ฝ่ายความมั่นคงประเมินประชามติสุดก้ำกึ่ง "เหนือ-อีสาน-ชายแดนใต้"เฝ้าระวังพิเศษ
เหลืออีกไม่ถึง 5 วันก็จะถึงวันออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญฉบับนายมีชัย ฤชุพันธุ์
รายงานการประเมินของหน่วยงานภาครัฐและฝ่ายความมั่นคง จากช่วงก่อนหน้านี้ที่คาดกันว่าน่าจะ “ผ่านสบาย” ด้วยคะแนนราวๆ 60:40 ในประเด็นแรก คือเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญ อันจะส่งผลฉุดให้ “คำถามพ่วง” ผ่านตามไปด้วย ในอัตราส่วนที่น้อยกว่าเล็กน้อย
ถึงวันนี้ต้องบอกว่าเกมทำท่าจะเปลี่ยน!
เพราะจากการประเมินล่าสุด สรุปแบบหยาบๆ ได้ว่า คะแนนรับกับไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ก้ำกึ่งกันมาก ถ้าผ่านก็ผ่านแบบเฉียดฉิวทีเดียว
ผลประเมินแยกตามพื้นที่ เริ่มจาก...
ภาคเหนือตอนบน คะแนนไม่รับร่างรัฐธรรมนูญมากกว่ารับ อยู่ในสัดส่วน 60:40 ซึ่งไม่ใช่ตัวเลขที่เหนือความคาดหมาย เพราะเป็นฐานเสียงสำคัญของกลุ่มการเมืองตรงข้ามรัฐบาล
ประเด็นที่อาจเป็นจุดพลิกผันให้คะแนนเปลี่ยนแปลงเป็น “ไม่รับร่างฯ” สูงกว่านี้ หรือพลิกกลับมาเป็น “รับร่าง” มากขึ้น อยู่ที่การดำเนินคดีกับตระกูลบูรณุปกรณ์ ซึ่งยังไม่ชัดว่าเป็นกระแสตีกลับมาที่ คสช.ว่าใช้ “ยาแรง” เกินไป หรือเป็นการทำให้ชาวบ้านทั่วไปที่ยังไม่ได้ตัดสินใจ มองเห็นว่ามีความพยายามบิดเบือนร่างรัฐธรรมนูญจริงจากกลุ่มการเมือง
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ประเมินว่ารับร่างรัฐธรรมนูญราวๆ 39-40% ไม่รับร่างฯ ประมาณ 29-30% ที่เหลืออีกราวๆ 37% ยังไม่ตัดสินใจ และพลิกผันได้ด้วยปัจจัยต่างๆ จนถึงนาทีสุดท้าย
ภาคกลาง เฉพาะส่วนที่ไม่ใช่จังหวัดปริมณฑลรอบกรุงเทพฯ คะแนนรับร่างรัฐธรรมนูญน่าจะสูงกว่าไม่รับร่างฯค่อนข้างห่าง
จังหวัดปริมณฑลของกรุงเทพฯ เช่น นนทบุรี นครปฐม ปทุมธานี สมุทรปราการ และสมุทรสาคร ภาพรวมยังก้ำกึ่ง ไม่ค่อยตื่นตัวมากนัก แต่มวลชนของกลุ่มตรงข้ามรัฐบาลค่อนข้างหนาแน่น หากประชาชนออกมาใช้สิทธิ์น้อย อาจทำให้เสียง “ไม่รับร่างฯ” สูงกว่า
ภาคตะวันออก ประเมินคะแนนรับร่างฯจะสูงกว่าไม่รับร่างฯ ยกเว้นบางพื้นที่ที่มีความเคลื่อนไหวทางการเมืองคึกคัก เช่น จังหวัดฉะเชิงเทรา
ภาคใต้ คะแนนรวมน่าจะรับร่างรัฐธรรมนูญสูงกว่าไม่รับร่างฯ โดยกลุ่มที่ไม่รับร่างฯ เป็นกลุ่มการเมืองและผู้สนับสนุนที่ประกาศท่าทีแล้วว่าจะไม่รับร่างฯ เช่น กลุ่มนายชวน หลีกภัย นอกจากนั้นยังมีกลุ่มผู้นำศาสนา และกลุ่มผู้นำท้องถิ่น
กระนั้นก็ตาม มวลชนของ กปปส.ซึ่งมีหนาแน่นในภาคใต้จะรับร่างรัฐธรรมนูญตามท่าทีของนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ประธานมูลนิธิมวลมหาประชาชนเพื่อการปฏิรูปประเทศไทย แต่คะแนนเสียงรับร่างฯจะลดน้อยลงกว่าเมื่อครั้งประชามติปี 2550
สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ กระแสไม่รับร่างรัฐธรรมนูญเพิ่มมากขึ้นในกลุ่มพี่น้องมุสลิม เพราะมีการจุดประเด็นความไม่เท่าเทียมกันทางศาสนา จากบทบัญญัติในร่างรัฐธรรมนูญมาตรา 67
สรุปภาพรวมทั้งประเทศ หน่วยงานภาครัฐและฝ่ายความมั่นคงยังเชื่อว่า ประเด็นร่างรัฐธรรมนูญน่าจะผ่านประชามติได้แบบเฉียดฉิว ส่วนคำถามพ่วง มีแนวโน้มที่จะถูกคว่ำ
เปิด 5 ปัจจัยพลิกผัน
มีการวิเคราะห์เกี่ยวกับปัจจัยพลิกผันที่สำคัญในช่วง 3 วันสุดท้ายก่อนถึงวันออกเสียงประชามติ พบว่ามี 4-5 ปัจจัย คือ
1.มวลชนกลุ่มต้านรัฐบาลที่อาจหันมาเทคะแนนให้ร่างรัฐธรรมนูญผ่านประชามติ แต่คำถามพ่วงตก เพื่อจะเดินหน้าสู่การเลือกตั้งโดยเร็วที่สุด เพราะหากคำถามพ่วงผ่าน จะต้องเสียเวลาในการปรับแก้ร่างรัฐธรรมนูญอีกรอบหนึ่ง
2.การที่นายกรัฐมนตรีแสดงท่าทีไม่ลาออกแน่นอน และยังไม่มีความชัดเจนเรื่องโฉมหน้าของร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ อาจทำให้มวลชนบางส่วนของกลุ่มการเมืองลงคะแนนรับร่างรัฐธรรมนูญไปก่อน
3.ท่าทีของเครือข่ายผู้ใช้แรงงาน 3 กลุ่มหลัก ซึ่งแกนนำบางกลุ่มแสดงท่าทีแล้ว แต่อาจเปลี่ยนแปลงได้จากการล็อบบี้เจรจา
4.การดำเนินคดีกับกลุ่มเคลื่อนไหวต่างๆ ทั้งกลุ่มนักศึกษา กลุ่มที่กระทำผิดกฎหมายประชามติ หรือทำลายบัญชีรายชื่อผู้ออกเสียงประชามติ หาก คสช.ให้น้ำหนักไม่ดี อาจเกิดกระแสตีกลับได้
5.การใช้เงินซื้อเสียงและขนคนไปลงคะแนน เริ่มมีรายงานในหลายพื้นที่ ราคา 200-500 บาท
3 พื้นที่เฝ้าระวังพิเศษ
สำหรับพื้นที่ที่มีสัญญาณความวุ่นวายซึ่งฝ่ายความมั่นคงประเมินแล้ว และเตรียมเฝ้าระวังเป็นพิเศษ คือ
ภาคเหนือ ที่ จ.เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง ซึ่งมีการส่งจดหมายบิดเบือนเนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญ อาจมีการสร้างกระแสปลุกมวลชนขับไล่รัฐบาล หากร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านประชามติ
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อาจมีความเคลื่อนไหวในลักษณะคล้ายๆ กันที่ จ.ขอนแก่น จ.เลย
สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ น่าจะมีการสร้างสถานการณ์ก่อกวนควบคู่กับเหตุการณ์ความรุนแรง เพราะนอกจากมีกลุ่มการเมืองที่ปลุกกระแสบทบัญญัติเกี่ยวกับศาสนาในร่างรัฐธรรมนูญแล้ว กลุ่มที่มีอุดมการณ์แบ่งแยกดินแดนยังต้องการฉกฉวยโอกาสนี้แสดงจุดยืนต่อต้านรัฐไทยด้วย
"ฉากทัศน์"หลังประชามติ
หน่วยงานภาครัฐและฝ่ายความมั่นคงยังได้วิเคราะห์ “ฉากทัศน์” หรือ scenario ทางการเมืองหลังผลประชามติร่างรัฐธรรมนูญออกมาแล้ว โดยแบ่งเป็น 3 ฉากทัศน์ใหญ่ๆ คือ
1.ถ้าร่างรัฐธรรมนูญผ่านประชามติด้วยคะแนนเสียงเกินครึ่งมากพอสมควร สถานะของรัฐบาล พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ในประเทศจะแข็งแกร่งมากขึ้น เพราะเท่ากับเป็นการเพิ่มความชอบธรรมจาก “ผลประชามติ” ที่ได้จากประชาชน การบริหารประเทศนับจากนี้จะเป็นไปตามโรดแมพ คือเดินหน้าสู่เลือกตั้งอย่างสงบ
ขณะที่สถานะของรัฐบาลในเวทีระหว่างประเทศก็จะดีขึ้น เพราะการบริหารงานของ คสช.จะเดินตามโรดแมพที่ประกาศไว้ คือจัดการเลือกตั้งในปี 2560 เช่นเดียวกับความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างประเทศก็น่าจะดีขึ้น เพราะมีทิศทางทางการเมืองที่ชัดเจน
2.ถ้าร่างรัฐธรรมนูญผ่านประชามติด้วยเสียงเกินครึ่งเพียงเล็กน้อย ฝ่ายตรงข้ามรัฐบาลจะปลุกกระแสว่ารัฐบาลโกงประชามติ อาจมีการจัดชุมนุมประท้วงในพื้นที่ต่างๆ แม้จะเป็นการชุมนุมย่อยๆ แต่ก็อาจมีสถานการณ์บานปลายขึ้นได้เหมือนกัน
3.หากร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านประชามติ ไม่ว่าจะไม่ผ่านแบบเฉียดฉิว หรือขาดลอย ฝ่ายตรงข้ามรัฐบาลจะเรียกร้องกดดันทุกรูปแบบให้ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี โดยอ้างเหตุผลว่าประชาชนไม่ต้องการ และต้องรับผิดชอบกับผลประชามติที่ไม่ผ่าน พร้อมกับเรียกร้องให้รัฐบาลต้องจัดการเลือกตั้งโดยเร็วที่สุด
แรงกดดันจากต่างประเทศ โดยเฉพาะชาติมหาอำนาจ และองค์กรภาคประชาสังคมที่เชื่อมโยงกับต่างประเทศก็จะมากขึ้น การบริหารงานของรัฐบาลในช่วงหลังการลงประชามติจะยากอย่างยิ่ง สถานะของรัฐบาลในเวทีระหว่างประเทศจะลดต่ำลง เศรษฐกิจมีแนวโน้มดิ่งลง
หากกระแสกดดันให้ลาออกไม่ประสบความสำเร็จ กลุ่มการเมืองต่างๆ จะเจรจาต่อรองขอเข้าไปมีส่วนร่วมในการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่
นี่คือบทประเมินของหน่วยงานรัฐและฝ่ายความมั่นคงในห้วงโค้งสุดท้ายก่อนถึงวันออกเสียงประชามติ ส่วนผลสุดท้ายจะเป็นจริงตามนี้หรือไม่ อีก 4 วันได้รู้กัน!