ขอให้ยอมรับผลประชามติ! ‘บิ๊กตู่’ยันเลือกตั้งปี’60-จำเป็นต้องใช้ ม.44 ต่อ
‘พล.อ.ประยุทธ์’ แถลงผ่านทีวีพูล ขอบคุณประชาชนที่มาใช้สิทธิลงประชามติ ลั่นมีเลือกตั้งในปี’60 ยันจำเป็นต้องใช้อำนาจตาม ม.44 อยู่เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อย ขอให้คนคิดร้ายต่อบ้านเมืองยอมรับผลประชามติ ลั่นพลังประชาชนไม่อาจประมาทได้
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) แถลงผ่านสถานีโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทยภายหลังทราบผลการลงประชามติอย่างเป็นทางการ และภายหลังประชุมร่วม คสช. กับคณะรัฐมนตรี โดยขอบคุณประชาชนที่มาใช้สิทธิ และชี้แจงขั้นตอนการดำเนินการภายหลังลงประชามติ
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวโดยสรุปว่า การเลือกตั้งครั้งใหญ่จะมาถึงในอีกประมาณ 1 ปีข้างหน้า ดังนั้นใครที่ผิดหวัง ถูกใจ ไม่ถูกใจ ในร่างรัฐธรรมนูญ และผลประชามติ ย่อมมีเป็นธรรมดา เช่นเดียวกับการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญทุกครั้ง และในทุกประเทศ แต่ขอใคร่ให้ทุกฝ่ายยอมรับผลดังกล่าว บัดนี้การออกเสียงประชามติสิ้นสุดแล้ว แต่ภารกิจของประชาชนและตนยังไม่หยุด ขอให้ทิ้งความเห็นต่าง ชอบ ไม่ชอบ รับ ไม่รับ ไว้ในหีบลงคะแนน และร่วมกันก้าวไปข้างหน้า ภารกิจยังมีอีกมาก และอาจลำบากกว่าที่ผ่านมา คือการสร้างความเจริญให้เกิดขึ้น การปฏิรูปประเทศ การยุติความขัดแย้ง และการสร้างความปรองดองภายใต้กติกาฉบับใหม่ โดยปัจจุบัน คสช. และรัฐบาลดำเนินการตามโร้ดแม็พตลอด ซึ่งจะอยู่ต่ออีกประมาณ 1 ปี ตามบทเฉพาะกาลในร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จนถึงการเลือกตั้งในปีหน้า (2560)
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวอีกว่า สำหรับขั้นตอนต่อไปคือ กรธ. ต้องแก้ไขบทเฉพาะกาลให้สอดคล้องกับคำถามพ่วงฯ ส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญตรวจสอบ หลังจากนั้นส่งให้เจ้าหน้าที่อาลักษณ์เขียนร่างรัฐธรรมนูญลงบนสมุดไทย ซึ่งมีการเตรียมการไว้ก่อนบ้างแล้ว และทูลเกล้าฯถวาย เพื่อทรงพิจารณาลงพระปรมาภิไธย ใช้เวลารวมไม่เกิน 3 เดือน ก่อนประกาศใช้รัฐธรรมนูญ หลังจากนั้น กรธ. ต้องจัดตั้งกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ 10 ฉบับ โดยเฉพาะ 4 ฉบับแรก (พ.ร.บ.เลือกตั้ง ส.ส. พ.ร.บ.เลือกตั้ง ส.ว. พ.ร.บ.กกต. และ พ.ร.บ.พรรคการเมือง) ต้องเสร็จก่อน โดยกฏหมาย 4 ฉบับดังกล่าวเป็นงานละเอียดอ่อน ยากลำบากไม่แพ้ร่างรัฐธรรมนูญ ต้องส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญ และองค์กรต่าง ๆ ตรวจสอบความถูกต้องด้วย ดังนั้นน่าจะประกาศใช้ได้ไม่เกินกลางปี 2560 ก่อนจะเป็นหน้าที่ กกต. ดำเนินการจัดเลือกตั้งทั่วไปให้แล้วเสร็จใน 150 วัน คือช่วงปลายปี 2560 ซึ่งเป็นไปตามโร้ดแม็พที่วางไว้ ส่วนรัฐบาลต้องทำกฎหมายอีกหลายฉบับตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ โดยระหว่างนี้ คสช. รัฐบาล สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) จะยังคงปฏิบัติหน้าที่ต่อไปตามบทเฉพาะกาลจนกว่าจะมีรัฐบาลใหม่
“พี่น้องประชาชนชาวไทยที่เคารพ สถานการณ์บ้านเมืองทั่วไป แม้ดูสงบเรียบร้อย เพราะพี่น้องรู้สึกว่ายังใช้ชีวิต ประกอบอาชีพ ไปไหนมาไหนได้ปกติ นักท่องเที่ยว นักลงทุน ยังเดินทางมาปกติ ส่วนการสนทนาไม่ต้องหวาดระแวงเหมือนเมื่อก่อน ว่าใครเป็นใคร สีใด ฝ่ายใด และสิทธิเสรีภาพ ยังมีอยู่ทุกประการ แม้มีผู้บิดเบือนว่าโดนตัดสิทธิ แต่ถ้าสุจริต ไม่ทำผิดกฏหมายก่อความวุ่นวายในบ้านเมือง ทุกคนยังสามารถกระทำการใด ๆ ก็ได้ แสดงความคิดเห็น ตำหนิติเตียนรัฐบาลตามที่ได้เห็นทุกวัน ถ้าไม่มีเสรีภาพคงทำไม่ได้” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวด้วยว่า การดำเนินการของรัฐบาลเวลานี้ ยังจำเป็นต้องอยู่ภายใต้กฎหมาย และหลักนิติธรรม รวมถึงอำนาจของ คสช. ตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี 2557 เพื่อให้เกิดความอุ่นใจ มั่นใจแก่พี่น้องทั้งหลายไปอีกระยะหนึ่ง ขอให้คิดร้ายต่อบ้านเมือง นับถือกฎหมาย และคำนึงถึงพลังประชามติด้วย
“ปัญหาที่ท้าทายยังรออยู่ข้างหน้าอีกมาก ผมซาบซึ้ง ขอขอบคุณประชาชนที่เชื่อมั่นต่อ คสช. และรัฐบาล พลังประชามติมีความหมายมากต่ออนาคตของประเทศ อย่างน้อยแสดงให้โลกรู้ว่า ชาวไทยคิดอย่างไร ต้องการอย่างไรกับประเทศของตน พลังประชาชน ไม่อาจประมาทได้ ดังนั้น คสช. รัฐบาล และผมเอง ต้องใช้ความพยายามทุ่มเทสติปัญญาเวลาที่เหลือให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชน ให้สมความเชื่อมั่น ไว้วางใจ จะยึดถือความสุจริต ธรรมาภิบาล ไม่ประมาทในการใช้อำนาจหน้าที่ ประเทศชาติและสังคมต้องเกิดความสันติสุข ความสงบเรียบร้อย มีความเป็นธรรม ตามกฏหมาย แล้วรัฐบาลแม้จะเป็นผู้นำในการดำเนินการ แต่ทุกคนต้องเดินเคียงคู่ไปด้วยกัน เพื่อให้ก้าวไปสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนได้ โดยไม่ต้องทิ้งใครไว้ แม้จะเห็นแย้ง เห็นต่าง ถ้ามีสิ่งใด คสช. และรัฐบาลต้องการความร่วมมือ หรือเรียนให้ทราบ จะขอชี้แจงอีกในโอกาสต่อไป” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว
สำหรับผลประชามติอย่างเป็นทางการนั้น คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ระบุว่า มีประชาชนออกมาใช้สิทธิออกเสียงเมื่อวันที่ 7 ส.ค. 2559 จำนวน 29,740,677 คน จากบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิออกเสียง จำนวน 50,071,589 คน คิดเป็นร้อยละ 59.4 โดยจำนวนนี้เป็นบัตรเสีย จำนวน 936,209 บัตร คิดเป็นร้อยละ 3.15
ในส่วนของผลการออกเสียงประเด็นที่ 1 ร่างรัฐธรรมนูญ ปรากฎว่ามีผู้ลงคะแนนเห็นชอบ จำนวน 16,820,402 คะแนน คิดเป็นร้อยละ 61.35 ไม่เห็นชอบ จำนวน 10,598,037 คะแนน คิดเป็นร้อยละ 38.65 ส่วนการออกเสียงในประเด็นที่ 2 คำถามพ่วง ปรากฎว่ามีผู้ลงคะแนนเห็นชอบ จำนวน 15,132,050 คะแนน คิดเป็นร้อยละ 58.07 ไม่เห็นชอบ จำนวน 10,926,648 คะแนน คิดเป็นร้อยละ 41.93 ทั้งนี้ ไม่ปรากฎมีผู้มายื่นคำร้องคัดค้านการออกเสียงภายใน 24 ชั่วโมง นับตั้งแต่การลงคะแนนออกเสียงสิ้นสุดลง
อ่านประกอบ :
เปิดไทม์ไลน์! ตกลง‘เลือกตั้ง’ปีไหน? คำถามที่ยังคาใจหลังประชามติ
เทียบสถิติ-วิเคราะห์ปมประชามติ! ‘โหวตรับ’ท่วมท้นได้ยังไง-ไฉน‘โหวตโน’แพ้?
ผลไม่เป็นทางการประชามติ รับ รธน. ลิ่ว 15 ล.ไม่รับ 9 ล. อีสาน-3 จว.ใต้ชนะโหวตโน