เทียบภาพถ่ายทางอากาศ โฉนดที่ดิน บ.คอนโดฯดัง จ.นนทฯ 'รุก-ไม่รุก'แม่น้ำเจ้าพระยา
ดูชัด ๆ! ภาพถ่ายทางอากาศจากเว็บกรมที่ดิน โฉนดคอนโดฯดัง เดอะโพลิแทนฯ รุก-ไม่รุก แม่น้ำเจ้าพระยา? หลัง ปธ.-กก. บมจ.เอเวอร์แลนด์ เจ้าของโครงการ ชี้แจง ให้ความสำคัญ ไม่ให้มีปัญหากับพื้นที่สาธารณะ
กรณีโครงการก่อสร้างคอนโดมิเนียมหรูริมแม่น้ำเจ้าพระยา ‘เดอะ โพลิแทน บรีซ’ ของ ‘บริษัท เอเวอร์แลนด์ จำกัด (มหาชน)’ ย่านสะพานพระนั่งเกล้า จ.นนทบุรี ที่ถูกตั้งข้อสังเกตว่า พื้นที่โครงการส่วนหนึ่งยื่นลงไปในแม่น้ำเจ้าพระยา เมื่อมองจากสายตาและพื้นที่บริเวณใกล้เคียงจะเห็นความแตกต่างอย่างชัดเจน
ขณะที่ นางวรรณา ชัยสุพัฒนากุล กรรมการบริหารบริษัทฯ ชี้แจงว่า “แนวเขื่อนเดิมของทางเทศบาลนครนนทบุรี สร้างตั้งแต่ปี พ.ศ. 2527 ตามหมุดโฉนดที่ดิน คือ แนวเขื่อนด้านนอก โดยแนวกำแพงชั้นใน บริษัทฯ ได้ทำการถมดินยกพื้นให้สูงขึ้นอีกประมาณ 1 เมตร เนื่องจาก ที่อยู่ต่ำกว่า ถ.สนามบินน้ำ จึงเรียกว่า แนวกำแพงกั้นดิน และพื้นที่ดังกล่าวเป็นที่ดินงอกริมตลิ่ง เป็นช่วงส่วนโค้งของแม่น้ำเจ้าพระยา จึงมีส่วนที่ยื่นเข้าไปในแม่น้ำไม่เท่ากัน ซึ่ง เจ้าของเดิมได้มีการถมที่ดินเอาไว้ จนปัจจุบันที่ดินมีราคาสูงถึงตารางวาละประมาณ 6-7 หมื่นบาท” (อ่านประกอบ : บ.อสังหาฯดังยกทีมแจง 'มีโฉนด-งอกริมตลิ่ง' ปมพื้นที่คอนโดฯโผล่ในแม่น้ำเจ้าพระยา )
ล่าสุด ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ตรวจสอบข้อมูลเบื้องต้นผ่านเว็บไซต์ของกรมที่ดิน กระทรวงมหาดไทย (dolwms.dol.go.th/tvwebp) โดยการระบุข้อมูล จ.นนทบุรี และเลขโฉนดที่ดิน 3724 ซึ่งปรากฏเป็นภาพถ่ายจากดาวเทียมบริเวณโครงการก่อสร้างคอนโดฯ เดอะ โพลิแทน บรีซ’ ของ ‘บริษัท เอเวอร์แลนด์ จำกัด (มหาชน) โดยมีการกำหนดอาณาเขตพื้นที่ของแต่ละโฉนดด้วยเส้นสีแดงไว้อย่างชัดเจน ทั้งนี้ พบว่า มีพื้นที่บางส่วนเลยออกมาจากเส้นสีแดง โดยเฉพาะในส่วนของโครงการเฟสที่ 1 และ 2 บริเวณสวนหย่อมที่ปลูกต้นไม้เพื่อปรับทัศนียภาพ ซึ่งจะเห็นว่า ขอบเส้นสีแดงจะสิ้นสุดอยู่ที่บริเวณสำนักงานขายคอนโดฯ ดังกล่าว
ทั้งนี้ เมื่อนำเอกสารที่กลุ่มผู้บริหารเอกชนดังกล่าวได้ยื่นชี้แจงมาเปรียบเทียบกับข้อมูลเว็บไซต์กรมที่ดินจะพบว่า บริเวณพื้นที่ดังกล่าวมีลักษณะเป็นมุมฉากเหมือนกัน ขณะที่ ในการก่อสร้างจริง บริเวณดังกล่าวมีลักษณะเป็นสวนหย่อมปลูกต้นไม้เพื่อปรับทัศนียภาพ โดยบริเวณพื้นที่เฟส 3 และ 4 ยังไม่พบว่ามีการก่อสร้าง แต่อย่างใด (ดูภาพประกอบ)
ก่อนหน้านี้ นายณัฐพงษ์ รองประธานที่ปรึกษาเอกชนดังกล่าว เปิดเผยว่า “จริง ๆ ตรงส่วนของที่ดินตามแนวเขตโฉนดทั้งหมดไม่ได้ตรงไปถึงสุดของแม่น้ำเจ้าพระยา มีพื้นที่ส่วนหนึ่งที่ยังเป็นของเขตของหลวงอยู่ ซึงเดิมทีบริเวณนี้ทางเขตเทศบาลมีเขื่อนริมน้ำอยู่แล้ว โดยพื้นที่ตรงจุดนั้นถึงริมเขื่อนไม่ใช่พื้นที่เรา แต่ในความหมายของเรา ถ้ารุกล้ำอาจเป็นเพราะปลูกต้นไม้เป็นแบบที่เห็น เพื่อตกแต่งประดับออกมาให้ดูมีความสวยงามมากยิ่งขึ้น ถามว่า จำเป็นต้องทำไหม เราทิ้งโล่งเลยก็ได้ เพราะไม่ใช่ที่ดินของเรา ซึ่งส่วนนี้เราพัฒนาให้ดูดีมากยิ่งขึ้น ส่วนพื้นที่ที่ยื่นเข้าไปในแม่น้ำน่าจะลึกประมาณ 4 เมตร กว้างประมาณ 100 เมตรได้”
ขณะที่ นางวรรณา กรรมการบริหารเอกชนรายดังกล่าว ยืนยันว่า “เฟสแรกและเฟสที่ 2 เริ่มเปิดขายแล้ว โดยเฟสแรกวงเงินประมาณ 6 พันล้านบาท ขายไปแล้วประมาณ 5 พันล้านบาท ขณะที่ เฟสที่ 2 มียอดอยู่ที่ 1.5 พันล้านบาท ขายไปแล้วประมาณ 800 ล้านบาท ส่วนเฟสที่ 3-4 ยังไม่ได้มีการประมูล โดยทางบริษัทมีนโยบายให้ความสำคัญ เพื่อไม่ให้มีปัญหากับพื้นที่สาธารณะอยู่แล้ว”
อย่างไรก็ตาม นายสวิจักร์ โลจายะ ประธานกรรมการ และกรรมการบริหารบริษัทฯ ระบุต่อผู้สื่อข่าวว่า “พอเห็นข่าวก็ไม่ค่อยสบายใจ เพราะว่าเราก็ทำอย่างถูกต้อง เหมือนเราไปทำอะไรผิด เลยต้องเข้ามาชี้แจงให้รับทราบ”
ทั้งนี้ นายสวิจักร์ เป็นบุตรเขยของนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.)
ทั้งนี้ จากการตรวจสอบข้อมูลกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า พบว่า บริษัท เอวเวอร์แลนด์ จำกัด (มหาชน) จดทะเบียน 7 มี.ค. 2537 ทุนปัจจุบัน 4,855.9 ล้านบาท ที่ตั้งเลขที่223/96 อาคารคันทรี่คอมเพล็กซ์เอ ชั้น 21 ถ.สรรพาวุธ แขวงบางนา เขตบางนา กรุงเทพฯ ผู้ถือหุ้น ณ 10 พ.ค. 2559 นางดาราณี อัตตะนันทน์ และ นายจอมทรัพย์ โลจายะ ถือหุ้นใหญ่ แจ้งผลประกอบการรอบปี 2558 รายได้ 218 ล้านบาท ขาดทุนสุทธิ 56.7 ล้านบาท
ประเด็นปัญหาอยู่ตรงพื้นที่บริเวณเป็นสวนหย่อมริมแม่น้ำซึ่งมีบางส่วนของโครงการเหลื่อม ๆ ออกมา?
กรณีนี้ โฉนดที่ดินเป็นกรณีหนึ่ง สภาพความจริงเป็นอีกกรณีหนึ่ง โดยมี"ความถูกต้อง"เป็นหลักยึด
ต้องติดตามต่อไป
อ่านประกอบ :
บ.อสังหาฯดังยกทีมแจง 'มีโฉนด-งอกริมตลิ่ง' ปมพื้นที่คอนโดฯโผล่ในแม่น้ำเจ้าพระยา
คอนโดฯหรู บ.ดัง ก่อสร้างยื่นในแม่น้ำเจ้าพระยา -ผู้บริหารอ้างปรับทัศนียภาพ
ประมวลภาพชัดๆ คอนโดฯหรู บ.ดัง สร้างยื่นในแม่น้ำเจ้าพระยา เด่นสะดุดตา-ใครรับผิดชอบ?