ครม.ไฟเขียวออก พ.ร.ก. โอนหนี้ 1.14 ล.ให้ ธปท.
"กิตติรัตน์" ระบุ โอนหนี้ 1.14 ล้านบาทให้ ธปท. ชำระช่วยลดภาระงบฯ-รัฐกู้เงินเพิ่มได้ ด้าน รมว.คลัง ลั่นโอนหนี้ให้ ธปท. ไม่ใช่กระบวนการซุกซ่อนหนี้
วันที่ 10 ธันวาคม ที่ทำเนียบรัฐบาล นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ แถลงข่าวภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี ครั้งที่ 2/2555 ถึงการพิจารณาร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมอย่างบูรณาการ 4 ฉบับ ประกอบด้วย 1.ร่าง พ.ร.ก.ปรับปรุงการบริหารหนี้เงินกู้ที่กระทรวงการคลังกู้เพื่อช่วยเหลือกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน พ.ศ.... เพื่อให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) รับผิดชอบการชำระดอกเบี้ยและเงินต้นของกองทุนฟื้นฟูฯ 1.14 ล้านล้านบาท
2.ร่าง พ.ร.ก.เงินกู้เพื่อการบูรณะและฟื้นฟูประเทศที่ได้รับความเสียหายจากปัญหาอุทกภัย พ.ศ.... จำนวน 3.5 แสนล้านบาท
3.ร่าง พ.ร.ก.จัดตั้งกองทุนประกันภัย จำนวน 5 หมื่นล้านบาท
และ 4. ร่าง พ.ร.ก.แก้ไขพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย เพื่อให้ ธปท. ปล่อยสินเชื่อในเงื่อนไขที่ผ่อนปรน สามารถจัดสรรเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟโลน) ให้แก่ผู้ประกอบการไปดำเนินธุรกิจ จำนวน 3 แสนล้านบาท
นายกิตติรัตน์ กล่าวว่า ก่อนหน้านี้คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้เห็นชอบในหลักการของร่างกฎหมายทั้ง 4 ฉบับดังกล่าว และมอบหมายให้เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาไปตรวจสอบเนื้อหาและถ้อยคำที่ ครม. มีมติเห็นชอบแล้ว โดยที่ประชุมครั้งนี้ได้เห็นสอดคล้องกับผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายว่า การเตรียมการทางการเงินให้มีความพร้อมในการลงทุนเพื่อปรับปรุงมาตรฐานโครงสร้างพื้นฐานระยะยาว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนที่เกี่ยวข้องกับอุทกภัย เป็นเรื่องที่มีความจำเป็น เร่งด่วนและฉุกเฉิน เพราะเมื่อทุกฝ่ายมีความมั่นใจ มีแผนแม่บทตามที่คณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อวางระบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ (กยน.) เสนอก็จะเกิดความเชื่อมั่นในการดำเนินธุรกิจ การดำเนินกิจการ รวมทั้งการดำเนินชีวิตได้อย่างปกติสุข
"ครม. มีความเห็นว่า ร่างกฎหมายทั้ง 4 ฉบับดังกล่าว ควรจะมีการตราออกมาในลักษณะร่างพระราชกำหนด เพื่อที่จะสามารถดำเนินการต่อไปได้อย่างรวดเร็ว”
สำหรับในส่วนของ ร่าง พ.ร.ก.ปรับปรุงการบริหารหนี้เงินกู้กองทุนฟื้นฟูฯ นั้น นายกิตติรัตน์ กล่าวว่า การดำเนินการดังกล่าวของรัฐบาลจะไม่นำไปสู่การเรียกร้องให้กองทุนฟื้นฟูฯ ที่อยู่ในความรับผิดชอบของ ธปท. ต้องชำระต้นเงินกู้ 1.14 ล้านบาทด้วยการพิมพ์ธนบัตรใหม่ เนื่องจากนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เกรงจะถูกมองว่า เป็นการเสียวินัยทางการเงิน จึงย้ำไม่ให้ดำเนินการในลักษณะดังกล่าว ขณะเดียวกันจะไม่มีการเปลี่ยนเงื่อนไขการบริหารจัดการทุนสำรองเงินตรา อย่างไรก็ตาม ยังจะต้องดำเนินให้หนี้ 1.14 ล้านไม่เป็นเป็นภาระต่องบประมาณ เพื่อที่จะทำให้ประเทศสามารถกู้เงินได้
“การกู้เงินดังกล่าวไม่ได้กู้เพราะอยากกู้ แต่เพราะจำเป็นต้องนำเม็ดเงินมามาใช้ในการสร้างระบบบริหารจัดการน้ำ และสร้างอนาคตประเทศ ขณะเดียวกันภาระดอกเบี้ยจากหนี้ 1.14 ล้าน ทำให้จำเป็นต้องตั้งงบประมาณสูงถึงปีละ 6.4 หมื่นล้านบาท ดังนั้น ต้องมีการดำเนินบริหารจัดการเพื่อไม่ให้เป็นภาระต่องบประมาณ”
ขณะที่นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวถึงร่าง พ.ร.ก.ปรับปรุงการบริหารหนี้เงินกู้กองทุนฟื้นฟูฯ ว่า การออกกฎหมายดังกล่าว ไม่ใช่เป็นกฎหมายที่รัฐบาลพยายามโอนหนี้ของรัฐบาลไปเป็นหนี้ของ ธปท. และไม่ใช่เป็นการบังคับให้ ธปท ออกพันธบัตร ขณะเดียวกันยังไม่ใช่กระบวนการซุกซ่อนหนี้ หรือนำหนี้ไปหลบอยู่ในบัญชี ธปท. เนื่องจากหลักสำคัญเป็นการบริหารจัดการหนี้ที่ค้างมานาน อีกทั้งที่ผ่านมาขบวนการลดต้น ทำให้หนี้มีวิธีการชำระอย่างจริงจังเกิดขึ้นน้อย หากปล่อยทิ้งไว้รังแต่จะเป็นปัญหาต่อความเชื่อมั่นในการบริหารจัดการระบบการเงินของประเทศ กอปรกับขณะนี้ประเทศกำลังมีภาระจำเป็นเร่งด่วนและภาระดอกเบี้ย ซึ่งต้องนำงบประมาณจากเงินภาษีของประชาชนทุกคน ประมาณ 6 หมื่นล้านบาทต่อปี หรือหากนับตั้งแต่เริ่มต้นจนจึงถึงปัจจุบันก็ประมาณ 6.7 แสนล้านบาทไปจ่ายดอกเบี้ย ดังนั้น จำเป็นต้องมีการแก้ปัญหาหนี้ดังกล่าวอย่างครบวงจร
ส่วนการแก้ปัญหาหนี้นั้น รมว.คลัง กล่าวว่า จะมีการนำหนี้ไปรวมศูนย์ที่กองทุนฟื้นฟูฯ กล่าวคือ กำหนดให้กองทุนฟื้นฟูเป็นพาหนะ และขอให้ ธปท. ช่วยดูแลจัดการบริหาร ในฐานะเป็นผู้ขับพาหนะดังกล่าวไปจนสุดทาง ส่วนแหล่งเงินที่จะน้ำมาใช้ขับเคลื่อนนั้น 2 ใน 3 เป็นแหล่งที่มาจากกฎหมายเดิม ได้แก่ กำไรจาก ธปท. และทุนสำรอง ส่วนที่แก้ไขเพิ่มเติมคือแหล่งทุนในส่วนที่ 3 ทั้งนี้ เพื่อเปิดโอกาสให้ ธปท. เรียกเงินนำส่งจากสถาบันการเงิน เพื่อนำมาใช้แก้ปัญหา โดยกำหนดให้เรียกเก็บได้ในอัตราไม่เกินร้อยละ 1 ของเงินฝาก ซึ่งจากวิธีการดังกล่าวจะทำให้มีรายได้สำหรับชำระดอกเบี้ยต่อไป โดยไม่เป็นภาระงบประมาณ ขณะเดียวกันจะมีเงินเหลือ สำหรับทยอยใช้หนี้เงินต้นได้อีกด้วย
“ยืนยันว่า ในส่วนของการปรับปรุงร่างกฎหมายฉบับดังกล่าวได้ปรึกษาหารือกับ ธปท. เป็นที่เรียบร้อย เพราะฉะนั้น ร่างกฎหมายเดิมที่อาจมีการเขียนกว้างไปก่อนหน้านี้ ได้ถูกบีบให้แคบและชัดเจนมากขึ้น เพื่อจะให้แน่ใจได้ว่า ทรัพย์สินที่จะโอนนั้น เป็นทรัพย์สินเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับกองทุนฟื้นฟูฯ และย้ำว่า การดำเนินการทั้งหมดเป็นไปตามวินัยการเงินอย่างเคร่งครัด”
อย่างไรก็ตาม นายธีระชัย กล่าวถึงร่าง พ.ร.ก.เงินกู้เพื่อการบูรณะและฟื้นฟูประเทศฯ ด้วยว่า เป็นการกู้เงินเพื่อนำมาใช้บูรณะ ฟื้นฟูประเทศจากปัญหาอุทกภัย วงเงิน 3.5 แสนล้านบาท ซึ่งมีหลักการเช่นเดียวโครงการไทยเข้มแข้ง ขณะที่ร่าง พ.ร.ก.ประกันภัยนั้น ต้องการให้กิจการขนาดกลางและขนาดย่อม มีอำนาจต่อรองกับบริษัทประกันภัยระดับโลกมากขึ้น และเพื่อให้การประกันวินาศภัยในเรื่องของภัยพิบัติมีราคาไม่แพงจนเกินไป จึงจำเป็นต้องมีขบวนการเข้าไปเสริม ส่วน ร่าง พ.ร.ก.แก้ไขพระราชบัญญัติ ธปท. นั้น จะเป็นกฎหมายที่เปิดช่องให้ ธปท. สามารถปล่อยให้สินเชื่อต่ำ แต่ทั้งนี้ จะเน้นการปล่อยสินเชื่อให้แก่ผู้ประกอบการขนาดกลาง ขนาดย่อม และบุคคลธรรมดาเท่านั้น