"ธีระ"รับพื้นที่2ล้านไร่แก้น้ำท่วมไม่ร้อยเปอร์เซ็นต์
รมว.เกษตรฯตั้งคณะทำงานสานนโยบายแก้น้ำท่วม เตรียมส่งแผนจัดการ-ค่าชดเชยเกษตรกรให้ กยน.ภายใน มี.ค. ยอมรับพื้นที่รับน้ำ 2 ล้านไร่เขียนจากกระดาษไม่มีใครประกันแก้ได้100%
จากกรณีที่คณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อวางระบบบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ (กยน.)คลอดแผนการแก้ปัญหาน้ำท่วมในระยะสั้นระยะยาว ใช้พื้นที่ 6 จังหวัดในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาเป็นพื้นที่รับน้ำ เมื่อวันที่ 11 ม.ค.55 นายธีระ วงศ์สมุทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (รมว.กษ.) แถลงความคืบหน้าการดำเนินการที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ว่า ในส่วนของกระทรวงเกษตรฯที่รับผิดชอบเรื่องการจัดการน้ำร่วมกับหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง เบื้องต้นได้มอบหมายให้กรมชลประทานรับไปบริหารจัดการเขื่อนขนาดใหญ่ว่าเกณฑ์รับน้ำต่ำสุดเป็นอย่างไรและหลักเกณฑ์การระบายที่ผ่านมาเหมาะสมหรือไม่ ถ้าศึกษาแล้วเห็นว่าไม่เหมาะสมให้มีการปรับปรุงใหม่ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่อาจจะเกิดขึ้นได้ในอนาคต ซึ่งกรมชลประทานได้ตั้งคณะทำงานขึ้นมาดูแล โดยเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กฟผ.มาหารือ เมื่อได้หลักเกณฑ์ที่คิดว่าเหมาะสม จึงจะนำเสนอคณะกรรมการกยน.อีกครั้งภายในเดือนนี้ ส่วนคณะทำงานอีกชุดหนึ่งคือคณะทำงานปรับปรุงเรื่องพยากรณ์น้ำทั้งระบบที่กรมชลประทานในฐานะแม่งานจะทำให้แล้วเสร็จภายในเดือนมีนาคมเพื่อเสนอกยน.เช่นเดียวกัน
อย่างไรก็ตาม รมว.กษ. กล่าวว่า ในการดำเนินการเกี่ยวกับบริหารจัดการพื้นที่รับน้ำนองและมาตรการเยียวยาได้มอบหมายให้ดร.เจษฎา แก้วกัลยา ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงฯเป็นประธาน ดูภาพรวมพื้นที่น้ำนองทั้งหมดว่าอยู่ที่ไหน ขอบเขตเป็นอย่างไร การเยียวยาจ่ายค่าชดเชยชาวบ้านจะทำอย่างไร ซึ่งเรื่องนี้จะทำให้แล้วเสร็จภายใน 2 เดือน
“พื้นที่รับน้ำนองมีการมองกันแบบกว้างๆ คือเขียนขึ้นจากข้อมูลที่ดูในแผนที่ จะขีดจะเขียนอย่างไรก็ได้ แต่ข้อเท็จจริง เมื่อน้ำเอ่อเข้าไปในพื้นที่แล้ว ถ้าไม่มีคันกั้นน้ำก็ควบคุมไม่ได้ เช่นเดียวกับแก้มลิงที่มีการพูดกันเกร่อไปหมด แก้มลิงต้องมีพื้นที่รับน้ำเข้าและเอาน้ำออก ส่วนพื้นที่ 2 ล้านไร่ เป็นการคำนวณของกยน.แต่ต้องมาดูอีกว่าเมื่อน้ำเข้าไปแล้วมันจะอยู่แค่ในพื้นที่ที่กำหนดหรือไม่ ตรงนี้ก็เป็นโจทย์ที่ต้องดูกันอีกที แต่ในระยะเวลาก่อนจะถึงหน้าฝนมีการเร่งรัดทำให้แล้วเสร็จ ซึ่งนายกรัฐมนตรีแสดงความเป็นห่วงโดยได้สั่งการทุกหน่วยราชการที่ได้รับงบประมาณ เร่งทำแผนให้ชัดเจนส่วนจะแก้ปัญหาได้ 100 เปอร์เซ็นต์หรือไม่ ไม่มีใครตอบได้ แต่คิดว่าน่าจะดีกว่าปีที่ผ่านมา” รมว.กษ. กล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากข้อมูลคณะกรรมการกยน.พื้นที่รับน้ำ 2 ล้านไร่จะเริ่มทำตั้งแต่พื้นที่จังหวัดนครสวรรค์ลงมาตามลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง ขณะเดียวกันจะดำเนินการควบคู่ไปกับการผันน้ำออกทางฟลัดเวย์ฝั่งตะวันออกและฝั่งตะวันตกโดยเบื้องต้นมีพื้นที่รับน้ำด้วยกัน 20 ทุ่ง ประกอบด้วย จังหวัดนครสวรรค์ ชัยนาท สิงห์บุรี ลพบุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา รวมพื้นที่ 1.15 ล้านไร่