เอนก เหล่าธรรมทัศน์ : คิดอย่างไรกับผลการลงประชามติ
เป็นไปได้ไหมว่าการลงคะแนนโดยไม่มีเงินมาชักจูงชี้นำอย่างในครั้งนี้ จะเป็นสาเหตุที่ผลการลงคะแนน ออกมา ผิดคาด เอามากๆ และหากข้อสงสัยนี้เป็นจริง รัฐบาลและ กกต. ควรจะเชื่อมั่นและตั้งใจยิ่งขึ้นที่จะทำให้การใช้เงินทองเป็นสื่อชักจูงล่อใจประชาชนลดน้อยลงหรือหมดไปโดยพื้นฐาน ได้จริงๆ
ศ.ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ โพตส์บทความในเฟซบุ๊กส่วนตัวเรื่อง คิดอย่างไรกับผลการลงประชามติ
---------
ผมคิดว่าเราไม่ควรเน้นว่าใครแพ้ใครชนะ ควรเอาผลการลงประชามติเป็นครู ใครที่อยากทำอะไรให้ประชาชนหรือเพื่อประชาชน ควรจะวิเคราะห์ว่าประชาชนจริงๆ คิดอย่างไร ต้องการอะไร
มีบางท่านที่ทำงานภาคประชาชน ไม่อยากรับรัฐธรรมนูญและไม่เห็นด้วยกับคำถามพ่วงที่ให้ ส.ว. ร่วมกับ ส.ส. เลือกนายกรัฐมนตรีในห้าปีแรก พากันเพลียใจกับผลประชามติ แต่สิ่งที่คนทำงานในภาคประชาชนควรคิด คือ เวลานี้เราคิดไม่เหมือนประชาชนจริงๆเสียแล้ว แล้วชื่อของงานของเรายังควรชื่อภาคประชาชนหรือเปล่า ถ้าไม่หยิบยกประชามติมาทบทวนความคิดของเรา
มีบางท่านที่คิดว่าตนเป็นนักต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย ท่านก็ต้องคิดว่า เอ๊ะ ! ประชาชน เห็นด้วยกับรัฐธรรมนูญและเห็นด้วยกับคำถามพ่วง ซึ่งดูไม่เป็นประชาธิปไตยนา ประชาธิปไตยกับสิ่งที่ประชาชนคิดไม่เหมือนกันนะครับ
มีสองพรรคใหญ่ที่ควรทบทวนความคิดแผนการและยุทธศาสตร์รวมทั้งการจัดวางกำลังของตนเองอย่างจริงจังและเร่งรีบ
ฝ่ายนำพรรคประชาธิปัตย์ อย่าลืม ไม่รับรัฐธรรมนูญ แต่ผู้คนในกรุงเทพฯบ้านหัวหน้าพรรคนั้น รับรัฐธรรมนูญร่วม70 เปอร์เซนต์ ถ้าจำไม่ผิด ภาคใต้รับรัฐธรรมนูญร่วม 80 เปอร์เซนต์ ประชาชนทำท่าจะไม่รับการชี้นำของพรรคเสียแล้ว จะมั่นใจอย่างไรว่าถ้าไม่เปลี่ยนอะไรเลย ถึงเวลาเลือกตั้งจะได้คะแนนจากกรุงเทพฯ และภาคใต้ เท่าเดิม
ฝ่ายนำและแกนนำของพรรคเพื่อไทยและ นปช นั้นไม่รับรัฐธรรมนูญ อย่างเปิดเผย แต่ภาคเหนือรับรัฐธรรมนูญครับ ภาคอีสานรับหรือไม่รับเท่าๆกันครับ ไม่ได้ปฏิเสธรัฐธรรมนูญชัดเจน พรรคทำท่าจะห่างเหินจากฐานเสียงเดิมมากครับ ถึงเวลาที่เพื่อไทยและ นปช จะทบทวนจุดยืนและยุทธศาสตร์ของพรรคบ้าง
ประชาชนดูเหมือนจะยอมรับสิ่งที่ คสช และรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ทำมาสองปีนี้ และรับรองสิ่งที่รัฐธรรมนูญและคำถามพ่วงต้องการทำ พูดง่ายๆ คือจากนี้ไปจนถึงเลือกตั้งและห้าปีหลังจากนั้น อาจจะมีคนนอกมาเป็นนายกรัฐมนตรีได้ มี สว ที่มาจาก คสช. ทั้ง 250 คน และ ส.ว. นี้ มีอำนาจร่วมกับ ส.ส. ในการเลือกนายกรัฐมนตรี และนายกรัฐมนตรีนั้นอาจเป็นคนนอกสภาผู้แทนราษฎรก็ได้
ที่ผ่านมาเราทั้งหลายมักจะคิดกันเองว่า ประชาชนคิดอย่างนั้น ต้องการอย่างนี้ ไม่เอาสิ่งนั้น ต้องการสิ่งนี้ นานๆสักครั้งที่ประชาชนจะบอกได้ ด้วยการลงประชามติว่า อยากเห็นบ้านเมือง 6-7 ปีนี้เดินไปทางไหน อย่างไร เราต้องนับถือและฟังสิ่งที่ประชาชนบอกครับ
แน่นอน การลงประชามตินี้ ฝ่ายที่ไม่รับ ไม่เอา ไม่มีโอกาสที่จะรณรงค์และคัดค้านได้ แต่จากสื่อสังคมและจากสื่อมวลชน ประชาชนรู้ได้ว่าผู้นำของตนคิดอย่างไร จะรับ จะเอา หรือ ไม่รับ ไม่เอา และเสียงที่รับและเอานั้นก็ชนะขาด ชัดเจน ควรที่ฝ่ายแพ้ก็ควรยอมรับ และฝ่ายชนะเองก็ไม่ควรเหิมเกริม
ประชาชนนั้นตกลงจะให้รัฐธรรมนูญที่รับรองว่าจะมีรัฐบาลที่นายกรัฐมนตรีไม่ใช่นักการเมืองจากการเลือกตั้งก็ได้ และนายกรัฐมนตรีมาจากเสียงสนับสนุนร่วมของ ส.ว. และ ส.ส. ในห้าปีแรกได้ แต่นั่นเป็นกลไกทางรัฐธรรมนูญและกฏหมาย ในทางพฤติกรรมนั้น ยากรู้หยั่งถึง ถ้านายกรัฐมนตรีและรัฐบาลไม่อยู่ในร่องในรอย ก็ไม่มีใครประกันได้หรอกว่าประชาชนจะไม่ออกมาขับไล่
สิ่งที่รัฐบาลควรจะทำต่อจากนี้ไป คือ ทำให้ประชาชนพอจะมองเห็นว่า รัฐบาลที่ผิดแผกจากประชาธิปไตยทั่วไปนั้น จะเอาความมั่นคงและเสถียรภาพไปทำอะไร แน่นอนไม่ใช่เพื่อการเสวยสุขของ ฝ่ายคนนอก ฝ่ายพรรคใหญ่ ฝ่ายพรรคกลางและเล็ก แต่ต้องเป็นไปเพื่อการเปลี่ยนแปลงเพื่อการปฏิรูปและเพื่อสันติสุข
หลายสิ่งที่ คสช. ทำ ไม่ว่าจะเป็นการเอาที่ดิน สปก คืนมา เอาชายหาดคืนมา ออกภาษีมรดกและภาษีที่ดินสำหรับที่ดินรกร้างหรือถือครองเอาไว้โดยไม่ทำประโยชน์ หรือการพักงานบรรดานักการเมือง และ ข้าราชการหรือ พนักงานท้องถิ่น ที่ต้องสงสัยว่าจะกระทำผิดหรือทุจริตร้ายแรง ควรขยายวง ควรทำให้เป็นระบบ ควรมีแผนในการทำต่อไป ถ้าทำอย่างนั้นแล้ว ก็จะเป็นการลงมือปฏิรูปนั่นเอง
สุดท้าย เป็นไปได้ไหมว่าการลงคะแนนโดยไม่มีเงินมาชักจูงชี้นำอย่างในครั้งนี้ จะเป็นสาเหตุที่ผลการลงคะแนน ออกมา ผิดคาด เอามากๆ และหากข้อสงสัยนี้เป็นจริง รัฐบาลและ กกต. ควรจะเชื่อมั่นและตั้งใจยิ่งขึ้นที่จะทำให้การใช้เงินทองเป็นสื่อชักจูงล่อใจประชาชนลดน้อยลงหรือหมดไปโดยพื้นฐานได้จริงๆ