ถอดบทเรียนการปลูกข้าวของชาวนาญี่ปุ่น
พื้นที่ถือครองและรายได้ของเกษตรกรญี่ปุ่น หลังการรวมกลุ่ม พบว่า ก่อนการรวมกลุ่ม เกษตรกรรายย่อยจากถือครองที่ดินเฉลี่ย 12 ไร่ แต่เมื่อมีการรวมกลุ่มกันแล้ว มีพื้นที่ถือครองทำการเกษตรเพิ่มขึ้น 16 เท่า ขณะที่รายได้เพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัดถึง 41 เท่า
ข้าวที่มีชื่อเสียง คุณภาพดี ราคาสูงที่สุดของประเทศญี่ปุ่น อยู่ในจังหวัดนีกะตะ
ข้าวที่แพงที่สุดในโลก “กินเนสส์ บุ๊ก ออฟ เรคคอร์ด” บันทึกไว้ ณ 29 กรกฎาคม 2559 ก็อยู่เมืองโวนุมะ จังหวัดนีกะตะ
ข้าว 1 กิโลกรัมราคาเกือบ 4 พันบาท หรือ 11,304 เยน!!
ขณะที่ชาวนาญี่ปุ่น มีรายได้จากการปลูกข้าว 25 ไร่ 8 ล้านเยน หรือกว่า 2 ล้านบาท รายได้ขนาดนี้เท่ากับรายได้ของพนักงานบริษัทชั้นนำในกรุงโตเกียวเลยทีเดียว
กว่าจะก้าวมาถึงวันนี้ ญี่ปุ่นปลูกข้าวได้ผลผลิตและคุณภาพสูงได้ราคาดีนั้น ย้อนกลับไปในอดีต ญี่ปุ่นประสบปัญหาผลผลิตล้นตลาด คุณภาพข้าวที่ได้ไม่สม่ำเสมอ ทำให้ขาดดุล อีกทั้งยังพบว่า เกษตรกรญี่ปุ่นมีอายุมาก ซึ่งไม่ได้แตกต่างจากประเทศไทยในปัจจุบัน
จากเหตุการณ์ดังกล่าว ทำให้รัฐบาลญี่ปุ่นในสมัยนั้นหันมาแก้ไขปัญหาเรื่องการส่งเสริมให้เกษตรกรผลิตข้าวในปริมาณที่เหมาะสม ส่งเสริมการรวมกลุ่มเกษตรกร และตัดทิศทางการเกษตรให้มุ่งเน้นการพัฒนาคุณภาพข้าวเป็นหลัก โดยให้เครื่องจักรกล และเทคนิกทางการเกษตรเข้ามามีบทบาทตั้งแต่เริ่มกระบวนการเพาะปลูกยันการเก็บเกี่ยว อีกทั้งพัฒนาระบบการจัดจำหน่ายให้มีประสิทธิภาพ
นโยบาย 4 เสาหลัก
เทคนิกการปลูกข้าวให้ได้คุณภาพสูง หนึ่งในผู้อยู่เบื้องหลัง นายซึโตมุ มิยาโกชิ ที่ปรึกษาเชี่ยวชาญพิเศษ (ข้าว) อดีตที่ปรึกษาด้านเทคนิคการปลูกประจำบริษัท คูโบต้า คอร์ปอเรชั่น (ประเทศญี่ปุ่น) เล่าไว้ในงานสัมมนา “โลกเปลี่ยนไว ชาวนาไทยต้องปรับตัว” เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2559 จัดโดยหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ กรมการข้าว และบริษัท คูโบต้า คอร์ปอเรชั่น (ประเทศญี่ปุ่น) ณ ห้องคอนเวนชั่นเซ็นเตอร์ โรงแรมรามาการ์เด้นส์ ว่า รัฐบาลญี่ปุ่นได้วางนโยบายด้านการเกษตร ออกมาเป็น 4 เสาหลัก ซึ่งมุ่งหวังให้ภาคเกษตรเป็นการเกษตรที่มีประสิทธิผล
นโยบาย 4 เสาหลัก ได้แก่
1.นโยบายขยายความต้องการทั้งภายในและต่างประเทศ จากเดิมไม่มีนโยบายส่งออกผลิตผลทางการเกษตร แต่ต่อจากนี้ไปเริ่มสนใจการส่งออกพืชผลทางการเกษตร
2.การเพิ่มมูลค่าอย่างทวีคูณ เรียกว่า ยุทธศาสตร์ 6 ทวีคูณ สำหรับผลิตผลทางการเกษตร ขั้นที่ 1 การเกษตร ขั้นที่ 2 แปรรูป ขั้นที่ 3 จำหน่าย ซึ่งเมื่อนำตัวเลข 1+2+3 จะเท่ากับ 6 หรือแม้จะคูณคำตอบก็คือ 6
3.การสร้างความแข็งแกร่งให้กับเกษตรกร
และ 4.การจัดสรรงบประมาณสำหรับท้องถิ่น
สำหรับนโยบายการแก้ไขปัญหาผลผลิตล้นตลาดของรัฐบาลญี่ปุ่น นายซึโตมุ ชี้ว่า ข้าวของญี่ปุ่นช่วงที่ผ่านมาประสบปัญหาผลผลิตล้นตลาดแทบทุกปี รัฐบาลออกนโยบายจำกัดการปลูกข้าวไม่ให้ผลิตผลออกมามากเกินไป แต่สุดท้ายก็พบว่า ปริมาณการผลิต กับความต้องการของตลาด ไม่สอดคล้องกัน ทำให้มีปริมาณสต๊อกข้าวคงค้างเพิ่มขึ้นทุกปี ซึ่งสาเหตุมาจากอายุเฉลี่ยเกษตรกรที่สูงขึ้น อัตราการเกิดลดน้อยลง รวมไปถึงการนิยมบริโภคข้าวลดลง จากเคยบริโภคข้าว 60 กิโลกรัมต่อคนต่อปี เหลือ 55 กิโลกรัมต่อคนต่อปี
“อีกทั้งรัฐบาลญี่ปุ่น เห็นว่า ในธุรกิจปศุสัตว์มีการนำเข้าข้าวโพด ข้าวสาลี ซึ่งเป็นอาหารสัตว์ปีละ 5 ล้านตัน ดังนั้นปีที่แล้ว รัฐบาลออกนโยบายเปลี่ยนจากการปลูกข้าวรับประทาน เป็นการส่งเสริมการปลูกข้าวสำหรับเป็นอาหารสัตว์แทน โดยรัฐสนับสนุนเงินประมาณ 6 หมื่นบาทต่อไร่ แต่หากเกษตรกรไม่ปลูกข้าวไปปลูกพืชอื่น เช่น ถั่วเหลือง ข้าวสาลี หรือผักผลไม้ก็จะได้เงินสนับสนุน 1.12-2.24 หมื่นบาทต่อไร่”
รัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมการรวบรวมพื้นที่ทำเกษตร
ส่วนพื้นที่ทำการเกษตร เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด รัฐบาลมีนโยบายรวบรวมพื้นที่เกษตรให้ได้ 80% ที่มาที่ไปเกษตรกรญี่ปุ่นรวมกลุ่มกันอย่างเข้มแข็งได้ เกิดจากนโยบายรัฐบาลที่ต้องการดูแลภาคเกษตรกรรมเพื่อรักษาความมั่นคงด้านอาหารเอาไว้
ปัจจุบันประชากรญี่ปุ่น 209 ล้านคน 63.5% มีอาชีพเกษตรกร และอายุมากกว่า 65 ปีขึ้นไป
“ชาวนาญี่ปุ่น นับวันยิ่งลดลง ขณะที่วัยหนุ่มสาวก็ไม่ได้เข้ามาเพิ่ม ขณะที่แรงงานสตรี กำลังสำคัญภาคเกษตรญี่ปุ่นก็ลดลง สังคมผู้สูงอายุ เกษตรกรสูงอายุ”
ประเทศญี่ปุ่นจะเกิดอะไรขึ้นหากสถานการณ์ยังคงเป็นแบบนี้ รัฐบาลญี่ปุ่น มองเห็นว่า รูปแบบการทำเกษตรก็ต้องแปรเปลี่ยนไป จนกระทั่งปัจจุบัน ผลจากนโยบายส่งเสริมการรวมพื้นที่ทำเกษตร ทำให้อัตราการเปลี่ยนแปลงของจำนวนพื้นที่ธุรกิจภาคการเกษตร “เกษตรกรรายเดี่ยว มีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง และการทำเกษตรที่มีพื้นที่ขนาดใหญ่มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น”
นอกจากนี้ รัฐบาลญี่ปุ่นสนับสนุนจัดตั้งหน่วยงานกลางประจำจังหวัด เพื่อจัดสรรพื้นที่ทำการเกษตรให้กับเกษตรกรที่ต้องการรวมกลุ่ม
แบบที่ 1 เงินสนับสนุนให้เกษตรกรรายย่อย หากรวบรวมพื้นที่ทำการเกษตรได้มากกว่า 80% ของจังหวัด จะได้รับเงินช่วยเหลือจากรัฐบาล 1.5 หมื่นบาทต่อไร่
แบบที่ 2 เงินสนับสนุนให้กลุ่มเกษตรกรที่มีพื้นที่ถือครองมาก เช่น เกษตรกรสูงอายุ หรือไม่ต้องการทำการเกษตรอีกต่อไป หากรวบรวมนำที่ดินเข้าร่วม และพื้นที่มากกว่า 12 ไร่ จะได้รับเงินสนับสนุนกว่า 2 แสนบาทต่อครัวเรือน
แบบที่ 3 เงินสนับสนุนให้เกษตรกรที่ปล่อยเช่าพื้นที่กับเกษตรกรรายอื่นในท้องถิ่นเดียวกัน ได้รับเงินสนับสนุน 5,400 บาทต่อไร่ ซึ่งจะมีรายได้จากค่าเช่าที่ดินทุกปี
ที่ปรึกษาเชี่ยวชาญพิเศษเรื่องข้าวฯ จากประเทศญี่ปุ่น ให้ข้อมูลยืนยันอีกว่า พื้นที่ที่ถือครองและรายได้ของเกษตรกรญี่ปุ่น หลังการรวมกลุ่มธุรกิจเกษตร พบว่า ก่อนการรวมกลุ่ม เกษตรกรรายย่อยจากถือครองที่ดินเฉลี่ย 12 ไร่ แต่เมื่อมีการรวมกลุ่มกันแล้ว มีพื้นที่ถือครองทำการเกษตรเพิ่มขึ้น 16 เท่า หรือ 193 ไร่
ขณะที่รายได้ก็เพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ก่อนการรวมกลุ่มธุรกิจเกษตร เกษตรกรรายย่อยรายได้อยู่ที่ไม่ถึง 1 ล้านบาท แต่เมื่อรวมกลุ่มรายได้เพิ่มขึ้นเป็น 4.1 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 41 เท่า
รูปแบบการรวมกลุ่มธุรกิจเกษตรในญี่ปุ่น มีทั้ง
1.นิติบุคคลในรูปแบบบริษัท แบ่งเป็น บริษัทจำกัด บริษัทมหาชนจำกัด ห้างหุ้นส่วนจำกัด นิติบุคคลในรูปวิสาหกิจ
2.นิติบุคคลในรูปแบบกลุ่มชุมชน มีทั้งประเภทการรวมกลุ่มเพื่อใช้เครื่องมือทางการเกษตรร่วมกัน และรวมกลุ่มแบบครบวงจร
ซึ่งพบว่า จำนวนนิติบุคคลในอุตสาหกรรมเกษตร 45% เป็นรูปแบบห้างหุ้นส่วนจำกัด
นายซึโตมุ บอกถึงพัฒนาการของรูปแบบการรวมกลุ่ม เริ่มมาจากใช้เครื่องจักรและโรงเรือนร่วมกัน รวมกลุ่มไปรับจ้าง หลังจากนั้นพัฒนาบริหารจัดการครบวงจร จนไปจดทะเบียนในรูปนิติบุคคล แต่หากมองในแง่ธุรกิจ เริ่มแรกก็สนใจการปลูกข้าวอย่างเดียว จากนั้นก็เพิ่มปลูกพืชอื่นเสริม เช่น ถั่วเหลือง บริหารที่ดินร่วมกันและจัดจำหน่ายผลผลิต กระทั่งบริหารรูปแบบบริษัทผลิต แปรรูปและจัดจำหน่าย
นี่คือ ภาพการรวมกลุ่มธุรกิจเกษตรว่า เริ่มจากอะไร แต่จะเริ่มจากอะไรก็แล้วแต่ สุดท้ายมีการพัฒนากลุ่มให้เป็นลักษณะนิติบุคคล
เขาบอกว่า ประโยชน์ของการจดทะเบียนเป็นนิติบุคคล ภายใต้นโยบายของรัฐบาลญี่ปุ่น เกษตรกรได้ประโยชน์หลายอย่าง ทั้งมีระบบการบริหารจัดการที่ดี เป็นมาตรฐานสามารถตรวจสอบได้ เป็นการนำระบบจ่ายเงินเดือนมาใช้จูงใจคนรุ่นใหม่สนใจทำการเกษตร สามารถเข้าร่วมระบบประกันสังคมได้ สร้างความน่าเชื่อถือในธุรกิจ มีการกำหนดเวลาทำงาน รูปแบบบริษัท ทำให้คนรุ่นใหม่เข้ามาในภาคการเกษตรมากขึ้น มีมาตรการประหยัดภาษี และสามารถขยายขนาดธุรกิจให้เติบโตได้ง่าย
ก้าวสู่ชาวนามืออาชีพแบบญี่ปุ่น
สถานการณ์การปลูกข้าวในญี่ปุ่น แม้จะมีพื้นที่กว้างใหญ่ขนาดไหน แต่ชาวนาญี่ปุ่นก็ทำนาได้เพียงแค่ 6 เดือน เพราะมีข้อจำกัดด้านสภาพภูมิอากาศ
นายซึโตมุ เปิดเผยถึงเทคนิกการปลูกข้าวให้ได้คุณภาพ เริ่มกันตั้งแต่
- การเตรียมดินให้เหมาะสมกับภูมิอากาศที่มีการเปลี่ยนแปลง ปรับปรุงดินให้ร่วนซุย โดยใช้เทคนิกการไถดินให้ลึก 15 เซ็นติเมตร ซึ่งจะทำทุกๆ 3 ปี เนื่องจากไถลึกต้นข้าวโตกว่า ทนทานกับสภาวะแล้งได้
- การปรับปรุง บำรุงดินในทุกๆ ปี เช่น ทิ้งฟางข้าวไว้ในแปลงนา เพราะฟางข้าวสำคัญมากกับแปลงนา หากไม่มีฟางข้าวทำให้ดินขาดความอุดมสมบูรณ์อย่างรวดเร็ว สารไนโตรเจนอย่างดีอยู่ในแกลบและฟางข้าว ซึ่งหากไม่รักษาฟางข้าวไนโตรเจนก็จะถูกเอาออกจากพื้นที่แปลงนาตลอดเวลา รวมถึงการใส่ปุ๋ยคอกเพิ่มบำรุงดิน ใส่ปุ๋ยให้กับดิน ด้วยการปรับปรุงวิธีการใส่ปุ๋ยรอบเดียว ใส่ปุ๋ยละลายช้า
- การจัดการน้ำที่เหมาะสม กับการเจริญเติบโตของเมล็ดข้าว ข้าวต้องการน้ำช่วงไหนบ้าง ซึ่งพบว่า หลังจากข้าวออกรวง
สัปดหาห์แรก จะเป็นช่วงเติบโตของความยาวของเมล็ดข้าว
สัปดาห์ที่สอง เป็นเรื่องความกว้างของเมล็ดข้าว
และสัปดาห์ที่สาม เป็นเพิ่มความหนาของเมล็ดข้าว
แสดงให้เห็นว่า ช่วงที่ข้าวต้องการน้ำ 25 วันเท่านั้นเอง เลยจากนี้ไม่ต้องมีน้ำก็ได้ ข้าวก็ไม่มีปัญหา ซึ่งแปลงนาที่ญี่ปุ่น ระบบจัดการน้ำเหมือนการปล่อยน้ำลงอ่าง อยากเปิดน้ำลงอ่างก็เปิดได้ ไม่เอาน้ำก็เทออก สามารถทำได้
- เทคนิกการทำร่องน้ำให้กับแปลงนา
- วิธีการควบคุมต้นข้าวไม่ให้ยาวเกินไป ด้วยการปล่อยให้นาแห้งบ้างเพื่อให้รากแข็งแรง เวลาออกรวงได้รวงข้าวที่แข็งแรง
- เทคนิกทำให้ต้นข้าวแข็งแรง โดยไม่ปล่อยให้ออกรวงเยอะ มีการควบคุมรวงข้าวไม่ควรเกิน 4.4 หมื่นเมล็ดต่อ 1 ไร่ ส่งผลให้ข้าวคุณภาพดี เมล็ดข้าวใส หากเมล็ดข้าวต่อรวงมากเกินไปเมล็ดข้าวจะเกิดท้องไข่ ได้ข้าวคุณภาพไม่ดี
นายซึโตมุ บอกอีกว่า การปลูกข้าวของญี่ปุ่นจะมีการเก็บข้อมูล วางแผนงานชัดเจน มีการกำหนดกระทั่งวันที่ กำหนดช่วงการปลูก ความสูงของต้นข้าว กอ สี เป้าหมายผลผลิต จำนวนรวง เมล็ด ทุกอย่างถูกกำหนดมาเป็นข้อมูลอย่างละเอียดทั้งหมด
“ขณะเดียวกันมีปฏิทินการผลิตข้าวให้เหมาะกับข้าวแต่ละสายพันธุ์ ปลูกข้าวให้เหมาะแต่ละท้องถิ่น ซึ่งมีอุณหภูมิไม่เท่ากัน ซึ่งปฏิทินการปลูกข้าว จะจ่ายให้เกษตรกรทุกแห่งในประเทศญี่ปุ่น ชาวนาสามารถใช้เป็นแนวทางปลูกข้าวของตนเองได้เลย”
ส่วนคำถามที่ว่า ชาวนาญี่ปุ่นใช้ยากำจัดวัชพืช หรือยาฆ่าแมลงหรือไม่นั้น นายซึโตมุ ยอมรับว่า มีการใช้จริง แต่วิธีการใช้ยาฆ่าแมลงหรือยากำจัดวัชพืชไม่เหมือนสมัยก่อน ยาฆ่าแปลงจะใส่ไปพร้อมการเพาะกล้า ส่วนยากำจัดวัชพืชจะใส่ตอนดำกล้า รูปแบบนี้ทำให้ลดจำนวนครั้งการใช้ยาได้ และรูปแบบนี้สามารถจำนวนครั้งการใส่ยาได้อย่างลงได้มาก ใส่รอบเดียวไม่ใส่หลายๆ รอบเหมือนสมัยก่อน
“การทำนาที่ญี่ปุ่นถือว่าเข้มงวดที่สุดในโลก มีการควบคุมด้วยระบบบาร์โค้ด ถูกตรวจสอบ และการทำงานแต่ละช่วงถูกบันทึกข้อมูลทุกกระบวนการของการผลิต สามารถตรวจสอบย้อนหลังได้”
ทั้งหมด เราคงได้คำตอบ เหตุใดเกษตรกรในประเทศญี่ปุ่นถึงรวมกลุ่มกันปลูกข้าว มีระบบ มีเทคนิก หรือเทคโนโลยีอะไรถึงทำให้เพิ่มผลผลิตได้อย่างแม่นยำ จนได้ข้าวมีคุณภาพ ขายได้ราคาดี หวังว่า ความสำเร็จของชาวนาญี่ปุ่น อย่างน้อยชาวนาไทยสามารถนำไปปรับใช้ในบริบทประเทศไทยได้ไม่มากก็น้อย...