โหวตเชิงยุทธศาสตร์
การตัดสินของประชาชนไทยในวันดังกล่าวจะเป็นการตัดสินใจครั้งสำคัญที่สุดอีกครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ที่จะกำหนดทิศทางและอนาคตของประเทศว่าเราจะเดินทางไปในทางใด ไม่ใช่ตัดสินใจเพื่อคนรุ่นนี้ แต่เป็นการตัดสินใจเพื่อลูกหลานของเราในอนาคตที่จะมีที่ยืนอย่างมั่นคง....
หมายเหตุ : บทความชิ้นนี้เขียนโดยอดีตเจ้าหน้าที่ระดับสูงจากหน่วยงานความมั่นคง และปัจจุบันยังรับผิดชอบงานสำคัญของประเทศ จึงไม่อาจเปิดเผยชื่อและนามสกุลได้
------
อีกสามวันก็จะถึงวันออกเสียงลงประชามติรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญปี 2559 และคำถามพ่วง ซึ่งเป็นถือว่าเป็นเหตุการณ์สำคัญอย่างหนึ่งที่จะต้องบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์การเมือง
การตัดสินของประชาชนไทยในวันดังกล่าวจะเป็นการตัดสินใจครั้งสำคัญที่สุดอีกครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ที่จะกำหนดทิศทางและอนาคตของประเทศว่าเราจะเดินทางไปในทางใด ไม่ใช่ตัดสินใจเพื่อคนรุ่นนี้ แต่เป็นการตัดสินใจเพื่อลูกหลานของเราในอนาคตที่จะมีที่ยืนอย่างมั่นคง และเชิดหน้าได้ทัดเทียมกับประเทศอื่นๆ ในสังคมโลก
ในสัปดาห์นี้ หรือ 7 วันสุดท้าย หากเป็นมวยก็ถือว่าเป็นยก 5 ที่เสียงปี่แตรจะเร้าใจกระตุ้นให้นักมวยทั้งสองฝ่ายออกอาวุธเข่า ศอก หมัด กลยุทธ์ทุกอย่างที่จะเอาชนะคู่ต่อสู้ได้ มีแรงเท่าไรก็โหมออกมาให้หมดในยกนี้ เช่นเดียวกัน ฝ่ายที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญต่างก็งัดกลยุทธ์ทุกอย่างออกมาเพื่อเอาชนะใจประชาชนผู้มีสิทธิออกเสียงลงคะแนน ฉะนั้นในสัปดาห์นี้เราคงได้เห็นวาทกรรมแปลกๆ กลยุทธ์ใหม่ๆ โดยเฉพาะจากฝ่ายที่ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญซึ่งมีทักษะในเรื่องนี้มากกว่า
จากโพลล์สำนักต่างๆ จะพบว่ามีคนที่ยังไม่ตัดสินใจจะออกเสียงรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญนี้ค่อนข้างสูงถึงร้อยละ 50-60 หากฝายใดดึงเสียงส่วนใหญ่จะคนกลุ่มนี้ไปได้ก็ชนะ
ช่วงสุดท้าย คนส่วนใหญ่อาจไม่ได้ตัดสินจากเนื้อหาสาระของร่างรัฐธรรมนูญ แต่ตัดสินใจตาม “กระแส” หรือตาม “อารมณ์ของสังคม” ในขณะนั้นเป็นสำคัญ ฝ่ายใดสามารถ “บริหารอารมณ์” ของคนได้ ก็มีโอกาสชนะ การที่ คุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ประกาศจุดยืนของตนไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ถูกแปรมากระตุ้นอารมณ์ทางสังคมในระดับหนึ่ง แฟนคลับคุณอภิสิทธิ์และพรรคประชาธิปัตย์ส่วนหนึ่งที่ยังลังเลอยู่ ได้ตัดสินใจว่าจะไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ แต่อีกด้านหนึ่งก็ถูกนำมากระตุ้นอารมณ์คนว่า นักการเมืองดียังไปรวมกับนักการเมืองไม่ดีเมื่อมีผลประโยชน์ทางการเมืองร่วมกันในจุดหนึ่ง ดังนั้นการรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้จึงเป็นการต่อสู้ระหว่างนักการเมืองที่เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตนกับประชาชนเจ้าของอำนาจอธิปไตยใช่หรือไม่
ร่างรัฐธรรมนูญที่เป็นกฎหมายสูงสุดในการปกครองประเทศ กำลังถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองของกลุ่มผู้สูญเสียอำนาจที่จะล้มรัฐบาล คสช. ส่วนหัวหน้ารัฐบาล คสช.นั้นแม้ยืนยันตลอดมาว่าไม่ได้ต้องการต่อสู้กับใคร แต่มุ่งมั่นบริหารประเทศให้ดีที่สุดเพื่อประโยชน์สูงสุดของประเทศและประชาชน แต่ผลที่เกิดขึ้นไม่ว่าทางบวกหรือลบย่อมกระทบต่อรัฐบาล คสช.อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะผลการลงมติรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้มีส่วนผูกพันกับรัฐบาล คสช.อย่างแยกไม่ออก เนื่องจาก คสช.เป็นผู้แต่งตั้งคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.)
ทั้งรัฐบาล คสช. และกลุ่มนักการเมืองสูญเสียอำนาจต่างก็มี “เดิมพัน” สูงมากที่ไม่อาจประนีประนอมกันได้ หากมองในเชิงยุทธศาตร์ ถ้าร่างรัฐธรรมนูญผ่านการลงประชามติด้วยคะแนนเสียงเกินครึ่งมากพอสมควร
(1) สถานะของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ในประเทศจะแข็งแกร่งมากขึ้น เพราะเท่ากับได้รับ “อำนาจ” จากประชาชน การจะบริหารประเทศหลังจากนี้จนถึงการเลือกตั้งก็จะง่ายเข้า
(2) สถานะของรัฐบาลในเวทีระหว่างประเทศจะดีขึ้น เมื่อประชาชนผ่านร่างรัฐธรรมนูญเพื่อจะไปสู่การเลือกตั้งตามโรดแมพที่กำหนดไว้ในปี 2560 ต่อไป ทุกอย่างเป็นไปตามขั้นตอนที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ชี้แจงกับประเทศต่างๆ ไว้
(3) ความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างประเทศต่อรัฐบาลจะมีมากขึ้น ซึ่งเป็นปัจจัยหนึ่งที่จะทำให้ตัดสินใจมาลงทุนในไทยมากขึ้น
ร่างรัฐธรรมนูญเป็นเพียงเครื่องมือหนึ่งที่ถูกกลุ่มสูญเสียอำนาจทั้งฆราวาสและพระนำมาใช้เพื่อโค่นล้มรัฐบาล คสช.ที่อยู่ในอำนาจ
ถ้าร่างรัฐธรรมนูญผ่านการลงประชามติด้วยเสียงเกินครึ่งเล็กน้อย หรือชนะแพ้กันไม่มาก ฝ่ายตรงข้ามจะใช้ยุทธวิธีโหมโฆษณาว่าเพราะฝ่ายรัฐโกงจึงทำให้ผ่านได้ไปได้ แต่ถ้าร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านประชามติครั้งนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จะถูกฝ่ายตรงข้ามเรียกร้องกดดันในทุกรูปแบบให้ “ลาออก” โดยอ้างว่าประชาชนไม่ต้องการแล้ว และเรียกร้องให้รัฐบาลต้องจัดการเลือกตั้งภายในปี 2560 ตามที่สัญญาไว้เพราะเป็นหนทางเดียวที่พวกนี้จะเข้าสู่อำนาจได้
มหาอำนาจต่างประเทศก็จะประสานกดดันอีกทางหนึ่ง การบริหารงานของรัฐบาลในช่วงต่อไปจะยากขึ้น สถานะของรัฐบาลในเวทีระหว่างประเทศ และในสายตาของนักลงทุนต่างประเทศจะเริ่มมีปัญหา
ดังนั้น ประชาชนผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งจึงต้อง “ตื่นรู้” และ “รู้ทัน” เกมของแต่ละฝ่าย ตลอดจนรู้ว่าผลที่เกิดขึ้นกับประเทศในแต่ละกรณีจะเป็นอย่างไรบ้าง ที่มีการใช้กลยุทธ์โฆษณาชวนเชื่อว่า ให้ประชาชนที่รัก พล.อ.ประยุทธ์ ออกเสียง “ไม่เห็นด้วย” หรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อให้ พล.อ.ประยุทธ์อยู่ทำงานให้ประเทศต่อไปเพราะที่ผ่านมาทำดีแล้วนั้น เอาเข้าจริง ถ้าร่างรัฐธรรมนูญไม่ผานการลงประชามติ พล.อ.ประยุทธ์ จะไม่ได้อยู่ต่อ เพราะคงถูกบีบจนหน้าเขียวหน้าเหลืองและทำอะไรไม่ได้เต็มที่
และที่นักการเมืองโฆษณาชวนเชื่อว่า ถ้าร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่าน ก็ให้ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นคนร่างรัฐธรรมนูญเองนั้น นักการเมืองจะอ้างว่า คสช.ตั้งคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ 2 คณะแล้ว และไม่ผ่านความเห็นชอบ จึงไม่สมควรร่างต่อ แต่ควรให้นักการเมืองมีส่วนร่วมในการร่างด้วย เพื่อรักษาผลประโยชน์ของพวกตนไว้ และป้องกันผลกระทบต่อกลุ่มตน
กลุ่มต่อต้านการรับร่างรัฐธรรมนูญมีกลยุทธ์ที่แยบยลจนประชาชนหลงเชื่อ ดังนั้นหากประชาชนตามไม่ทัน ก็จะตกเป็นเหยื่อของนักการเมือง และบ้านเมืองก็จะกลับไปเป็นแบบเดิมเช่นก่อนวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ต่อไป
ประชาชนต้องออกเสียงลงประชามติโดยไม่ใช่ “อารมณ์” แต่ใช้ “เหตุผล” และต้องเป็นการออกเสียงเชิงยุทธศาสตร์เพื่ออนาคตของประเทศ อนาคตของลูกหลานไทยที่จะยืนหยัดอยู่อย่างท้าทายในเวทีโลกเท่าเทียมกับชาติอื่น