เจาะขุมทรัพย์ ‘แอมเวย์’18 ปี ฟันรายได้ 1.7 แสนล. ก่อนคดีพิพาท 1,385.5 ล.กรมศุลฯ
เจาะปูมหลังยักษ์ขายตรงอเมริกัน ‘แอมเวย์’ ปทท. เปลี่ยน กก. หลายรอบ ‘แอมเวย์ เนเธอร์แลนด์ ลิมิเต็ด’หุ้นใหญ่ แจ้งงบการเงินรายได้อื้อ เฉพาะ 18 ปี 1.7 แสนล. กำไรสุทธิปีละกว่า 200-700 ล. แจ้งมีกำไรสะสม 1 พันล.เศษ ก่อนกรณีพิพาท 1,385.5 ล้าน ยังค้างในกรมศุลฯ
กรณีบริษัท แอมเวย์ (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ประกอบการขายตรงรายใหญ่ของสหรัฐฯ ถูกส่วนคดีแพ่งและคดีปกครอง กรมศุลกากร ขอให้สำนักข้อมูลธุรกิจ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ระงับการจดทะเบียนเสร็จการชำระบัญชีและระงับการจดทะเบียน ตั้งแต่ปี 2557-มิ.ย.2559
ต่อมา สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ตรวจสอบงบการเงินของบริษัท แอมเวย์ (ประเทศไทย) จำกัด สำหรับปีสิ้นสุดวันที่ 31 ธ.ค. 2558 พบว่า บริษัทฯ ค้างชำระภาษีอากรกับกรมศุลกากรเป็นเงินจำนวนทั้งสิ้น 1,385.5 ล้านบาท โดยถูกสำนักสืบสวนปราบปราม กรมศุลกากร เข้าตรวจสอบเมื่อวันที่ 6 ส.ค.2547 และได้กล่าวหาว่าบริษัทฯสำแดงราคาสินค้านำเข้าในใบขนสินค้าขาเข้าระหว่างปี 2537-2548 ต่ำกว่าความเป็นจริง โดยไม่ได้คำนวณค่าใช้จ่ายเงินโบนัสของบริษัทฯรวมไปในราคานำเข้าของสินค้า เรื่องอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาอุทธรณ์ของกรมศุลกากร และบริษัทฯยังได้ระบุว่าคดีแพ่งทยอยหมดอายุความ เนื่องจากได้ผ่านกำหนดเวลา 10 ปี แล้ว(อ่านประกอบ:1,385 ล.! ยักษ์ขายตรง‘แอมเวย์’ไม่จ่ายกรมศุลฯ สำแดงต่ำกว่าเป็นจริง-ทยอยหมดอายุความ)
อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าเรื่องผลการพิจารณาในขั้นตอนการพิจารณาอุทธรณ์ของกรมศุลกากรจะได้ข้อยุติอย่างไร?
สำนักข่าวอิศรา เรียบเรียงความเป็นมาและผลประกอบการบริษัทดังกล่าวมาเสนอดังนี้
จากการตรวจสอบพบว่า บริษัท แอมเวย์ (ประเทศไทย) จำกัด จดทะเบียนวันที่ 19 มีนาคม 2528 ทุน 1 แสนบาท ที่ตั้งเลขที่ 297 อาคารหวั่งหลี ชั้น 5 ถ.สุรวงศ์ แขวงสุริยวงศ์ เขตบางรัก กรุงเทพฯ นายเดวิด ไลแมน (ที่ปรึกษากฎหมาย) นายโรจน์วิทย์ เปเรร่า และ น.ส.อุบลรัตน์ สีตะกะสิน เป็นกรรมการ หลังจากนั้นเปลี่ยนแปลงกรรมการหลายครั้ง
13 ก.พ.2545 นายเจมส์ บี เพนย์ นางเลไล โสฬสรัตนพร และ นายปรีชา ประกอบกิจ เป็นกรรมการ (นายบุญชู อังชัยสุขศิริ ออก)
6 ต.ค.2548 นายปรีชา ประกอบกิจ นางเลไล โสฬสรัตนพร และ นายสกอตต์ รัสเซล บลาว์ฟลัว กรรมการ (นายเจมส์ บี เพนย์ ออก)
1 ก.ค.2554 นางเลไล โสฬสรัตนพร นายสก๊อตต์ รัสเซล บลาว์ฟลัว สัญชาติ อเมริกัน และ นายกิจธวัช ฤทธีราวี เป็นกรรมการ (นายปรีชา ประกอบกิจ ออก)
ปัจจุบัน ทุนจดทะเบียน 2 ล้านบาท ที่ตั้งเลขที่ 1199/1 ถนนรามคำแหง แขวงหัวหมาก เขตบางกะปิ กรุงเทพมหานคร
ส่วนผู้ถือหุ้น ในช่วงก่อตั้ง นายเดวิด ไลแมน นายโรแนลด์ เจ คริสแตล นายฮิวเบิร์ท แม็คส์ วอยท์ นายโรจน์วิทย์ เปเรร่า ร่วมกับถือหุ้นใหญ่
ณ วันที่ 15 ธ.ค.2543 ผู้ถือหุ้น 7 ราย แอมเวย์ ไทยแลนด์ พาร์ทเนอร์สชิป ที่อยู่เลขที่ 95 แอร์พาร์ค วิสต้า บลูเลอร์วาร์ด เดย์ทอน เนวาดา 89403 สหรัฐ ถือหุ้นใหญ่ 19,994 หุ้น
30 เม.ย.2556 มีผู้ถือหุ้น 9 ราย แอมเวย์ เนเธอร์แลนด์ ลิมิเต็ด (สัญชาติอเมริกัน) ที่อยู่เลขที่ 1209 ออเร้นจ์สตีท วิลมิงตั้น เดลาแวร์ 19801 สหรัฐ ถือหุ้นใหญ่ 19,794 หุ้น (99%) แอมเวย์ พาร์ทเนอร์ส อิงค์เลขที่ 6100 นีลโร้ดสูท 500 เรโนเนวาด้า 89501 สหรัฐ จำนวน 100 หุ้น และ แอมเวย์โกลบอล เซอร์วิสเซส อิงค์ เลขที่ 311 เซ้าท์ดิวิชั่น คาร์สัน ซิตี้ เนวาด้า 89701 สหรัฐ ถือจำนวน 100 หุ้น ที่เหลือ 6 ราย ๆละ 1 หุ้น
ล่าสุด 29 เม.ย.2559 แอมเวย์ เนเธอร์แลนด์ ลิมิเต็ด ถือหุ้นใหญ่ 19,800 หุ้น (ดูตาราง)
รายชื่อผู้ถือหุ้น บริษัท แอมเวย์ (ประเทศไทย) จำกัด
22 ก.พ.2528 | 15 ธ.ค.2543 | 25 เม.ย.2551 |
1.นายเดวิด ไลแมน 297 หุ้น (อเมริกัน) | 1.แอมเวย์ ไทยแลนด์ พาร์ทเนอร์สชิป 19,994 หุ้น (อเมริกัน) | 1.แอมเวย์ ไทยแลนด์ พาร์ทเนอร์สชิป 19,994 หุ้น (อเมริกัน) |
2.นายโรแนลด์ เจ คริสแตล 200 หุ้น (อเมริกัน) | 2.แอมเวย์ โกลบาล อิงค์ 1 หุ้น (อเมริกัน) | 2.อัลติคอร์ อิงค์ 1 หุ้น (อเมริกัน) |
3.นายฮิวเบิร์ท แม็คส์ วอยท์ 250 หุ้น (อเมริกัน) | 3.เอเมอรัลด์ มารีไทม เซอร์วิส อิงค์ 1 หุ้น (อเมริกัน) | 3.เอเมอรัลด์ มารีไทม เซอร์วิส อิงค์ 1 หุ้น (อเมริกัน) |
4.นายโรจน์วิทย์ เปเรร่า 250 หุ้น | 4.แคลซูล อิงค์ 1 หุ้น(อเมริกัน) | 4.แคลซูล อิงค์ 1 หุ้น(อเมริกัน) |
5.นายธเนศ เปเรร่า 1 หุ้น | 5.แทรุส เอ็กซ์โป คอร์ป 1 หุ้น (อเมริกัน) | 5.แทรุส เอ็กซ์โป คอร์ป 1 หุ้น (อเมริกัน) |
6.น.ส.อุบลรัตน์ สีตะกะลิน 1 หุ้น | 6.ปีเตอร์ ไอส์แลนด์ (2000) ลิมิเต็ด 1 หุ้น (อเมริกัน) | 6.แอมเวย์ คอร์ปอเรชั่น 1 หุ้น (อเมริกัน) |
7.น.ส.ลัดดา เพ็ญผล 1 หุ้น | 7.เมอร์แชนไดส์ โปรดัคชั่นส์ อิงค์ 1 หุ้น (อเมริกัน) | 7.เมอร์แชนไดส์ โปรดัคชั่นส์ อิงค์ 1 หุ้น (อเมริกัน) |
รวม 1,000 หุ้น มูลค่าหุ้นละ 100 บาท | รวม 20,000 หุ้น มูลค่าหุ้นละ 100 บาท | รวม 20,000 หุ้น มูลค่าหุ้นละ 100 บาท |
30 เม.ย.2555 | 30 เม.ย.2556 | 29 เม.ย.2559 |
1.แอมเวย์ ไทยแลนด์ พาร์ทเนอร์สชิป 19,994 หุ้น (อเมริกัน) | 1.แอมเวย์ เนเธอร์แลนด์ ลิมิเต็ด 19,794 หุ้น (อเมริกัน) | 1.แอมเวย์ เนเธอร์แลนด์ ลิมิเต็ด 19,800 หุ้น (อเมริกัน) |
2.อัลติคอร์ อิงค์ 1 หุ้น (อเมริกัน) |
2.แอมเวย์ พาร์ทเนอร์ส อิงค์ 100 หุ้น(อเมริกัน) |
2.แอมเวย์ พาร์ทเนอร์ส อิงค์ 100 หุ้น(อเมริกัน) |
3.เอเมอรัลด์ มารีไทม เซอร์วิส อิงค์ 1 หุ้น (อเมริกัน) | 3.แอมเวย์โกลบอล เซอร์วิสเซส อิงค์ 100 หุ้น (อเมริกัน) | 3.แอมเวย์โกลบอล เซอร์วิสเซส อิงค์ 100 หุ้น (อเมริกัน) |
4.แคลซูล อิงค์ 1 หุ้น(อเมริกัน) | 4.อัลติคอร์ อิงค์ 1 หุ้น (อเมริกัน) | |
5.แทรุส เอ็กซ์โป คอร์ป 1 หุ้น (อเมริกัน) | 5.เอเมอรัลด์ มารีไทม เซอร์วิส อิงค์ 1 หุ้น (อเมริกัน) | |
6.แอมเวย์ อินเตอร์เนชั่นแนล อิงค์ 1 หุ้น | 6.แคลซูล อิงค์ 1 หุ้น(อเมริกัน) | |
7.เมอร์แชนไดส์ โปรดัคชั่นส์ อิงค์ 1 หุ้น (อเมริกัน) | 7.แทรุส เอ็กซ์โป คอร์ป 1 หุ้น (อเมริกัน) | |
8.แอมเวย์ อินเตอร์เนชั่นแนล อิงค์ 1 หุ้น (อเมริกัน) | ||
9.เมอร์แชนไดส์ โปรดัคชั่นส์ อิงค์ 1 หุ้น (อเมริกัน) | ||
รวม 20,000 หุ้น มูลค่าหุ้นละ 100 บาท | รวม 20,000 หุ้น มูลค่าหุ้นละ 100 บาท | รวม 20,000 หุ้น มูลค่าหุ้นละ 100 บาท |
ที่มา:กรมพัฒนาธุรกิจการค้า, สำนักข่าวอิศรา รวบรวม
ขณะที่จากการตรวจสอบงบการเงิน ระหว่างปี 2541-2558 หรือ 18 ปี แจ้งว่ามีรายได้รวมกว่า 178,156.3 ล้านบาท จำแนกเป็น
รอบปี 2541 (31 ส.ค.) รายได้ 3,136,692,236 บาท กำไรสุทธิ 259,338,933 บาท
รอบปี 2542 (31 ส.ค.) รายได้ 3,077,288,609 บาท กำไรสุทธิ 270,760,882 บาท
รอบปี 2543 (31 ส.ค.) รายได้ 3,687,600,609 บาท กำไรสุทธิ 393,362,727 บาท
รอบปี 2544 (31 ส.ค.) รายได้ 4,065,440,136 บาท กำไรสุทธิ 376,663,059 บาท
รอบปี 2545 (31 ส.ค.) รายได้ 4,920,360,205 บาท กำไรสุทธิ 412,188,931 บาท
รอบปี 2546 (31 ส.ค.) รายได้ 7,034,407,634 บาท กำไรสุทธิ 573,913,218 บาท
รอบปี 2547 (31 ส.ค.) รายได้ 8,565,973,831 บาท กำไรสุทธิ 1,028,536,594 บาท
รอบปี 2547 (31 ธ.ค.) รายได้ 2,804,935,476 บาท กำไรสุทธิ 361,461,056 บาท
รอบปี 2548 รายได้ 8,082,682,294 บาท กำไรสุทธิ 443,459,736 บาท
รอบปี 2549 รายได้ 9,102,178,396 บาท กำไรสุทธิ 660,322,224 บาท
รอบปี 2550 รายได้ 9,533,950,045 บาท กำไรสุทธิ 567,693,609 บาท
รอบปี 2551 รายได้ 10,913,959,050 บาท กำไรสุทธิ 235,100,507 บาท
รอบปี 2552 รายได้ 12,609,325,866 บาท กำไรสุทธิ 479,108,076 บาท
รอบปี 2553 รายได้ 13,590,969,624 บาท กำไรสุทธิ 580,377,089 บาท
รอบปี 2554 รายได้ 14,644,079,720 บาท กำไรสุทธิ 434,986,912 บาท
รอบปี 2555 รายได้ 16,013,173,100 บาท กำไรสุทธิ 725,396,836 บาท
รอบปี 2556 รายได้ 15,750,126,004 บาท กำไรสุทธิ 676,262,776 บาท
รอบปี 2557 รายได้ 15,165,568,933 บาท กำไรสุทธิ 494,799,230 บาท
รอบปี 2558 รายได้ 15,457,609,178 บาท กำไรสุทธิ 566,587,900 บาท สินทรัพย์ 4,518,973,944 บาท หนี้สิน 3,478,163,856 บาท กำไรสะสม 1,038,810,088 บาท
รวมรายได้ทั้งสิ้น 178,156,320,946 บาท
กระนั้นน่าสังเกตว่าแจ้งว่ามีกำไรสะสมเพียง 1,038.8 ล้านบาท
เห็นได้ว่าตัวเลขรายได้ผลประกอบการ เติบโตต่อเนื่องเกือบทุกปี กระทั่งล่าสุดกว่า 1.5 หมื่นล้านบาท ในขณะเดียวก็มีปัญหาค้างชำระภาษีอากร 1,385.5 ล้านบาท อยู่ในชั้นพิจารณาของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ของกรมศุลกากร ปมพิพาทจะยุติอย่างไรหรือทยอยหมดอายุความ ตามที่ระบุในหมายเหตุประกอบงบการเงินปีล่าสุด ต้องติดตามกันต่อไป
อ่านประกอบ:
1,385 ล.! ยักษ์ขายตรง‘แอมเวย์’ไม่จ่ายกรมศุลฯ สำแดงต่ำกว่าเป็นจริง-ทยอยหมดอายุความ
เบื้องหลังยักษ์ขายตรง‘แอมเวย์’โดนกรมศุลฯสั่งล็อค 15 ครั้ง ปมสำแดงนำเข้าสินค้า
47 บ.ค้างภาษีนำเข้า!กรมศุลฯสั่งล็อค ห้ามจดชำระบัญชีฯ ‘ยักษ์ขายตรง-รถหรู’ โดนด้วย