บอร์ดหนุนจัดตั้ง ‘สสค.’ เป็นองค์กรมหาชน เชื่อมการทำงาน 3 กระทรวง
บอร์ดสสค. หนุนจัดตั้ง ‘สสค.’ เป็นองค์กรมหาชน รองรับกลไก ‘กศจ.’ ปฏิรูปการศึกษาระดับพื้นที่ หวังช่วยเด็กเยาวชน 16 ล้านคน
วันที่ 4 ส.ค.59 ณ ทำเนียบรัฐบาล มีการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน ครั้งที่ 2/2559 โดยพลอากาศเอกประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน พิจารณารับทราบความก้าวหน้าผลงาน 5 ปีของสสค.โดยมอบให้สสค.พัฒนาแผนงานสร้างเสริมคุณภาพการเรียนรู้เพื่อลดความเหลื่อมล้ำและเพื่อรองรับการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ 4 จังหวัด ได้แก่ ตราด ตาก สระแก้วและหนองคาย รองนายกรัฐมนตรียังได้มอบนโยบายให้ สสค.เป็นหน่วยสนับสนุนให้เกิดกลไกการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่ใน 15 จังหวัด โดยประสานกับกลไก “คณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด” (กศจ.) โดยเชื่อมโยงกับกระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และกระทรวงแรงงานในลักษณะประชารัฐ เพื่อปฏิรูปการศึกษาเชิงพื้นที่ใน 77 จังหวัด การจัดการศึกษาในพื้นที่พัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ โดยผลักดันประเทศเดินหน้าด้วยนโยบาย Digital Economy เพื่อเข้าสู่ Thailand 4.0 ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
นพ.สุภกร บัวสาย ผู้จัดการ สสค.กล่าวว่า ที่ประชุมมีมติเห็นชอบให้จัดตั้งเป็นสถาบันสร้างเสริมคุณภาพการเรียนรุ้ (สสค.) เป็นองค์กรมหาชน เพราะมีลักษณะภารกิจที่เหมาะสม อยู่ภายใต้การกำกับของนายกรัฐมนตรี เชื่อมการทำงานร่วมกับหลายกระทรวง ได้แก่ กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงแรงงาน และกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และไม่ซ้ำซ้อนกับภารกิจศธ. โดยสำนักนายกรัฐมนตรียินดีรับประสานดำเนินการ ซึ่งหากเกิดองค์กรนี้ขึ้นในช่วง 3 ปีแรกจะช่วยให้เด็กเยาวชนรุ่นใหม่อายุ 3-24 ปี ประมาณ 16 ล้านคน เข้าถึงโอกาสการเรียนรู้ที่มีคุณภาพและมีทักษะพร้อมร่วมพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ใน 4 ด้านดังนี้
1) เด็กปฐมวัย จำนวนมากกว่า 5 แสนคน ได้รับการเตรียมความพร้อมในการเข้าสู่ระบบการศึกษา (School Readiness)
2) ผู้เรียนมีทักษะชีวิตและพร้อมเริ่มต้นสัมมาชีพ (Career Readiness)
3) แรงงานรุ่นใหม่จำนวน 9 ล้านคน มีทักษะอาชีพเป็นที่ต้องการของนายจ้างและตลาดแรงงาน
และ 4) ทุกจังหวัดในประเทศไทยมีศักยภาพ สามารถบรรลุเป้าหมายด้านการศึกษาและการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 12 และกรอบยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี รวมถึงเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนด้านการศึกษาที่มีคุณภาพของสหประชาชาติได้
ด้าน ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ สสค.กล่าวว่า สสค.เป็นองค์กรที่สร้างความรู้เชิงระบบ พัฒนาภาคีความร่วมมือและนำสู่การสาธิตปฏิบัติการให้เห็นผลในพื้นที่ และใช้ข้อมูลองค์ความรู้เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลง แม้จะมีหลายหน่วยงานที่ทำหน้าที่คล้ายสสค. แต่ยังติดกรอบการทำงานแบบราชการ สสค.จึงมีความจำเป็นต้องมีอิสระและเป็นกลางในการใช้ข้อมูลและการวิจัยองค์ความรู้ช่วยในการตัดสินใจอย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะประเด็นการเกิดกลไก ‘กศจ.’ นั้น หากจังหวัดอื่นๆสามารถเรียนรู้จากประสบการณ์ที่สสค.สร้างและเปลี่ยนผ่านองค์ความรู้ได้ เครือข่ายจังหวัดปฏิรูปการเรียนรู้ 15 จังหวัดของสสค. จะเป็นคุณประโยชน์แก่การเคลื่อนงาน กศจ.เป็นอย่างยิ่ง”