มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค พบสารฟอกขาวในน้ำตาลมะพร้าว วางขายห้างดัง
เลขาฯมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคแนะปชช.เลือกซื้อน้ำตาลมะพร้าวที่ไม่มีสารฟอกขาว จี้ผู้ประกอบการลดการใช้สารเคมี หลังตรวจพบสารฟอกขาวจากน้ำตาลมะพร้าว4จาก21ยี่ห้อ
วันที่ 9 สิงหาคม มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค แถลงผลทดสอบ 21 ยี่ห้อสารฟอกขาวในน้ำตาลมะพร้าว โดยนางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า ทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคต้องการให้ประชาชนสามารถเลือกผลิตภัณฑ์ที่ไม่มีสารฟอกขาว สารกันบูด ซึ่งเป็นเป้าหมายเรื่องอาหารปลอดภัย ในฐานะที่เป็นประเทศที่ผลิตอาหารก็อยากให้มีอาหารที่ดีและปลอดภัยเพื่อการบริโภคของประชาชน
นางสาวมลฤดี โพธิ์อินทร์ นักวิชาการด้านวิทยาศาสตร์ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวถึงผลการทดสอบสารซัลเฟอร์ไดออกไซด์หรือสารฟอกขาวในน้ำตาลมะพร้าว สาเหตุที่หาสารฟอกขาวในน้ำตาลมะพร้าวเพราะน้ำตาลมะพร้าวเป็นผลิตภัณฑ์กลุ่มเสี่ยง จึงทำการเฝ้าระวัง อีกทั้งน้ำตาลมะพร้าวเป็นผลิตภัณฑ์ที่เสียง่ายและมีผิวเป็นสีคล้ำ ทางผู้ผลิตจึงอยากจะให้น้ำมะพร้าวมีสีที่ขาวนวลและน่ารับประทาน โดยได้ใส่ซัลเฟอร์ไดออกไซด์หรือสารฟอกขาวลงไป เพื่อให้มีสีที่น่ารับประทานและยังช่วยยับยั้งแบคทีเรียที่เกิดจากการเน่าเสียง่าย
"ทางนิตยสารฉลาดซื้อได้ทำการสุ่มตรวจน้ำตาลมะพร้าวจากท้องตลาดเพื่อจะดูว่าสินค้าเหล่านี้ยังมีการสุ่มเสี่ยงจากสารฟอกขาวหรือไม่" นางสาวมลฤดี กล่าว และต่อ สำหรับการสุ่มตรวจน้ำตาลมะพร้าวทั้งหมด 21 ยี่ห้อ พบ 17 ยี่ห้อ ที่ไม่มีสารฟอกขาว โดยอีก 4 ยี่ห้อ พบสารฟอกขาว
" 2 ใน 4 ยี่ห้อ มีสารฟอกขาวไม่เกินปริมาณค่าที่อย.ได้กำหนดคือ 40 มิลลิกรัมต่อ 1 กิโลกรัม ได้แก่ 1.ยี่ห้อ ต้นตะวัน เก็บตัวอย่างที่ บิ๊กซีเอ็กซ์ตร้า ลาดพร้าว ปริมาณสารฟอกขาวน้อยกว่า 10 มิลลิกรัม และ 2.ไม่ระบุยี่ห้อ เก็บตัวอย่างที่ ตลาดพระประแดง ปริมาณสารฟอกขาว 39 มิลลิกรัม ส่วนอีก 2 ยี่ห้อ ที่มีปริมาณสารฟอกขาวที่เกินกำหนด คือ 1.ยี่ห้อ Suttiphan เก็บตัวอย่างที่ กูร์เมต์มาร์เก็ต สยามพารากอน ปริมาณสารฟอกขาว 72 มิลลิกรัม และ 2.ไม่ระบุยี่ห้อ เก็บตัวอย่างที่ ตลาดอมรพันธ์ ปริมาณสารฟอกขาว 61 มิลลิกรัม"
สํานักงานคณะกรรมการอาหารและยาจึงออกประกาศกระทรวงสาธารณสุข(ฉบับที่ 367) พ.ศ.2557 เรื่อง การแสดง ฉลากอาหาร ในภาชนะบรรจุ โดยจะต้องระบุในฉลากถึงส่วนประกอบว่าได้ใช้สารฟอกขาวชนิดใดบ้าง แต่ยี่ห้อที่พบสารฟอกขาวกลับไม่ระบุไว้ ซึ่งเป็นจุดอ่อนที่ทำให้ผู้บริโภคไม่สามารถรับรู้ถึงรายละเอียดต่างๆได้ และอยากจะให้อย.บังคับใช้ประกาศนี้อย่างจริงจัง
ทั้งนี้ หากผู้บริโภคได้รับสารฟอกขาวสะสมในร่างกายเป็นจำนวนมาก จะเกิดอาการหายใจติดขัด ปวดท้อง ท้องร่วง เวียนศีรษะ อาเจียน และจะมีผลรุนแรงกับผู้ที่แพ้สารฟอกขาวคือ ผู้ที่เป็นโรคหืดหอบจะมีอาการช็อคหมดสติและเสียชีวิตลงได้