เจ้าของเพจดังเตือน “แชะ แล้ว แชร์” ในโซเชียลมีเดีย ระวังละเมิดสิทธิผู้อื่น
สช.เปิดเวทีแลกเปลี่ยนโลกออนไลน์ ให้ปลอดการละเมิดสิทธิสุขภาพ ด้านตัวแทนสธ.เผยเรื่องความรู้ทางการแพทย์ แพร่ในสื่อสังคมออนไลน์ ปัจจุบันมีการจัดตั้งคณะกรรมการขึ้นมาดูแลแล้ว พร้อมยอมรับเนื้อหาเกี่ยวกับสุขภาพ เกิดทุกวัน ส่งต่อกันอย่างรวดเร็ว ให้ชี้แจงทันทีเป็นเรื่องยาก
วันที่ 3 สิงหาคม 2559 สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) จัดเวที “เปลี่ยนโลกออนไลน์ ให้ปลอดการละเมิดสิทธิสุขภาพ” และร่วมรับฟังความเห็นต่อ (ร่าง) แนวทางปฏิบัติในการใช้งานสื่อสังคมออนไลน์ของผู้ประกอบวิชาชีพด้านสุขภาพ ณ ห้องประชุมแมจิก ๒ โรงแรมมิราเคิลแกรนด์ กรุงเทพมหานคร เนื่องจากสถานการณ์ในปัจจุบันพบประชาชนไทยใช้สื่อออนไลน์. เพื่อเผยแพร่ข้อมูลด้านสุขภาพของบุคคลผ่าน Facebook,Twitter และ You Tube อย่างแพร่หลาย การเผยแพร่ข้อมูลดังกล่าวอาจจะก่อให้เกิดความเสียหายต่อบุคคลที่เป็นเจ้าของข้อมูล โดยที่ผ่านมาประเทศไทยมีมาตรา 7 ในพ.ร.บ. สุขภาพแห่งชาติ 2550 ให้มีการคุ้มครองข้อมูลด้านสุขภาพของบุคคล รวมทั้งกฎหมายอื่นๆที่ มีสาระในเรื่องการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล แต่ยังขาดความชัดเจนและการเชื่อมโยงกัน
นพ.พลเดช ปิ่นประทีป เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) กล่าวว่า ประเทศไทยมีผู้ใช้โทรศัพท์มือถือที่เข้าอินเตอร์เน็ตได้ 94 ล้านเครื่อง โดยโซเชียลมีเดียที่คนนิยมใช้มากที่สุด คือ เฟซบุ๊ก 30 ล้านคน ยูทูบ 26.5 ล้านคน ทวิตเตอร์ 4.5 ล้านคน และอินสตาแกรม 1.7 ล้านคน ที่นิยมมากขึ้นคือ “ไลน์” ทำให้ทุกคนที่มีสมาร์ทโฟนสามารถเป็นสื่อมวลชนเองได้ สิ่งที่น่าห่วงคือการโพสต์ โดยไม่กลั่นกรอง ทำให้มีปัญหาละเมิดสิทธิมนุษยชนมากขึ้น โดยเฉพาะด้านสุขภาพ เช่น การโพสต์ผลการตรวจสุขภาพ รวมถึงการบันทึกภาพและเสียงระหว่างการรักษา อาจละเมิดสิทธิผู้ป่วยโดยไม่รู้ตัว ซึ่งมีความผิดตามมาตรา 7 พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2550 มีโทษจำคุก 6 เดือน ปรับไม่เกิน1 หมื่นบาท
นายแพทย์พลวรรธน์ วิทูรกลชิต ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงสถานการณ์โซเชียลมีเดียในปัจจุบันว่า สิ่งที่ทางกระทรวงสาธารณสุขเจอและร้องเรียนมาบ่อยคือการปลอมเพจของกระทรวงสาธารณสุขแล้วนำไปโพสต์เรื่องที่ไม่เป็นความจริง ซึ่งส่งผลกระทบให้คนเกิดความเข้าใจผิด โดยได้มีการแจ้งความดำเนินคดีไปแล้ว 3 รายในช่วงปีที่ผ่านมา
ส่วนการละเมิดสิทธิที่เจอบ่อยๆ นพ.พลวรรธน์ กล่าวว่า จะเป็นญาติผู้ป่วยที่ชอบถ่ายภาพเพื่อลงโซเชียลมีเดีย ซึ่งตรงนี้เป็นทั้งการละเมิดสิทธิผู้ป่วยและการละเมิดสิทธิสถานที่ บางทีญาติผู้ป่วยไม่เข้าใจ ถ่ายภาพออกไปอาจเกิดการเข้าใจผิดได้ เช่น บางกรณีหมอต้องมัดคนไข้ คนที่ไม่ใช่หมอก็ไม่เข้าใจว่า ทำไมต้องมัด แต่หมอก็ทำตามวิธีทางการแพทย์ปกติ ปัจจุบันกระทรวงได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมา เพราะตระหนักถึงเรื่องของสื่อสังคมออนไลน์ทั้งเรื่องของเนื้อหาสิ่งที่บันทึกทางการแพทย์
"เรื่องของความรู้ทางการแพทย์ที่เผยแพร่ในสื่อสังคมออนไลน์ ทางกระทรวงสธ. ก็จัดทำคณะกรรมการดูแล แต่จะให้มาทำการยืนยันในทุกกรณีทันทีที่เผยแพร่คงเป็นไปได้ยาก เพราะเนื้อหาเกี่ยวกับสุขภาพบนโลกออนไลน์เกิดขึ้นทุกวันและเผยแพร่อย่างรวดเร็ว"
ด้านรศ.สุดา วิศรุตพิชญ์ อาจารย์พิเศษคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวถึงประเด็นของกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการถ่ายภาพที่เกี่ยวข้องทางการแพทย์ว่า อยู่ที่จะทำอย่างไรให้กฎหมายเกิดความสมดุลระหว่างสิทธิของตนเองและสิทธิของผู้อื่น ตัวอย่างเช่น คนไข้ถ่ายรูปกับหมอ แต่หมอไม่ต้องการให้เผยแพร่ ซึ่งปัญหาเหล่านี้เกิดมานานแล้ว แต่ด้วยปัจจุบันมีเทคโนโลยีมากขึ้นทำให้ส่งผลกระทบที่รุนแรงและรวดเร็วขึ้น
"ถามว่ามีกฎหมายเฉพาะไหม ก็ไม่มี แต่ทุกข้อเท็จจริงมีกฎหมายเอามาใช้ได้ อยู่ที่จะหยิบอันไหนมาใช้ ไม่อยากสร้างกฎหมายเฉพาะเพิ่ม เพราะปัจจุบันก็มีกฎหมายเฉพาะเป็นหมื่นๆฉบับที่ไม่ได้เอามาบังคับใช้"
ในส่วนของข้อมูลสุขภาพ ในมาตรา 7 ของพ.ร.บ.สุขภาพฯ กำหนดสิทธิของเจ้าของข้อมูลไว้ แต่มีสิทธิประโยชน์เพื่อสาธารณะที่ใหญ่กว่าอยู่ ดังนั้น ข้อมูลบางอย่างถ้าเป็นข้อมูลที่ละเมิดสิทธิของบุคคลนั้น แต่เพื่อประโยชน์สาธารณะ เช่น คนเป็นโรคระบาด แต่เผยแพร่เพื่อทำการป้องกัน ตรงนี้ต้องมาชั่งน้ำหนักกันอีกที
ด้าน นพ.วิทวัส ศิริประชัย หรือ จ่าพิชิต ขจัดพาลชน เจ้าของเพจ Drama-addict กล่าวถึงงการละเมิดสิทธิบุคคลอื่นในโซเชียลมีเดียที่มีจำนวนมาก แต่ในรอบปีที่ผ่านมาได้มีการรณรงค์เพื่อให้คนตระหนักถึงการที่ถ่ายรูปเพียงภาพเดียวแล้วนำไปเล่าเรื่องประกอบ
“ตัวอย่าง มีผู้ชายขึ้นรถไฟฟ้าบีทีเอสแล้วรองเท้าเป็นรู มีคนถ่ายรูปผู้ชายคนนี้แล้วเอาไปโพสต์ในเฟสบุ๊กว่า ผู้ชายคนนี้ใส่กล้องแอบถ่ายเอาไว้ในรูรองเท้า ซึ่งมีผลกระทบแรงมากทำให้คนไปลือกันต่างๆ ว่า คนที่ใส่รองเท้ารูเจอปัญหาในชีวิต เป็นโรคซึมเศร้า เข้ากับคนในสังคมไม่ได้ ซึ่งเราก็พยายามรณรงค์ว่า สิ่งเหล่านี้มีผลกระทบกับชีวิตคนอื่นอย่างรุนแรงมากควรที่จะหลีกเลี่ยงและยังเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย เพียงแต่ว่ายังไม่มีกฎหมายมาตราไหนที่จะมารองรับเหตุการณ์แบบนี้ได้อย่างชัดเจน"
จ่าพิชิค กล่าวอีกว่า ปัจจุบันนี้ทุกคนสามารถที่จะผลิตสื่อเองได้ ผลิตเนื้อหาเองได้ ดังนั้นหน้าที่ที่จะคัดกรองข้อมูลเป็นหน้าที่ของทุกฝ่ายและทุกคน ไม่ได้เฉพาะเจาะจงว่าเป็นสื่ออีกต่อไปแล้ว
ส่วนกรณีที่แพทย์เปิดเผยข้อมูลคนไข้โดยการโพสต์รูปภาพหรือข้อมูลลงในโซเชียลมีเดีย หรือกรณีกู้ภัยโพสต์รูปศพหรือคนบาดเจ็บลงในเฟสบุ๊ก เจ้าของเพจดัง กล่าวว่า การกระทำเหล่านี้เป็นการละเมิดสิทธิของความเป็นมนุษย์และอยากจะเน้นย้ำถึงขอบเขตในการใช้สื่อออนไลน์ด้วย
“การออกฎหมายบังคับใช้อย่างเดียวไม่พอควรที่จะสร้างจิตสำนึกควบคู่ไปด้วยกัน จึงจะสามารถนำมาสู่ความเปลี่ยนแปลงของสังคมได้”