แบงก์กรุงไทยฟ้อง อปท.อ่วม! กฤษฎีกาชี้กู้ผิดระเบียบ
กรณีแบงก์กรุงไทย ฟ้อง อปท.น้ำก่ำ ค้างหนี้ 14 ล้าน กรมปกครองท้องถิ่นส่งกฤฎีกาตีความ "อปท./เทศบาล ยังไม่มีสิทธิ์กู้" นายกฯอบต.ทำผิดระเบียบต้องใช้หนี้เอง
จากบันทึกสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ลงนามโดยนายอัชพร จารุจินดา เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา ม.ค.55 เรื่อง “ภาระหนี้เงินกู้ของเทศบาลตำบลน้ำก่ำ(องค์การบริหารส่วนตำบลน้ำก่ำ) ระบุว่ากรณีที่ธนาคารกรุงไทย จำกัด(มหาชน)ฟ้องศาลจังหวัดนครพนมว่าองค์การบริหารส่วนตำบล(อบต.)น้ำก่ำ และผู้ค้ำประกัน กรณีกู้เงิน 14,000,000 บาทปี 2548 เพื่อดำเนินการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน แต่ผิดนัดชำระหนี้ ต่อมาได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความ ศาลพิพากษาตามยอม 2 ก.ค.42 ตามบันทึกข้อตกลงปรับปรุงโครงสร้างหนี้
ต่อมากรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น ส่งเรื่องให้คณะกรรมการกฤษฎีกาตีความว่า อบต.น้ำก่ำ(ยกฐานะเป็นเทศบาลตำบลน้ำก่ำ) จะตั้งเทศบัญญัติงบประมาณรายจ่ายใช้หนี้กู้ยืมได้หรือไม่ อย่างไร
โดยคณะกรรมการกฤษฎีกามีความเห็นว่า มาตรา 83 แห่งพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ.2537 บัญญัติให้ อบต.อาจกู้เงินได้เมื่อได้รับอนุญาตจากสภาองค์การบริหารส่วนตำบล และการกู้เงินดังกล่าวต้องเป็นไปตามระเบียบของกระทรวงมหาดไทย แต่ขณะนี้ยังไม่มีระเบียบกระทรวงมหาดไทย(มท.) รองรับ อบต.จึงยังไม่อาจกู้เงินได้ ดังนั้นกรณี นายก อบต.น้ำก่ำ ทำสัญญากู้เงินจึงเป็นการกระทำเกินอำนาจหน้าที่ ไม่ผูกพัน อบต.น้ำก่ำ แต่ผูกพันเฉพาะบุคคลซึ่งกระทำการแทนและผู้ค้ำประกันสัญญาเป็นการส่วนตัว
อีกทั้งกรณีที่ต่อมา นายกฯอบต.น้ำก่ำ ได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับธนาคารกรุงไทย ซึ่งมีผลเป็นการยอมรับหนี้ตามสัญญาเงินกู้นั้น คณะกรรมการกฤษฎีกามีความเห็นว่าสัญญาประนีประนอมดังกล่าวก็ไม่มีผลผูกพัน อบต.น้ำก่ำด้วยเช่นกัน เนื่องจากเป็นการทำสัญญายอมรับหนี้ของคนอื่นมาเป็นหนี้ของ อบต.น้ำก่ำ มีผลอย่างเดียวกับการกู้เงินขึ้นใหม่ในขณะที่ยังไม่มีระเบียบ มท.รองรับ ซึ่งไม่อาจกระทำได้
ดังนั้นเมื่อมีการโอนงบประมาณ ทรัพย์สิน สิทธิ สิทธิเรียกร้อง หนี้ พนักงานส่วนตำบล และลูกจ้าง อบต.น้ำก่ำ มาเป็นของเทศบาลตำบลน้ำก่ำ หนี้ตามสัญญาเงินกู้และสัญญาประนีประนอมจึงไม่ถูกโอนไปเป็นของเทศบาลตำบลน้ำก่ำ จึงไม่อาจตราเทศบัญญัติงบประมาณเพื่อชดใช้หนี้ตามสัญญาดังกล่าวได้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สรุปจากการตีความของกฤษฎีกา นายกฯองค์การบริหารส่วนตำบลน้ำก่ำ(ในขณะทำสัญญาเงินกู้)และผู้ค้ำประกันการกู้เงิน จะต้องเป็นผู้ชำระหนี้เงินกู้ 14 ล้านบาทพร้อมดอกเบี้ยให้กับธนาคารกรุงไทย และยังมีความผิดทางวินัยฐานกระทำการกู้ผิดระเบียบราชการ .