พบ 5 จังหวัดลงทะเบียนรับเงินอุดหนุนเด็กแรกเกิดสูงสุด
ปัตตานี บุรีรัมย์ นครศรีธรรมราช นราธิวาส นครราชสีมา 5 จังหวัดลงทะเบียนรับเงินอุดหนุนเด็กแรกเกิดสูงสุด รองปลัดพม.ชี้ถึงวันนี้ มีผู้มาลงทะเบียนแล้วเกือบ 1.2 แสนคน คิดเป็น 90%
เมื่อเร็วๆ นี้ นายวิทัศน์ เตชะบุญ รองปลัดกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กล่าวในเวทีการประชุมระดมสมอง "โจทย์เชิงรุกเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากร" จัดโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย ตอนหนึ่งถึงโครงการเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิด 400 บาท ข้อมูล ณ วันที่ 12 กรกฎาคม 2559 มีผู้มาลงทะเบียนแล้วเกือบ 1.2 แสนคน คิดเป็น 90%
"50.4% ภาคตะวันออกเฉียงเหนือมาลงทะเบียนอันดับดับ 1 รองลงมาอันดับ 2 คือ ภาคใต้ แม้จำนวนประชากรไม่มากแต่พบว่า มารับเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิดถึง 23% ภาคเหนือ 17%และภาคกลาง 9% กทม.0.6%" นายวิทัศน์ กล่าว และว่า 5 จังหวัดที่มาลงทะเบียนรับเงินอุดหนุนสูงสุด คือ ปัตตานี บุรีรัมย์ นครศรีธรรมราช นราธิวาส นครราชสีมา ซึ่งจะเห็นว่า มี 2 จังหวัดอยู่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ ซึ่งมีการเกิดเป็นอันดับต้นๆ
รองปลัดพม.กล่าวด้วยว่า คนภาคกลาง หรือคนกทม.ซึ่งมีศักยภาพมีฐานะค่อนข้างดี มีครอบครัวที่พร้อม แต่ไม่ยอมมีลูก ตรงนี้นโยบายขับเคลื่อนส่งเสริมให้คนมีบุตรมากขึ้นได้อย่างไร เพื่อให้โครงสร้างประชากรไทยสมดุล หรืออาจไปลดจำนวนคนมีบุตรที่ไม่พร้อมได้อย่างไร โดยเฉพาะวัยรุ่นที่ยังไม่พร้อม หากวิเคราะห์ข้อมูลจะเห็นปัญหาสังคมที่ชัดเจน
ทั้งนี้โครงการอุดหนุนเด็กแรกเกิด รัฐจ่ายเป็นสวัสดิการให้จำนวน 400 บาทต่อเดือน ไปจนอายุครบ 1 ขวบ สำหรับเด็กที่เกิดในช่วงวันที่ 1 ตุลาคม 2558 จนถึง 30 กันยายน 2559 ในครอบครัวยากจน มีเป้าหมายเพื่อสนับสนุนส่งเสริมให้เด็กแรกเกิดได้เข้าถึงบริการสุขภาพ และเมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2559 คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบในหลักการโครงการเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิด ตามที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เสนอ โดยให้ขยายระยะเวลาการช่วยเหลือเด็กแรกเกิดจาก 1 ปี เป็น 3 ปี และการเพิ่มวงเงินการช่วยเหลือจากเดิม 400 บาท/เดือน เป็น 600 บาท/เดือน
อ่านประกอบ:
เด็กเล็กเป็น ‘วัยทองคำ’ ทุ่มงบฯ ขยายเงินอุดหนุน ผลลงทุนคุ้มค่า