 50 ที่ ผู้ที่สนใจสามารถแสดงความจำนงเข้าร่วมประชุมได้ตามแบบฟอรม์ ซึ่งสามารถดาวน์โหลดได้ที่ www.kamlangjai.or.th หรือ แอดไลน์ Inspire project