เจ๊งจำนำข้าว 2.8 แสนล.ยังไม่ใช่ยอดสรุป นายกฯ ชี้อาจมากขึ้นเรื่อยๆ
นายกรัฐมนตรี เผยตัวเลขความเสียหายรจำนำข้าว ตัวเลข 2.8 แสนล้าน พูดสั้นไปนิดหนึ่ง ยันนั่นคือการสำรวจปี 2557 ที่มีการรับบัญชีสำรวจแล้วประเมินความเสียหายไว้เท่านั้น ระบุข้าวที่อยู่ในคลังมีความเสียหายมากยิ่งขึ้น เวลาผ่านไปต้องสรุปตัวเลขอีกที
วันที่ 3 ส.ค. เวลา 13.30 น. ณ ตึกสันติไมตรี (หลังใน) ทำเนียบรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว (นบข.) ครั้งที่ 4/2559 โดยมี พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกะทรวงมหาดไทย พลเอก ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และผู้ที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมการประชุม
ภายหลังการประชุม นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุม นบข. ได้รับทราบสถานการณ์ข้าวปี 2559-ปี 2560 และรับทราบสถานการณ์ข้าวที่อยู่ในคลังข้าวในเรื่องการรายงานการจำหน่าย-ระบายข้าว พร้อมกับได้หารือกันถึงเรื่องสิ่งที่เป็นปัญหาอยู่เดิมเพื่อหาทางออกในทางกระบวนการยุติธรรมทางกฎหมายให้ได้โดยเร็ว
"ขอยืนยันอีกครั้งว่ารัฐบาลนี้ได้พยายามอย่างเต็มที่ในการที่จะทำให้เรื่องการจำนำข้าว โครงการต่าง ๆ เกิดความเป็นธรรมให้มากที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องความเสียหายต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น เรื่องนี้เป็นเรื่องที่มีความสำคัญและกำลังเข้าสู่กระบวนการพิจารณาของกระบวนการยุติธรรมในวันศุกร์นี้ ผมจึงไม่อยากพูดมากเพราะมีผลในเรื่องของทางคดี"
สำหรับแต่ตัวเลขที่พูดมาแล้วนั้น นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า พูดสั้นไปนิดหนึ่ง นั่นคือการสำรวจเมื่อปี 2557 ที่มีการรับบัญชีสำรวจแล้วประเมินความเสียหายไว้เท่านั้นอยู่ ซึ่งข้าวที่อยู่ในคลังก็มีความเสียหายมากยิ่งขึ้น เพราะฉะนั้นก็คาดการณ์ว่าอาจจะมีความเสียหายมากขึ้นไปกว่านั้นอีก เรื่องนี้เป็นเรื่องของกระบวนการเข้าพิจารณาในชั้นศาล ขอให้ทุกคนสบายใจและวางใจว่าทุกอย่างต้องดำเนินการไปตามกระบวนการที่ถูกต้อง และต้องโปร่งใสเป็นธรรม
"ปัญหาอยู่ที่ว่าเมื่อเราให้โอกาสในทางสู้คดีแล้ว ก็ต้องหาหลักฐานมายืนยันกันให้ได้เท่านั้นเอง อยากให้สังคมได้มีความมั่นใจ เราล้มคดีอะไรกันไม่ได้อยู่แล้ว คดีก็คือคดี หน้าที่ของผมก็นำเข้าสู่กระบวนการพิจารณาทุกคดีไป” นายกรัฐมนตรี กล่าว
ผู้สื่อข่าวถามว่า ตัวเลข 2.8 แสนล้านบาท จะดำเนินการเรียกค่าเสียหายได้เมื่อไร นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ทั้งหมดไม่ใช่ 2 แสนกว่าล้านบาท ซึ่งในวันศุกร์ที่ 5 ส.ค. นี้ จะมีการเริ่มแถลงเปิดคดีเรื่องเหล่านี้ อันนั้นเป็นเรื่องความรับผิดชอบความเสียหายตาม พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 มีสองอย่างทั้งของรัฐบาลและอดีตรัฐมนตรี ตัวเลขเดิมคือ 2.8 แสนล้านบาท และ 2 หมื่นล้านบาท จะเข้าสู่กระบวนการ โดยรัฐบาลมีหน้าที่นำเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม อย่าไปมองตัวเลขมากนัก เพราะอาจจะมากขึ้นเรื่อย ๆ เนื่องจากข้าวขายไม่ได้ จะเสื่อมสภาพไปเรื่อย ๆ และจะขายมาก ๆ ก็ไม่ได้ เพราะต้องดูราคาตลาดด้วย
นายกรัฐมนตรี กล่าวด้วยว่า ส่วนตัวเลขข้าวที่ยังค้างอยู่ในโกดังนั้น เวลานี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้คำนวณไว้แล้ว เบื้องต้นคิดไว้ว่าความเสียหายอยู่ที่ 2.8 แสนล้านบาท หากเวลาผ่านไปเรื่อยๆ ก็ต้องสรุปตัวเลขอีกที ซึ่งต้องมีทั้งค่าใช้จ่ายและเรื่องราคาข้าว ตรงนั้นจะบวกขึ้นไปอีก
"ขณะที่การระบายข้าวก็มีแผนการระบายข้าวให้รัดกุม เพราะจากการประเมินในปีหน้า การบริโภคข้าวจะลดลง และในการผลิตจะต้องดูสต็อกที่ค้างอยู่ในหลายประเทศด้วย ซึ่งจะต้องนำมาพิจารณาในการระบายข้าวด้วย เราก็อยากระบายข้าวให้เร็วไม่อยากให้ข้าวเสื่อมสภาพ แต่ว่าข้าวขายไม่ได้ บางทีราคาก็ต่ำเกินไป และถ้าไปแทรกแซงการตลาดก็ทำให้ราคาตลาดข้าวในประเทศมีความเสียหาย ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ที่เกิดขึ้นในการเรื่องของการบริหารจัดการข้าว นอกเหนือจากปัญหาทางคดีเรื่องทุจริตที่เป็นเรื่องในชั้นศาล"
ผู้สื่อข่าวถามว่า ในเรื่องของคดีส่วนหนึ่งมีการกังวลว่าสุดท้ายตัวบุคคลที่ต้องรับผิดชอบ อาจจะหนีคดีไปต่างประเทศ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ต้องรอการตัดสิน เราส่งขึ้นไป แล้วศาลไปพิจารณา ซึ่งผู้ถูกกล่าวหาเขาก็มีสิทธิในการต่อสู้คดี เป็นกลไกของศาล รัฐบาลมีหน้าที่ในการทำสรุปส่งขึ้นไปดำเนินการ มีคดีอาญาและคดีอื่นที่อยู่ในนี้ทั้งหมด เรียกค่าเสียหายไปเขาก็มีสิทธิอุทธรณ์ตามกฎหมาย
ผู้สื่อข่าวถามด้วยว่า ยืนยันได้ว่าจะต้องมีผู้รับผิดชอบความเสียหายที่เกิดจากโครงการรับจำนำข้าวใช่หรือไม่ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ต้องมี อย่างไรก็ต้องมีผู้รับผิดชอบว่าใครทำแล้วเกิดความเสียหาย ที่ว่าเสียหายนี้เสียหายจริงหรือไม่ ทุจริตจริงหรือไม่ ต้องไปสู้กันในศาล
"ผมมีหน้าที่ในการทำสรุปขึ้นไป ศาลต้องไปสืบต่ออีกหลายอย่าง"
ที่มา:http://www.thaigov.go.th/index.php/th/government-th1/item/105692-id105692