วิเคราะห์ร่าง รธน.มีเนื้อหาปราบโกงจริงหรือ?
ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ แม้ว่าจะไม่ดีสมบูรณ์แบบ แต่ได้วางหลักการแนวทางในการแก้ไขปัญหาคอร์รัปชันที่ก้าวหน้าและเป็นระบบมากกว่ารัฐธรรมนูญทุกฉบับที่เคยมีมา...
หมายเหตุ : รวบรวมบทความโดย ดร. มานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการ องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย)
------
ร่างรัฐธรรมนูญฯ ฉบับลงประชามติ ได้บัญญัติสาระเพื่อการแก้ไขปัญหาคอร์รัปชันโดยเขียนเป็นหมวดหมู่อยู่ 3 เรื่อง ได้แก่ “สิทธิและการมีส่วนร่วมของประชาชน” “องค์กรอิสระ” “การกระทำที่เป็นการขัดกันแห่งผลประโยชน์ของนักการเมือง” และกำหนดไว้ในหมวดต่างๆ อีก รวมกันแล้วไม่น้อยกว่า 53 มาตรา จากทั้งสิ้น 279 มาตรา
จุดเด่นของรัฐธรรมนูญ 1. ประชาชนสามารถฟ้องร้องหน่วยงานของรัฐให้รับผิดจากการกระทำหรือละเว้นการกระทำตามหน้าที่ 2. กำหนดบทบาท หน้าที่และบทลงโทษต่อนักการเมืองและเจ้าหน้าที่ของรัฐ
3 แนวทางหลักในแก้ไขปัญหาคอร์รัปชัน ตามรัฐธรรมนูญ
1.สร้างความโปร่งใส โดยให้สิทธิในการรับรู้ข้อมูลของประชาชน โดยรัฐต้องเปิดเผยข้อมูล
2.ทำให้การเมืองใสสะอาดมากขึ้น ด้วยมาตรการคัดกรองนักการเมืองที่คดโกงออกไป
3.ลดเงื่อนไขที่ทำให้เกิดคอร์รัปชัน โดยปรับปรุงระบบราชการ เช่น ปรับปรุงกฎหมาย การเข้าถึงข้อมูลข่าวสารสาธารณะ การจัดทำงบประมาณการพัฒนาระบบสารสนเทศ และบูรณาการการทำงานขององค์กรต่อต้านคอร์รัปชันภาครัฐ
หลักการ มาตรการ แนวทางเพื่อแก้ปัญหาคอร์รัปชัน จำแนกเป็น 4 กลุ่ม ดังนี้
1. การโกงในภาคราชการ
จุดเด่น : 1. ปฏิรูปแก้ไขกฎหมายและการออกกฎหมายใหม่ 2. ควบคุมการจัดทำงบประมาณ ที่ต้องมีข้อมูลเพียงพอ ห้ามโยกงบประมาณเพื่อประโยชน์ส่วนตนและพวกพ้อง 3. กำหนดหน้าที่ที่รัฐและเจ้าหน้าที่ต้องทำ 4. วางระบบสารสนเทศให้ทั่วถึง ประชาชนเข้าไปดูได้ง่าย
1.1 งบประมาณและการจัดซื้อจัดจ้าง มาตราสำคัญ เช่น ม. 62 ควบคุมวินัยการเงินการคลัง ม. 63 รัฐต้องจัดให้มีมาตรการ
ต่อต้านคอร์รัปชันอย่างเพียงพอ มาตราสำคัญ เช่น ม.142 การจัดทำงบประมาณต้องศึกษาและมีข้อมูลรอบด้านและสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติและแผนพัฒนาต่างๆ ม.144 ห้ามโยกงบประมาณ เพื่อไปทำในสิ่งที่เกิดประโยชน์แก่ตนและพวกพ้อง 258(5) ปฏิรูปการจัดซื้อจัดจ้างให้เกิดประโยชน์มีประสิทธิภาพและตรวจสอบได้
1.2 การแต่งตั้งโยกย้าย มาตราสำคัญ เช่น ม. 68 รัฐพึงมีมาตรการคุ้มครองเจ้าหน้าที่ให้ทำงานโดยปราศจากการครอบงำแทรกแซง ม. 76 ให้มีกฎหมายเกี่ยวกับการบริหารงานบุคคลให้เป็นไปตามระบบคุณธรรม ม. 258 การปฏิรูปตำรวจ
1.3 การพัฒนาระบบราชการตามหลักธรรมาภิบาล มาตราสำคัญ เช่น ม. 77 การแก้ไขและการตรากฎหมายใหม่ ต้องมีการศึกษาผลกระทบที่จะเกิดขึ้น (RIA) และต้องยกเลิกหรือปรับปรุงเมื่อหมดความจำเป็นหรือไม่ทันยุคสมัย (Sunset Legislative) มีระบบใบอนุญาต ระบบกรรมการและการใช้ดุลยพินิจที่มีเงื่อนไข ขั้นตอนชัดเจนและมีเท่าที่จำเป็น ม. 258 การปฏิรูปประเทศโดยใช้เทคโนโลยที่ทันสมัย นอกจากจะเพิ่มประสิทธิภาพและเชื่อมโยงระบบข้อมูลเพื่อการทำงานอย่างบูรณาการแล้ว ยังเป็นเครื่องมือสำคัญเพื่ออำนวยความสะดวกและการเข้าถึงข้อมูลสาธารณะของประชาชน
2. การโกงในภาคการเมือง
จุดเด่น : 1. คัดกรองนักการเมืองที่คอร์รัปชันด้วยการตัดสิทธิ์และให้สิ้นสภาพการดำรงตำแหน่งทางการเมืองของคนที่โกง ละเมิดจริยธรรม มีส่วนได้เสียจากการจัดทำงบประมาณ กระทำการที่มีผลประโยชน์ทับซ้อน 2. ลดแรงจูงใจที่จะเข้าไปแสวงหาผลประโยชน์ส่วนตนจากงบประมาณ 3. การกำหนดมาตรคุณธรรมจริยธรรมที่สูงกว่าประชาชนทั่วไป การป้องกันการมีผลประโยชน์ทับซ้อน
มาตราสำคัญ เช่น ม. 98 กำหนดห้ามคนโกง คนบกพร่องคุณธรรม คนโกงเลือกตั้ง เข้ารับการเลือกตั้ง ม. 113 และ ม. 114 ส.ส. ส.ว. ต้องไม่ฝักใฝ่หรือยอมตนอยู่ใต้อาณัติพรรคการเมือง ม. 251 การวางระบบคุณธรรมในการบริหารงานบุคคลของ อปท.ม. 253 สร้างความโปร่งใส ด้วยการเปิดเผยข้อมูลและรายงานผลการปฏิบัติงานของ อปท. ต่อสาธารณะ
3. การป้องกันและปราบปรามด้วยกลไกของรัฐ
จุดเด่น : 1. การบูรณาการการทำงานขององค์กรต่อต้านคอร์รัปชันภาครัฐ 2. ป้องกันการแทรกแซงการทำงาน 3. เพิ่มอำนาจในการกำหนดมาตรฐานจริยธรรมผู้มีอำนาจทางการเมือง
มาตราสำคัญ เช่น ม. 68 การคุ้มครองให้เจ้าหน้าที่เป็นอิสระ ปราศจากการครอบงำแทรกแซง ม. 234 ป.ป.ช. มีอำนาจไต่สวนคดีร่ำรวยผิดปกติโดยไม่ต้องมีใครมาร้อง ม. 217 และ 276 ศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระมีหน้าที่ในกำหนดมาตรฐานจริยธรรมที่ครอบคลุม ส.ส. ส.ว. และ ครม. โดยต้องทำให้เสร็จภายใน 1 ปี มิฉะนั้นต้องพ้นจากตำแหน่ง ม. 221 การบูรณาการการทำงานขององค์กรอิสระ ม. 244 เอกสาร หลักฐานทางคดีของ สตง. ให้ถือเป็นส่วนหนึ่งของสำนวนคดีของ ป.ป.ช.
4. การป้องกันด้วยพลังประชาชน
จุดเด่น : 1. การเข้าถึงข้อมูลข่าวสารสาธารณะ 2. สิทธิของประชาชนและชุมชนที่จะเป็นโจทก์ฟ้องร้องรัฐ 3. สิทธิการรวมตัวของประชาชนโดยได้รับการปกป้องจากรัฐ 4. รัฐต้องสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชน
มาตราสำคัญ เช่น ม. 63 รัฐต้องส่งเสริม สนับสนุนและให้ความรู้แก่ประชาชนเกี่ยวกับภัยร้ายของคอร์รัปชัน ส่งเสริมให้ประชาชนรวมตัวกันในการต่อต้านหรือชี้เบาะแส “โดยได้รับความคุ้มครอง” กำหนดหน้าที่ของรัฐและเจ้าหน้าที่พร้อมกับอำนาจและสิทธิกับชุมชน ม. 41(3) และประชาชนที่จะตรวจสอบและฟ้องร้องรัฐเมื่อไม่ทุจริตหรือบกพร่องต่อหน้าที่ โดยเชื่อมโยงกับสิทธิในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารสาธารณะ ตาม ม. 41 51 59 และ 253 ขณะที่เจ้าหน้าที่ต้องเปิดเผยข้อมูลและพัฒนาระบบสารสนเทศที่เข้าถึงได้ง่าย ม. 258 การปฏิรูปที่ต้องให้ประชาชนมีส่วนร่วม
ข้อสังเกตุ
มาตรการที่ถูกลดความเข้มข้นไป
1.การให้จำเลยในคดีที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาทางการเมืองสามารถยื่นอุทธรณ์ได้ (ม.195)
2.กระบวนการถอดถอน คณะกรรมการ ป.ป.ช. เปิดให้เป็นดุลยพินิจของประธานรัฐสภา ว่าจะยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญหรือไม่ (ม. 236) ซึ่งเดิมไม่มีอำนาจเช่นนี้
3.ข้อห้ามห้ามอัยการและศาลเป็นกรรมการรัฐวิสาหกิจตามรัฐธรรมนูญปี 2550 ถูกตัดออกไป
ประเด็นที่เคยมีในร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับ ดร.บวรศักดิ์ และ สปช. หรือ สปท. เคยเสนอไว้ แต่ไม่ได้รับการบรรจุในร่างฯ ฉบับนี้
1.ให้ผู้สมัครรับเลือกตั้งต้องแสดงหลักฐานการเสียภาษีรายได้ย้อนหลัง 3 ปี
2.นักการเมืองต้องสั่งการข้าราชการเป็นลายลักษณ์อักษร มิใช่สั่งปากเปล่าแล้วปล่อยให้ข้าราชการรับผิดชอบสิ่งที่กระทำไป
3.การแยกบทบาทหน้าที่ระหว่างเจ้าหน้าที่ของรัฐกับนักการเมือง เพื่อป้องกันการแทรกแซง
4.การแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการต้องใช้หลักความรู้ความสามารถและความเหมาะสม เพื่อป้องกันระบบพวกพ้องและการซื้อขายตำแหน่ง
5.การให้อำนาจองค์กรอิสระเพิ่มขึ้นมาก แต่ขาดกลไกตรวจสอบถ่วงดุลย์ที่ดีพอ โดยเฉพาะกระบวนการสรรหาและคุณสมบัติของบุคคลที่จะมาดำรงตำแหน่งกรรมการ
6.พรรคการเมืองต้องรับผิดชอบต่อพฤติกรรมของ ส.ส. สมาชิกและผู้ปฏิบัติงาน
7.จัดให้มีกองทุนสนับสนุนภาคประชาชนในการต่อต้านคอร์รัปชัน
8.วางมาตรการแก้ไขคอร์รัปชันในภาคธุรกิจ ที่ส่งกระทบต่อระบบเศรษฐกิจและความมั่นคงของชาติ
จากข้อมูลเหล่านี้ทำให้กล่าวได้ว่า "ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ แม้ว่าจะไม่ดีสมบูรณ์แบบ แต่ได้วางหลักการแนวทางในการแก้ไขปัญหาคอร์รัปชันที่ก้าวหน้าและเป็นระบบมากกว่ารัฐธรรมนูญทุกฉบับที่เคยมีมา"