Easy Pass ไม่คุ้มค่า! สตง.ชง รมว. คมนาคมปรับปรุง-พบไม่เกิดประโยชน์ 192 ล.
สตง. ตรวจสอบการให้บริการระบบ Easy Pass พบ ไม่คุ้มค่า มีผู้ไม่ใช้บัตรนานเกินกว่า 6 เดือนกว่า 2 แสนใบ คิดค่าไม่เกิดประโยชน์กว่า 192 ล้านบาท 1.6 แสนรายครอบครองเกิน 2 ใบ ชง รมว.คมนาคม-ผู้ว่าการทางพิเศษฯ ปรับปรุงแก้ไขแล้ว
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ทำหนังสือถึง รมว.คมนาคม (นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ) ขอให้พิจารณาปรับปรุงแก้ไขโครงการให้บริการระบบเก็บค่าผ่านทางพิเศษอัตโนมัติ (Easy Pass) เนื่องจากถูกตรวจสอบพบปัญหาหลายประการ
หนังสือดังกล่าว ระบุว่า จากการตรวจสอบการให้บริการระบบ Easy Pass ของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ที่เริ่มตั้งแต่ปี 2553 ในทางพิเศษ 6 สายทาง ได้แก่ ทางพิเศษเฉลิมมหานคร ทางพิเศษศรีรัช ทางพิเศษฉลองรัช ทางพิเศษบูรพาวิถี ทางพิเศษสายบางนา-อาจณรงค์ และทางพิเศษกาญจนาภิเษก มีจำนวนเก็บค่าผ่านทางพิเศษ Easy Pass รวม 132 ด่าน ใช้งบประมาณไม่น้อยกว่า 1,702.43 ล้านบาท
โดยจากการสุ่มสังเกตการณ์ด่านเก็บค่าผ่านทาง และสัมภาษณ์เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง รวมถึงประชาชนที่ใช้บัตร Easy Pass พบข้อเท็จจริง สรุปได้ดังนี้
หนึ่ง ในช่วงเริ่มเปิดให้บริการระบบเก็บค่าผ่านทางพิเศษ Easy Pass ตั้งแต่ปี 2553-2558 มีสัดส่วนค่อนข้างน้อยในแต่ละปี เมื่อเทียบกับปริมาณรถยนต์ 4 ล้อที่ใช้บริการผ่านทางพิเศษทั้งหมด คิดเป็นร้อยละ 12.40-34.74 และหากพิจารณาผลการใช้บริการ Easy Pass ในปี 2559 เพียงเดือน เม.ย. คิดเป็นร้อยละ 35.06 ซึ่งยังต่ำกว่าเป้าหมายตัวชี้วัดที่กำหนด และอาจไม่ได้ตามเป้าหมายคือ ร้อยละ 40 ทั้งนี้หากพิจารณาแยกรายด่านเก็บค่าผ่านทาง พบว่า บางด่านมีสัดส่วนน้ยอกว่าร้อยละ 30 ในขณะที่ผู้ใช้งานบัตร Easy Pass จำนวนมากมีการใช้งานบัตรค่อนข้างน้อยเพียง 1-10 ครั้ง/เดือน ทำให้การใช้ประโยชน์ระบบบัตร Easy Pass ยังไม่เต็มศักยภาพในการรองรับรถยนต์ และทำให้ไม่สามารถเพิ่มความสะดวกหรือลดระยะเวลาในการชำระค่าผ่านทางพิเศษในภาพรวมได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาการจราจรติดขัดบริเวณหน้าด่านเก็บค่าผ่านทางได้อย่างแท้จริง
สอง มีผู้สมัครขอรับบัตร Easy Pass ไปแล้ว แต่ไม่ได้นำมาใช้งานเป็นเวลาติดต่อกันมากกว่า 6 เดือน รวม 213,674 ใบ คิดเป็นร้อยละ 19.15 ของจำนวนบัตรที่ออกจำหน่าย/แจกตั้งแต่ปี 2553 รวม 1,115,932 ใบ หรือคิดเป็นมูลค่าทางการลงทุนที่ยังไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ประมาณ 192.31 ล้านบาท และปัจจุบัน กทพ. ยังไม่มีการดำเนินการตามมาตรการติดตามเอาบัตร Easy Pass คืนสำหรับผู้ไม่ใช้บัตรมา 2 ปี แต่อย่างใด หากคำนวณมูลค่าในส่วนที่เกิน 2 ปี คิดเป็นเงินต้นทุนของ กทพ. ทั้งสิ้น 72.18 ล้านบาท ในขณะที่บัตรปกติมีอายุการใช้งาน 7 ปี ทำให้เกิดความไม่คุ้มค่าของเงินงบประมาณที่ใช้ในการจัดซื้อบัตร และไม่สามารถแก้ไขปัญหาการจราจรติดขัดสะสมบริเวณหน้าด่านได้
ทั้งนี้พบว่า กทพ. ไม่ได้จำกัดจำนวนการขอรับบัตรและถือครองบัตร Easy Pass หรือไม่ได้จำกัดว่ารถ 1 คัน ต้องมีบัตร 1 ชุดเท่านั้น โดยพบผู้ถือครองบัตร 2 ใบขึ้นไป จำนวน 167,367 ราย รวมจำนวนบัตร 485,846 ใบ หรือร้อยละ 38.16 ของจำนวนบัตร Easy Pass ที่จำหน่าย/แจกทั้งหมด ซึ่งอาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้มีผู้ขอบัตรไปแล้วแต่ไม่ได้นำมาใช้งาน
“สตง. เห็นว่า การดำเนินงานให้บริการระบบ Easy Pass ดังสภาพปัญหาข้างต้น จะส่งผลทำให้การดำเนินงานของ กทพ. อาจไม่บรรลุผลสำเร็จตามเป้าหมาย หรือไม่เหมาะสมสอดคล้องกับศักยภาพการให้บริการและความต้องการใช้บริการของประชาชน อีกทั้งการใช้จ่ายเงินอาจไม่เกิดความคุ้มค่า ทั้งนี้ สตง. ได้แจ้งผลการตรวจสอบและมีข้อเสนอแนะให้ผู้ว่า กทพ. พิจารณาปรับปรุงแก้ไขการดำเนินงานด้วยแล้ว” หนังสือดังกล่าว ระบุ
หมายเหตุ : ภาพประกอบ Easy Pass จาก sanook