"มีลูกเถอะ" กับค่าใช้จ่ายเลี้ยงดู โจทย์ใหญ่การขับเคลื่อนนโยบายด้านประชากร
"ผมเคยทำงานวิจัยว่า เป็นไปได้ไหมให้พ่อกับแม่สามารถลาทำงานสลับกันได้ จนลูกอายุ 3 ขวบ พ้นระยะเวลาการให้นมแม่ เช่น คุณแม่ไม่สามารถลางานได้ ก็ให้คุณพ่อลางานกลับมาเลี้ยงดูลูก"
"ณ วันนี้เราควรจะมาพูดคุยถึงว่ามีลูกเถอะ เพราะว่าในอนาคตเราจะไม่มีคนสร้างและผลิต GDP ซึ่ง GDP จะเป็นสิ่งที่ดูแลสังคม ดูแลผู้สูงอายุและเด็กได้ในอนาคตเป็นผลต่อเนื่องกัน" ผศ.ดร.ภูเบศร์ สมุทรจักร รองผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยและวิเทศสัมพันธ์ สถาบันประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล หนึ่งในนักประชากรศาสตร์รุ่นใหม่ ที่ออกมาแสดงความเป็นห่วงโครงสร้างประชากรไทยที่ไม่สมดุล
พร้อมกับตั้งคำถาม หากจะออกออกนโยบายกระตุ้นการมีลูก บทบาทและการตัดสินใจขึ้นอยู่กับผู้หญิง แล้วสังคมนี้จะทำอย่างไรให้เวลามีลูกแล้วไม่แพงจนเกินไป ?
ประเด็นที่หลายคนพูดถึงมาตราการกระตุ้นการเพิ่มประชากรด้วยวิธีการต่างๆ ผศ.ดร.ภูเบศร์ นักวิจัยที่ศึกษาเรื่องนี้มาสักระยะหนึ่ง บอกว่า ตัวแปรที่สำคัญมากคือการเปลี่ยนแปลงของผู้หญิงในยุคปัจจุบัน ทั้งในประเทศและต่างประเทศ บทบาทของผู้หญิงนั้นเปลี่ยนไปจริงๆ โดยเฉพาะเมื่อผู้หญิงมีการศึกษา
"การยกระดับการศึกษาของผู้หญิง ที่พูด ไม่ได้จะให้ผู้หญิงไม่มีการศึกษานะ แต่จะชี้ประเด็นให้ว่า ต้นตอมาจากตรงไหน เมื่อก่อนการศึกษามีเฉพาะผู้หญิงชั้นสูงในรั้วในวังหรือลูกขุนนาง ระยะหลังการศึกษาเริ่มแพร่กระจายออกให้กับผู้หญิงทั่วไปให้มีการศึกษามากขึ้น สิ่งหนึ่งที่คนไม่สังเกต คือ ผู้หญิงใช้เวลาในโรงเรียนหรือสถานศึกษาค่อนข้างยาวนานขึ้น
เมื่อก่อนผู้หญิงมีลูกบางรุ่นมีลูกถึง 6-7 คน ย้อนหลังกลับไปเมื่อ 70-80 ปีก่อน ผู้หญิงมีลูกเฉลี่ยอยู่ที่ 5-7 คน เริ่มมีลูกตั้งแต่อายุ 14-15 ปี แต่ตอนหลังลองคิดดูว่า ถ้าหากจะให้ผู้หญิงเริ่มมีลูกตอนอายุ 18 ปี แปลว่าผู้หญิงจบแค่ม.6 แล้วก็มีลูก ซึ่งเป็นไปไม่ได้ ผู้หญิงจะต้องเรียนจบปริญญาตรี และการศึกษาระดับปริญญาตรีต้องอายุ 22 ปี
ยิ่งช่วงหลังๆ ค่านิยมของการเรียนจบปริญญาตรีไม่พอ ยังจะต้องเรียนต่อระดับปริญญาโทอีก ไหนจะต้องทำงานไปด้วยเรียนไปด้วย"
สภาพที่ ผศ.ดร.ภูเบศร์ ยกขึ้นมากให้เห็น เหมือนจะตอบโจทย์ให้กับสังคมว่า ทำไมผู้หญิงไทยหลายต่อหลายคนแต่งงานแล้วถึงไม่ยอมมีลูก เหตุเพราะเขาเหล่านั้น ไม่สามารถที่จะมีลูกแล้วก็หาเงินเลี้ยงลูกด้วย หรือทำงานด้วยอยู่กับสามีด้วยได้
"ฉะนั้นผู้หญิงกว่าจะมีลูกได้ อายุประมาณเกือบ 30 ปี เมื่อเมื่ออายุ 30 ปี ช่วงวัยเจริญพันธุ์หายไปเกือบครึ่ง คน โดยจะหมดวัยเจริญพันธุ์ประมาณอายุ 40-45 ปี และถึงแม้ว่าอายุ 30-45 ปี ยังจะเป็นเวลาที่เจริญพันธุ์ได้ก็จริง แต่ก็เริ่มที่จะไม่ปลอดภัยที่จะมีลูกแล้ว มีภาวะการณ์เสี่ยงในการตั้งครรภ์สูง คนจะไม่ค่อยกล้าที่จะมีลูกกัน
เราจะเห็นหลายคนที่แต่งงานและพร้อมที่จะมีลูกอายุ 30 แม้มีงานการที่มั่นคง มีสามี เรียนจบปริญญาโทแล้ว แล้ว หลายคนแต่งงานแล้วก็อยากจะปล่อยให้มีลูก 2-3 คน แต่ไม่ได้มาง่าย เพราะฉะนั้นในระยะหลังเราจะได้เห็นคลินิกที่รับปรึกษาเรื่องการมีลูกยากเริ่มได้รับความนิยมมากขึ้น รวมไปถึงการทำกิ๊ฟ ซึ่งปัจจุบันมีค่าใช้จ่ายที่ลดลงจากเมื่อก่อนมาก ซึ่งธุรกิจนี้เริ่มเข้ามาเป็นกระแสสำคัญที่หลังจากแต่งงานช่วงที่อายุมากๆ"
ผศ.ดร.ภูเบศร์ มองว่า ประเด็นสำคัญ คือ 1.จะทำอย่างไรให้ผู้หญิงสามารถที่จะยกระดับศักดิ์ศรีของตัวเองด้วยการศึกษาและก็การทำงาน ในขณะเดียวกันก็มีตัวช่วยอื่นสามารถมาดูแลลูกเขาได้ ณ วันนี้เราไม่พูดถึงการมีลูก 3-4 คน เอาแค่ 2 คน ทำไมถึงอยู่ที่ 2 คน เพราะอยู่ระดับที่ทดแทน คือเป็นการทดแทนในตัวคุณพ่อและตัวคุณแม่ ฉะนั้นเราจะมีตัวช่วยอย่างไร
"เรื่องแรก คนเป็นกังวลอย่างมากก็คือ วันนี้การเลี้ยงลูกทั้งซับซ้อนและแพงกว่า ย้อนหลังกลับไปเมื่อ 40-50 ปีที่แล้วมาก จากเมื่อก่อนเด็กไม่ได้ต้องการดูแลและไม่ต้องการประคบประหงมมากมากเท่าปัจจุบัน เรื่องที่สอง คือสภาพสังคมในปัจจุบันอันตรายมาก ฉะนั้นจึงทำให้พ่อแม่ต้องไปรับส่งลูก ไม่ว่าสภาพการจราจรจะเป็นอย่างไร ทำอย่างไรให้สังคมนี้มีความปลอดภัยมากขึ้น ทำอย่างไรให้การใช้จ่ายในการเลี้ยงดูลูก ตั้งแต่การเลี้ยงดูในบ้าน ไปจนถึงการศึกษาไม่แพงเท่าปัจจุบัน
ถามว่าในปัจจุบันทำไมถึงแพง โรงเรียนรัฐดีๆ ก็มีเยอะและก็ดีพอประมาณ แต่ว่า ดีไม่พอสำหรับพ่อแม่ เพราะว่าข้างบ้านได้ดีกว่า ฉะนั้นตัวพ่อแม่จะต้องสู้กันจนหยดสุดท้ายเลย คือเวลาอวดเรื่องลูกแข่งเรื่องลูกสู้กันเต็มที่ ไม่ใช่แค่การันตีว่าลูกจะต้องมีคุณภาพเท่านั้น แต่ต้องมีคุณภาพที่ไม่ด้อยกว่าคนอื่นด้วย สมัยนี้ต้องมีเนอร์สเซอรี่อินเตอร์ต้องเรียนโรงเรียนอนุบาลอินเตอร์ เป็นต้น"
ในขณะที่โรงเรียนหลวง โรงเรียนรัฐมีเต็มบ้านเต็มเมือง นักประชากรศาสตร์รุ่นใหม่ ชี้ว่า ยังดีไม่พอ แล้วพ่อแม่จะทำอย่างไรให้ลูกได้เรียนโรงเรียนที่ดีที่สุด และบังเอิญกลไกตาดได้สร้างสถาบันใหม่ๆ พร้อมค่าใช้จ่ายที่แพงขึ้น "กลไกเหล่านี้ทำให้พ่อแม่มีลูก 3 คนไม่ได้ละ ไม่งั้นจะส่งเรียนไม่ได้ เพราะฉะนั้นเรื่องค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงดูลูก จึงเป็นโจทย์ใหญ่ของการขับเคลื่อนประชากรมาก"
อีกเรื่องคือการดูแลลูกในวัยลูกตั้งแต่วัยแรกเกิดจนถึง 5 ขวบ ผศ.ดร.ภูเบศร์ ชี้ว่า มีความสำคัญเพราะพัฒนาการของเด็กในการสร้างสมองในด้านต่างๆ อยู่ในช่วงวัยนี้ และในช่วงวัยนี้โดยเฉพาะพ่อแม่มือใหม่ปรับตัวอย่างมาก เพราะมีความกังวลในเรื่องการทำมาหากิน ซึ่งจะต้องอยู่รอดให้ได้และในเรื่องของการปรับตัวการใช้ชีวิตประจำวันก็จะมีการเปลี่ยนแปลง เพราะได้มีสมาชิกที่เกิดมาใหม่ ในสังคมสมัยก่อนอยู่ได้ เพราะปู่ ย่า ตา ยาย อยู่ในที่ใกล้ๆ กันคอยช่วยเลี้ยงดูลูก และพ่อแม่ก็สามารถออกไปทำงาน ปัจจุบันการจ้างคนมาดูแลลูกเดือนละเป็นหมื่นบาท ถามว่า เงินเดือนสำหรับคนที่พึ่งเริ่มแต่งงานแล้วเริ่มมีลูกมีเงินเดือนๆละกี่บาท โดยเฉลี่ย ไหนจะค่าเช่าบ้านอีก เพราะฉะนั้นมีอุปสรรคเยอะมาก
ในขณะที่รัฐบาลให้ความช่วยในด้านโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ หันกลับมามองนโยบายโครงสร้างประชากร หากตัวผู้หญิงที่เขายินยอมที่จะตั้งท้อง แล้วตั้งท้องอย่างมีความสุขหรือไม่ เพราะฉะนั้นทรัพยากรสำคัญคือการช่วยเหลือผู้หญิงในตอนที่ผู้หญิงนั้นมีลูก
สำหรับกระแสปัจจุบันผู้ชายเริ่มมีบทบาทมากยิ่งขึ้นในการเลี้ยงลูก จากเมื่อก่อนไม่ใช่หน้าที่ผู้ชายเลยที่จะต้องมาชงนมเลี้ยงลูก แต่ในตอนนี้อยู่ในช่วงที่ต่างคนต่างต้องช่วยกันทำมาหากิน ผู้ชายที่สามารถลาเลี้ยงลูกได้คือผู้ที่ทำงานราชการ แต่เป็นระยะเวลาที่น้อยมากประมาณ 10-15 วัน จะเป็นไปได้หรือไม่ที่สังคมจะอนุมัติเวลาให้ผู้ชายสามารถลากลับไปช่วยเลี้ยงลูกได้สามารถไปช่วยแบ่งเบาภาระของแม่ได้
"ผมเคยทำงานวิจัยว่า เป็นไปได้ไหมให้พ่อกับแม่สามารถลาทำงานสลับกันได้จนลูกอายุ 3 ขวบ พ้นระยะเวลาการให้นมแม่ เช่น คุณแม่ไม่สามารถลางานได้ ก็ให้คุณพ่อลางานกลับมาเลี้ยงดูลูก"
ทั้งนี้ นักวิชาการด้านประชากรศาสตร์รุ่นใหม่ แสดงความกังวลถึงสถานการณ์คนมีลูกน้อยทิ้งท้าย เพราะถ้าหากสถานการณ์ยังเป็นแบบนี้มีแนวโน้มที่ประชากรจะลดลง จำนวนประชากรมีไม่มากพอที่จะแบกรับการดูแลสังคม ทุกวันนี้เราถึงจุดที่มีความน่ากังวล และต้องคิดว่า จะทำอย่างไรให้จำนวนประชากรมีจำนวนเยอะขึ้น ณ วันนี้เราจึงควรจะมาพูดคุยถึงการมีลูกเถอะ!